นายกฯ หวังพูดคุยสันติสุขสำเร็จ ชี้ รัฐบาลเดิมรวบรัดขั้นตอนเจรจา-เซ็นร่วมเร็วไป เผยถกคณะอำนวยการพูดคุยสันติสุข เคาะวาง 3 ขั้นตอน “เจรจา-ลงสัตยาบัน-เดินโรดแม็ปรัฐบาล” ไม่อยากเปิดให้ต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง
วันที่ 28 ม.ค. ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งใช้เวลาการประชุมนานประมาณ 2 ชั่วโมง
ต่อมาเวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วันนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรก ในการจัดตั้งกระบวนการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการ ซึ่งเราได้มีการปรับปรุงแนวทางการแก้ไขปัญหา ภายหลังวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเป็นไปตามขั้นตอน หรือหลักการสากล ซึ่งเราจำเป็นต้องสร้างความรับรู้กับต่างประเทศ ให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหา และปัญหานี้เป็นปัญหาภายในของเราเอง เป็นความเห็นต่างของประชาชนในประเทศของเรากันเอง โดยเฉพาะเป็นประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม
ดังนั้น อาจจะมีความละเอียดอ่อนมากพอสมควร ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่หลังจากวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เราได้มีการจัดระเบียบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้ โดยแก้ที่ พ.ร.บ. 2 ฉบับ จาก พ.ร.บ.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ พ.ร.บ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นการปรับกระบวนการแก้ไขปัญหาภาคใต้ใหม่ มีการขับเคลื่อน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อน และในส่วนของรัฐบาลจะดำเนินการระดับนโยบายให้ชัดเจนขึ้น โดยนำยุทธศาสตร์เดิมข้อหนึ่งมาแสวงหาทางออกอย่างสันติวิธี จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยหารือเพื่อสร้างความรับรู้ต่างประเทศ ว่าเราแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ได้มีการใช้กำลังทหารในการปราบปราม แต่เป็นการใช้กฎหมายกับผู้ใช้ความรุนแรง และผู้ที่ทำร้ายประชาชนที่บริสุทธิ์ ไม่เช่นนั้นเราจะไม่ได้รับความเข้าใจจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) หรือองค์กรต่างๆ และที่ผ่านมา หลังจากมีการปรับรูปแบบในการอำนวยการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ทั้ง ศอ.บต.และกอ.รมน. มาร่วมกันทำงานภายใต้รัฐบาล และเอาแผนงานโครงการต่างๆ การบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนา มาร่วมกันบริหาร และลงไปทางเดียวกัน ทำให้การแก้ปัญหาไปสู่รูปแบบที่ชัดเจนขึ้น ที่ผ่านมา อาจจะแยกกันทำ ซึ่งรัฐบาลที่แล้วเน้นหนักเรื่องการพัฒนา ส่วนเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมอบให้ทางทหาร ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น วันนี้ทั้งสองส่วนจะต้องมาทำงานด้วยกัน
...
