ตั้งใจจะขึ้นไปรับอากาศหนาวที่เมืองน่าน เมื่อ คุณหมอบุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เอ่ยปากชวน ร่วมทริป “อย.ชวนสื่อ แอ่วน่านม่วนไจ๋” เมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ปรากฏว่า ไปๆมาๆ กรุงเทพฯหนาวกว่าน่าน....ใครจะเชื่อ

ทริปนี้ อย.เขาตั้งใจพานักข่าวไปดูความสำเร็จของงานวิสาหกิจชุมชน ที่ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีๆ ได้มีโอกาสขึ้นชั้นห้างดังระดับเซ็นทรัล เรียกว่าเป็นความสำเร็จของคนเล็กๆในชุมชนห่างไกล

“น้ำเกี๋ยน” ตำบลเล็กๆ ในจังหวัดน่าน ที่หลายคนรู้จักกันดีว่า เป็นชุมชนเข้มแข็ง ทั้งในเรื่องของการจัดการตนเอง การป้องกันยาเสพติด รวมไปถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้การพัฒนาชุมชนที่แข็งแรง ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีหัวใจสำคัญของการพัฒนาคือ การใช้ทุนทางสังคมเป็นตัวเชื่อม ร้อยคน ร้อยแผน ร้อยกิจกรรม ของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สโลแกนน่ารักๆว่า “กินอิ่ม นอนอุ่น ฝันดี”

นอกจากการเป็นชุมชนเข้มแข็งแล้ว ที่บ้านน้ำเกี๋ยนยังมีความสำเร็จที่หลายหน่วยงานต้องนั่งรถตะลอนขึ้นดอยสูงเพื่อไปดูรูปแบบของที่นี่ นั่นก็คือ “วิสาหกิจชุมชนชีววิถี” ที่สร้างรายได้ปีละกว่า 10 ล้านบาทให้กับชุมชน ตามไปดูกันดีกว่าว่าที่นี่เขาทำอะไรกันบ้าง

...

ศิรินันท์ สารมณฐี ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน บอกว่า วิสาหกิจชุมชนของที่นี่เริ่มจากชาวบ้านเพียงไม่กี่คนที่อยากลดรายจ่าย ลดการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน ด้วยการนำสมุนไพรในท้องถิ่น เช่น ใบหมี่ ดอกอัญชัน มะเฟือง มะกรูด มะขาม ขมิ้นชัน มาผลิตเป็นของใช้ในครัวเรือน อาทิ แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน แรกๆก็ทำแบบลองผิดลองถูก ใช้ภูมิ ปัญญาดั้งเดิมของผู้เฒ่า

ผู้แก่ บวกความรู้สมัยใหม่ ปรากฏว่าพอทำออกมาแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งในท้องถิ่นเองก็มีวัตถุดิบพืชสมุนไพรต่างๆ อยู่จำนวนมาก ทางกลุ่มจึงคิดถึงการต่อยอดขายผลิตภัณฑ์สู่ตลาดเพื่อจะสร้างรายได้แก่ชาวชุมชน

“ช่วงแรกๆก็มีปัญหาอยู่บ้าง ทั้งในเรื่องการผลิตที่ยังขาดความรู้ทางวิชาการ ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีมาตรฐานที่ถูกต้อง ขาดตลาดรองรับ กลุ่มจึงเสนอโครงการจะนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อออกสู่ตลาดไปตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอรับการสนับสนุน ปรากฏว่าก็มีหน่วยงานพร้อมที่จะสนับสนุนเป็นอย่างดี อย่างเช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ได้เข้ามาช่วยจัดสรรงบประมาณให้จำนวนหนึ่งในการจัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ที่จำเป็น และส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมให้ความรู้ต่างๆ ทำให้สินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น จนผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)” ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยนบอก

ซึ่ง อย.ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้เข้ามาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของที่นี่ จนได้รับรางวัล อย.ควอลิตี้อวอร์ด ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องบินข้ามเขามาดูงานกันถึงที่นี่

วิสาหกิจชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน มีผลิตภัณฑ์หลายชนิด ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ชีวาร์”

