สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก เคยได้ยินคำว่า “นารีรัตนา” กันบ้างไหม บางคนบอกว่าเคยได้ยิน บางคนบอกว่าไม่เคยได้ยิน ถ้าตามหลักของภาษาไทยแล้ว คำว่า นารีรัตนา มาจากคำว่า นารี บวกกับคำว่า รัตนา คำว่า นารี ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า ผู้หญิง หรือ นาง ส่วนคำว่า รัตนา อันนี้แม้จะไม่บอกหลายท่านที่เป็นแฟนประจำของไทยรัฐออนไลน์ซึ่งเข้าใจซึมซับความรู้ภาษาไทยมาเป็นอย่างดีก็จะตอบได้ทันทีว่าแปลว่า แก้ว ซึ่งเมื่อมารวมกันระหว่าง นารี กับ รัตนา จึงแปลได้ว่า ผู้หญิงที่งามประดุจแก้ว หรือจะแปลให้สละสลวยก็จะแปลได้ว่า “นางแก้วของแผ่นดิน” เพราะฉะนั้นไทยรัฐออนไลน์ครั้งนี้จะมาพูดถึงนางแก้วของแผ่นดินกันค่ะ
เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่าวันนี้คุณครูลิลลี่มีเวลาว่าง เลยได้เข้าไปอ่านเรื่องราวข่าวสารจนเจอข่าวเกี่ยวกับบทเพลง “นารีรัตนา” อันเป็นบทเพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เขียนถึงพระนามของพระองค์แล้ว ก็ขออนุญาตให้ความรู้กันไว้เสียหน่อย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คำนี้อ่านว่า สม-เด็ด-พระ-เทบ-พระ-รัด-ราด-ชะ-สุ-ดา อ่านแบบนี้ ไม่ได้อ่านว่า สม-เด็ด-พระ-เทบ-พระ-รัด-ตะ-นะ-ราด-ชะ-สุ-ดา นะคะ ต้องจำกันเอาไว้ด้วย)
บทเพลงที่ว่าเป็นบทเพลงในการฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบ ในวันที่ 2 เมษายน 2558 นี้ บทเพลงที่ว่านี้จัดทำขึ้นโดยกลุ่มศิลปินและจิตอาสากลุ่มบัวลอยในโครงการปทุมมามหาสิกขาลัย วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ขอให้ความดีความชอบกับ ผู้ขับร้อง คุณปาน ธนพร แวกประยูร คำร้อง โดยคุณสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา และ ทำนองโดย คุณเดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์ อ่านเจอข่าวเพลงนารีรัตนา ทำเอาคุณครูลิลลี่รอช้าไม่ได้รีบเข้าไปหาฟังทันที เมื่อได้ฟังจบก็พบว่าเพลงนี้ไพเราะมากจริง ๆ ค่ะ ภาษาไทยอย่างง่าย ๆ เข้าใจง่าย ๆ ไม่มีศัพท์ยากอยู่ในเพลงเลย เรียกว่าถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้อย่างชัดเจน เสียงร้องของคุณปานหวานซึ้งเรียกว่าประทับใจที่สุดเลยค่ะ ลองไปดูเนื้อเพลงกันค่ะ
“พ่อเคยบอกไว้ จะทำเรื่องใดให้เสร็จดังฝัน
เส้นทางเหล่านั้น ไม่เคยลาดโรยด้วยกลีบดอกไม้
แต่แก้วดวงหนึ่งช่างงาม ยังมุ่งเดินตามรอยของพ่อไป
ด้วยพลังที่ล้นดวงใจอันเปี่ยมศรัทธา
มือจับปากกา สมุดทุกหน้า พากเพียรสร้างสรรค์
อุดมการณ์นั้นยังคงยึดมั่นไม่หวั่นปัญหา
ป่าเขาลำเนาห่างไกล ความรักรินไปด้วยใจเมตตา
เพื่อแผ่นดินที่กำเนิดมาร่มเย็นสืบไป
นารีรัตนา แก้วใจประชาคุณค่าส่องใส
แก้วงามสะท้อนแสงทองส่องใจ สว่างไสวด้วยหัวใจเพื่อแผ่นดินนี้
นารีรัตนา ผู้ยอมเหนื่อยล้าด้วยแรงที่มี
แก้วที่ควรค่าการสดุดี คือหนึ่งนารีผู้เป็นที่รัก
ปวงไทยน้อมใจถวายศรัทธา ราชสุดาผู้เป็นที่รัก”
เห็นไหมคะแค่อ่านเนื้อเพลงก็สัมผัสได้ถึงความงดงามของภาษา แล้วที่สำคัญตรงตามที่บอกคือคำศัพท์ไม่ยากเข้าใจง่าย จะมีก็แค่คำว่า ลาด ที่อาจจะมีคนใช้ผิดอยู่บ้าง เรียกว่าสับสนระหว่าง ลาด กับ ราด ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วทิ้งท้ายกันไว้เสียหน่อย ราด เป็นคำกริยา หมายถึง เทของเหลว ๆ เช่นนํ้าให้กระจายแผ่ไปหรือให้เรี่ยรายไปทั่ว เช่น ราดนํ้า ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ข้าวราดแกง และมีนัยทางอ้อม หมายถึง อาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น เยี่ยวราด ขี้ราด ส่วน ลาด เป็นคำกริยา หมายถึง ปูแผ่ออกไป เช่น ลาดพรม ปูลาดอาสนะ นัยทางอ้อม หมายถึง สิ่งที่มีอาการคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ถนนลาดยาง และที่เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง เทตํ่าหรือเอียงขึ้นน้อย ๆ เช่น ที่ลาด สรุปให้จำง่าย ๆ แบบคุณครูลิลลี่ที่เคยบอกไป ว่า “ราด ร เรือ นั้นแนวดิ่ง ลาด ล ลิง นั้นแนวนอน” นั่นแหละค่ะ จำง่ายเลยทีเดียว
ได้ความรู้ภาษาไทยกันแล้วก็อย่าลืมไปหาเพลง นารีรัตนา มาฟังกันเสียนะคะ ฟังให้เข้าหู ฟังให้ขึ้นใจ มีเวลาอีกเดือนกว่า ๆ เกือบ 2 เดือน เราจะได้มาร้องเพลงนี้เพื่อ “นารีรัตนา” นางแก้วของแผ่นดินของเรากันค่ะ สวัสดีค่ะ
...