นายกฯ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมในครั้งนี้ได้มีการหารือ 3 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 1.เป็นเรื่องเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการพูดคุย เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ทั้งในส่วนของ สมช. แนวทางของ คสช. และรัฐบาลในปัจจุบัน ต้องแก้ปัญหาให้ยุติโดยเร็ว เพราะเราต้องเตรียมการไปสู่ประชาคมอาเซียนและเป็นความเดือดร้อน สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนคนไทยโดยรวม มีผลเสียต่อการบริหารประเทศชาติเป็นอย่างมาก และถือเป็นวาระแห่งชาติ
ฉะนั้น การพูดคุยของ สมช.ในวันนี้ ได้กำหนดการพูดคุย ไว้เป็น 3 ระดับ 1.ระดับนโยบาย นายกฯเป็นหัวหน้า เลขาฯ สมช. เป็นเลขาฯ ของคณะใหญ่ระดับนโยบาย 2.คณะขับเคลื่อน พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าทีมพูดคุย ซึ่งส่วนนี้จะประกอบไปด้วย เรื่องของกฎหมาย การพัฒนาและ กอ.รมน. ซึ่งจะมีรายชื่อชัดเจนออกมาอีกที และ 3.เป็นส่วนของพื้นที่ ให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นคนขับเคลื่อน โดยทั้งหมดจะต้องเดินตามกรอบนโยบายที่สั่งการลงไป
“การพูดคุยจะต้องสร้างความไว้วางใจ โดยให้ทางมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ในการหากลุ่มต่างๆ ที่เห็นต่าง อย่าไปเรียกชื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ คนที่มาทำอะไรนี้เป็นคนไทยทั้งนั้น ฉะนั้น ขอให้ใช้คำว่า ผู้เห็นต่างหลายกลุ่มแล้วกัน อย่าไปให้เครดิตใครทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องของภายในประเทศ อย่าไปเอาคนอื่นมาเกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้เป็นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ต้องหาคนที่ต้องการจะยุติความรุนแรงให้ได้อย่างแท้จริง หมายความว่า กลุ่มไหนก็ตามต้องมา จะแยกพวกกันไม่ได้ จะแยกเป็นฝ่ายทหาร ฝ่ายการเมืองไม่ได้ ต้องไปรวมกันให้ได้ อันนี้เป็นหน้าที่ของทางมาเลเซีย ซึ่งเขาก็รับปากว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ เมื่อหามาได้แล้วก็ต้องพูดคุยกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ จะลดความรุนแรงตรงนั้นตรงนี้ได้ก่อนไหม เอาเล็กๆ ไปก่อน หยุดการใช้ระเบิดได้ไหม เพื่อให้ชัดเจนว่าใช่หรือไม่ ถ้าจะพูดเหมารวมไปทั้งหมดอย่างที่ผ่านมาคงไม่ได้ เขาก็ใช้ความรุนแรงมากดดันเราอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้น ตรงนี้ที่อยู่ในขั้นตอนที่หนึ่งต้องรีบทำ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อชัดเจนว่า มาครบทุกพวกทุกกลุ่มแล้ว และทุกคนมีความเห็นชอบร่วมกันว่าจะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น และนำปัญหาต่างๆ มาแก้ไขในระยะต่อไปก็เข้าไปสู่ขั้นที่ 2 ของการพูดคุย คือการลงสัตยาบัน เป็นการลงสัตยาบันธรรมดา ที่เป็นลักษณะของข้อตกลงว่าจะยุติความรุนแรง แสวงหาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธี กำหนดโรดแม็ปการดำเนินการในแต่ละเรื่อง ซึ่งครั้งที่แล้วสองส่วนไปทำทีเดียว มีการเซ็นลงนามมันไม่ใช่ มันทำไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายไม่ได้เห็นร่วมกัน