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์แบรนด์นี้คือ ใช้ส่วนสมุนไพรในปริมาณมาก และใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด คัดสรรวัตถุดิบที่ใหม่ สด เก็บวันต่อวัน เช่น ใบหมี่ ขมิ้น มะกรูด เน้นความสะอาดทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต โดยมี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำเกี๋ยน ให้การสนับสนุนการควบคุมคุณภาพด้วยการทดสอบค่า PH ทุกครั้งที่ผลิต มีการส่งตรวจคุณภาพการผลิตทางห้องปฏิบัติการ วัตถุดิบที่ใช้มีการคัดสรร และกำหนดเกณฑ์ของสมุนไพรทุกชนิด มีการบันทึกคุณภาพทุกรอบ มีการกำหนดคุณภาพเคมีภัณฑ์ตามเกณฑ์มาตรฐาน แบบที่เรียกว่า “เป๊ะเว่อร์” เลยทีเดียว

ด้วยการควบคุมคุณภาพแบบที่ว่านี้เอง ที่ทำให้ “ชีวาร์” แบรนด์ชุมชนชื่อดัง ได้รับการตอบรับ จากผู้บริโภคอย่างดียิ่ง จนถึงทุกวันนี้ผลิตแทบไม่ทันกับความต้องการของตลาด มียอดขายกว่า 2 แสนบาทต่อเดือน ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้มาก

...

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของวิสาหกิจชุมชนตำบลน้ำเกี๋ยน ที่ผลิตมาจำหน่ายนั้น มีตั้งแต่ แชมพู ครีมนวดผม สมุนไพรใบหมี่-อัญชัน สมุนไพรมะเฟือง สมุนไพรว่านหางจระเข้ สบู่เหลวมะขาม สบู่เหลวขมิ้น สบู่เหลวมะเฟือง แต่ที่เป็นไฮไลต์ขายดีที่สุด คือ สบู่เหลวน้ำนมข้าว ครีมบำรุงผิวน้ำนมข้าว โลชั่นน้ำมันงา เกลือขัดผิวขมิ้นชันผสมน้ำผึ้ง ที่ขายดิบขายดี ถึงขนาดที่ร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง และโมเดิร์นเทรดชั้นนำของประเทศ ติดต่อให้ไปวางจำหน่ายเลยทีเดียว

เราออกจากชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน โดยมีของติดไม้ติดมือกันคนละถุงใหญ่ ทั้งของแจกและของซื้อ งานนี้กลับไปไม่สวย ไม่หล่อ ต้องดั้นด้นขึ้นดอยกลับมาซื้อกันใหม่ละ

ออกจากบ้านน้ำเกี๋ยน คุณหมอบุญชัย ผู้นำทีม ชวนไปชมวิวไหว้พระกันที่จุดชมวิวพระธาตุเขาน้อย เมืองน่าน

สำหรับ พระธาตุเขาน้อย อยู่บนยอดเขาน้อยบ้านคู่ ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อยด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ ศิลปะพม่าผสมล้านนา สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง ปี พ.ศ.2030 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ระหว่างปี พ.ศ.2449-2454 โดยช่างชาวพม่า ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

...

จุดชมวิวที่นี่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่านได้ทั้งเมือง และที่บริเวณลานชมทิวทัศน์ ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมืองน่าน เรียกว่าไปถึงเมืองน่านแล้วควรมีโอกาสแวะไปนมัสการสักครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปหยกขาว และพระหลวงพ่อทันใจ อธิษฐานอะไรได้ทันอกทันใจ ที่ควรเข้าไปกราบสักการะ หลังไหว้พระเสร็จหยอดเงินทำบุญในบาตรเณรเฉย คล้ายจ่าเฉย จะอนุโมทนาบุญเสียงดัง ฟังแล้วปีติดี ไอเดียเก๋ๆแบบนี้ต้องยกให้

พระอาทิตย์ใกล้ตกดิน คืนนี้เขามีงานเลี้ยง “แอ่วน่านม่วนไจ๋” เห็นทีต้องรีบอำลาไปก่อน สัปดาห์หน้าไปเที่ยวเมืองน่านกันต่อ รับรองได้ทั้งสาระ ความรู้ และบุญกุศลเพียบ...!!!!