ทั้งนี้ เมื่อเริ่มลงสัตยาบันได้ ก็จะเข้าสู่ขั้นที่ 3 คือ การเดินตามโรดแม็ป ซึ่งกำหนดขั้นต้นไว้คือ 1.ยุติความรุนแรงและจะดูแลคนเหล่านี้อย่างไร 2.เรื่องกฎหมายกระบวนการยุติธรรม ที่มีการเรียกร้องต่างๆ ซึ่งเราก็รับฟังมาก่อน และจำนำมาหารืออีกที 3.เรื่องการพัฒนาลดความเหลื่อมล้ำ และ 4.เรื่องของอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม ที่ต้องมาพูดคุยกัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งอาจจะมีหลายปัญหา รวมถึงเรื่องกฎหมายอิสลาม ตนได้รวบมาทั้งหมดเพื่อตั้งเป็นหัวข้อ เพื่อเดินตามโรดแม็ปเป็นเรื่องๆ
นายกฯ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดจะต้องมาตกลงโดยรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนจะเป็นผู้เก็บรายละเอียดเหล่านั้นมา เพื่อกำหนดโรดแม็ปแต่ละเรื่องว่าจะใช้เวลาเท่าไร เริ่มพื้นที่ไหน เหมือนอย่างที่ต่างประเทศทำกัน โดยแต่ละขั้นตอนจะพยายามเร่งทำให้เร็วที่สุด เพราะเวลาไม่รอท่า ความสูญเสียมีมากขึ้น หรือลดลง ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ เราอย่าเอากระบวนการสันติสุขมาบีบรัดตัวเอง มันไม่ใช่ แต่ต้องเอากระบวนการสันติสุขมาสร้างการรับรู้ และลดแรงกดดันกับเจ้าหน้าที่รัฐลงให้ได้ หากไม่มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ก็จะถอนกำลังทหารได้ เหลือเฉพาะทหาร อาสาสมัคร และตำรวจในพื้นที่ ไม่ต้องเอาตำรวจ ทหารลงไปเพิ่มอีก วันนี้กลับต้องไปดูทุกพื้นที่ เพราะเขาใช้ความรุนแรงมาเป็นตัวกำหนด หากไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น จะเอาทหารลงไปให้เปลืองเบี้ยเลี้ยง เปลืองกำลังพลทำไม เพราะทหารก็มีงานอยู่แล้ว ฉะนั้น ขั้นตอนที่ 1 ถึง 3 ต้องใช้เวลา แต่ขั้นตอนที่ 1 จะเร็วก็ต้องหาให้ได้ว่า ใครจะมาพูดคุยและเห็นชอบร่วมกันหรือไม่ ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเห็นชอบ แต่ฝ่ายการทหารบอกไม่ใช่ ฝ่ายเขาก็มีการแย่งชิงการนำกันอยู่เหมือนกัน ทุกคนก็อยากเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า มีบทบาทในการต่อรองพูดคุย ถ้าทุกคนคิดว่ามันไม่เกิดประโยชน์แล้ว ทำต่อไปก็ไม่สำเร็จ เหมือนกับการต่อสู้ทางการเมือง ถ้าใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นมันก็ไปไม่ได้ ยังไงมันก็ไม่มีใครคุยด้วย หรือใครอยากจะคุยกับคนที่ผิดกฎหมายมันก็ไม่ได้ ฉะนั้น ต้องให้กระบวนการนี้หาข้อสรุปมาให้ได้ รัฐบาลก็จะมาหารือสรุปเอาเข้า ครม. ว่าอันไหนทำได้ทำไม่ได้ จะมีกฎหมายพิเศษออกมาหรือไม่ เช่น มาตรา 21 ในปัจจุบันได้ผลหรือไม่ ต้องปรับรูปแบบ เป็นลักษณะคำสั่ง 66/23 ได้หรือไม่ แต่ตนได้ให้ข้อห่วงใยไปว่า คำสั่ง 66/23 เป็นเรื่องการเห็นต่างทางการเมืองการปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ หรือระบอบสังคมนิยมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เรื่องนี้เป็นอาชญากรรมที่มีการฆ่าคนตาย ก็ต้องไปหาทางออก ซึ่งฝ่ายกฎหมายก็รับไป
นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้การทำงานไม่ได้ใช้กำลังทหารอย่างเดียว การทำงานทั้งหมดทุกภาคส่วนร่วมกัน ทั้งพลเรือนและทหาร ภายใต้นโยบายและการสั่งการเดียวกัน และทุกคนกำลังเดินหน้าแบบนั้น ถ้าเอากำลังทหารไปปราบปรามคงจะบานปลายไปกว่านั้นเยอะ วันนี้จับกุมเฉพาะผู้ที่มีคดีตามหมายจับ เพียงแต่ใช้กฎหมายพิเศษอำนวยความสะดวกในการดำเนินคดี แต่ถ้าหลักฐานไม่พอก็ต้องปล่อย ทั้งๆที่ชาวบ้านชี้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้นิติวิทยาศาสตร์เข้าไปร่วมตรวจสอบติดตาม
“ฉะนั้น ขอร้องอย่าเอาเรื่องนี้มากดดันเจ้าหน้าที่ หรือกดดันรัฐ นั่นแหละจะทำให้เราเสียเปรียบโดยทันที เราต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน ใช้การเมืองนำการทหาร โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย ขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมด ทั้งฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และการใช้กำลังทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลต้องมั่นคง และแสดงความจริงใจในการที่จะทำให้สันติสุขเกิดขึ้นให้ได้ อย่าไปใช้คำว่าสันติภาพ เพราะเราไม่ได้มีการสู้รบกัน เป็นเรื่องการกระทำผิดกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าสู้รบคือสองฝ่าย อย่างในต่างประเทศเวลานี้ที่มีการใช้กองกำลังยึดเมืองสู้กัน อย่างนั้นคือ Peace talking การพูดคุยสันติภาพ เอากำลังที่โน่นที่นี่เข้ามาปราบปราม หยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ผมไม่อยากให้ไปถึงตรงนั้น เราไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง วันนี้ได้อธิบาย โอไอซี ก็เข้าใจเราแล้วในระดับหนึ่ง เขาก็ไม่มายุ่งเกี่ยว เพราะเขาเห็นแผนเห็นการปฏิบัติ ซึ่งก็ดีขึ้นตามลำดับ วันนี้พวกเห็นต่างยังมีเยอะ ฉะนั้น ผู้ที่เห็นต่าง นอกจากผู้ที่ก่อเหตุรุนแรง เรายังเอากลุ่มนักวิชาการต่างๆ มาเป็นคณะที่ปรึกษา เพื่อหาข้อสรุป และนำมาสู่การพิจารณาของคณะนโยบาย เพื่อขับเคลื่อน ฉะนั้น อย่าเอามาพันกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวย้ำว่า วันนี้เราจัดระเบียบและทำตามขั้นตอนตามหลักสากล ซึ่งได้มีการส่งคนไปร่วมการชี้แจงอบรมของ Peace talking, Peace Dialogve มาแล้ว ขั้นตอนต่างๆ ตนก็ถอดมาจากตรงนั้น และดูตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้าน วันนี้จะเห็นว่า ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีการสูญเสียไปกว่า 40 กว่าศพ ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจด้วย การพูดคุยถ้าคนหนึ่งเห็นชอบและเดินโรดแม็ปไปแล้ว แต่อีกกลุ่มแตกตัวไป ไม่เห็นด้วย นี่แหละคือ ปัญหา ทำอย่างไรคนเหล่านี้จะรวมตัวกันได้ เราต้องพูดให้ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งต้องใช้เวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวางแผนหรือไม่ว่าขั้นตอนที่ 1 ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ นายกฯกล่าวว่า กำหนดไม่ได้ขึ้นอยู่กับทางมาเลเซีย จะไปรวบรวมกลุ่มที่จะมาพูดคุยได้มากน้อยแค่ไหน และถ้ากลุ่มที่ไม่มาจะทำอย่างไร เราจะไปบังคับเขาไม่ได้ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เขาต้องมีความมั่นใจ เขาถึงจะมาร่วมพูดคุยคิดว่าจะได้ประโยชน์อะไรบ้างในการพูดคุย เราต้องตั้งหลักให้ถูกไม่ใช่เขาเรียกร้องอะไรมา และใช้ความรุนแรงมากำหนด แล้วเราก็มากดดันกันเองต้องเขาใจว่า เราไม่ได้เป็นริเริ่มความรุนแรงก็ต้องมาทบทวนดู
เมื่อถามว่า มีสัญญาณจากทางมาเลเซียส่งมาบ้างหรือยัง นายกฯกล่าวว่า เขาคุยกันมาตลอด ตนก็คุยกับนายกรัฐมนตรีมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเขาก็รับปากว่า จะไปดูให้ ครั้งที่ 2 ได้คุยกันอีก โดยมี พล.อ.อักษรา เกิดพล หัวหน้าทีมพูดคุยดับไฟใต้ ร่วมพูดคุยด้วย ซึ่งทางนายกฯมาเลเซียก็รับปาก และมีการพูดคุยในเบื้องต้น ครั้งที่ 3 นายกฯมาเลเซีย มาประเทศไทยตอนช่วงปีใหม่ นายกฯก็ยืนยันอีกครั้งว่า เร่งเรื่องนี้ โดยได้สั่งการไปแล้วกำลังมีการรวบรวมกลุ่มอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางนายกฯ มาเลเซีย จะมีการร่วมพูดคุยอีกไหม นายกฯ กล่าวว่า พูดคุยกันหมด ทุกระดับมีการพูดคุยกัน รัฐบาลต่อรัฐบาล เพราะถือว่าเป็นนโยบายที่ผ่านมา ตนคุยกับนายกฯ ว่าปัญหานี้คุยกันมาหลายรัฐบาลแล้ว โดยเฉพาะปัญหา 2 สัญชาติ ซึ่งได้สั่งการไปที่กระทรวงมหาดไทยให้ไปดูเรื่องนี้ว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร ซึ่งปัญหา 2 สัญชาติเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรจะไม่ให้กระทบทั้ง 2 ประเทศ
เมื่อถามว่า ทั้ง 3 ขั้นตอน รัฐบาลไหนเข้ามาสามารถดำเนินการต่อได้เลยใช่ไหม นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องดำเนินการต่อ แต่ถ้าจะไม่เดินตามนี้ ต้องมีแนวทางที่ดีกว่านี้ ไปหามาว่ามีอะไรดีกว่านี้ไหม
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป้าหมายการลงสัตยาบันอยากทำให้ได้ในปีนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรากำหนดเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับเขาจะคุยกับเราหรือเปล่า ถามต่อว่า เมื่อขั้นตอนที่ 1 ไม่เกิด 2 3 จะเกิดไม่ได้ใช่ไหม นายกฯ กล่าวว่า ก็เกิดไง อย่างน้อย ถ้าสมมติว่า มีซัก 90 เปอร์เซ็นต์ คนเหล่านี้ก็ร่วมกับเรา แล้วเขาก็จะไปกดดันพวกนั้นให้เข้ามา ซึ่งเขาก็ต้องช่วยเราด้วย สัญญาณโดยรวมก็น่าจะดีขึ้น
“ผมได้สั่งแม่ทัพภาคที่ 4 ไปแล้วว่า ถ้าเขาเสนอหรือเรียกร้องอะไรมา เราไม่ต้องไปตอบโต้อะไรทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน เสนออะไรมาเราก็รับ แล้วค่อยเอาไปพูดในคณะพูดคุย ถ้ามาตอบโต้กันทางสื่อก็จะมีความรุนแรง ก็จะกดดันเราอยู่แบบนี้ มันไม่ได้เราอย่าไปขยายความให้เขา อย่าไปเปิดพื้นที่ข่าวให้เขา ถ้าไปเปิดพื้นที่ข่าว เขาก็จะประสบความสำเร็จ ถ้าเรายกเลิกกฎอัยการศึก ถอนทหารออกไป ผมขอถามว่าใครจะรับผิดชอบหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้มีทั้งหมดกี่กลุ่ม นายกฯ กล่าวว่า มีหลายกลุ่ม หลายพวก เป็นกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวมานานแล้ว และหมดสมรรถภาพลงไปบ้าง และยังมีคนเหล่านี้อยู่บ้าง มีอาวุธอยู่ 10-20 คน มันก็ยังมีบ้าง ตั้งแต่สมัยโจรจีนมาลายา ซึ่งมีมานานแล้ว ซึ่งเขามักจะเอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มาอ้าง เราก็ต้องเอาส่วนนี้มาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหา อย่าให้เกิดขึ้นมาอีก ทั้งนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ยังคงอยู่ในประเทศไทย และอาจจะมีข้ามไปข้ามมาบ้าง เราก็ต้องขอความร่วมมือจากเขามาเลเซีย