“แม่น้ำโขง”...เป็นแม่น้ำที่มี ความสำคัญและอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ มีพันธุ์ปลาหลากหลายเป็นอันดับสองของโลก รองเพียงลุ่มน้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้

อีกทั้งยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดใหญ่ที่สุดในโลก...จากต้นน้ำถึงทะเลจีนใต้ แม่น้ำโขงมีความยาวถึง 4,909 กิโลเมตร ไหลจากที่ราบสูงทิเบต ผ่านจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ประชาชนกว่า 60 ล้านคน นับร้อยชาติพันธุ์ พึ่งพาอาศัยระบบนิเวศที่หลากหลายของแม่น้ำโขง เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต

แต่...แม่น้ำโขงกำลังถูกรุมทำร้ายด้วยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ภายใต้ชะตากรรมของแม่น้ำโขงตอนบน เตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว. จังหวัดเชียงราย บอกว่า แม่น้ำโขงตอนบนอยู่ในประเทศจีนมีความยาวเกือบครึ่งหนึ่งของแม่น้ำโขงทั้งสาย เรียกว่า...แม่น้ำล้านช้าง หรือ...หลานชางเจียง ถูกรัฐบาลจีนกำหนดแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 28 เขื่อน ขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 6 เขื่อน

นักธรณีวิทยาระบุว่า แม่น้ำโขงในจีนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่ยังมีพลัง แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในยูนนานหลายครั้ง หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเขื่อนอาจแตก พื้นที่ริมน้ำโขงในไทย คือ เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น จ.เชียงราย จึงมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบโดยยังไม่มีมาตรการป้องกัน

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่านับตั้งแต่มีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีน “ปริมาณน้ำในฤดูน้ำหลากลดลง แต่ปริมาณน้ำในฤดูแล้งกลับเพิ่มขึ้น” ในฤดูแล้งเกือบ 100% ของน้ำโขง ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไหลจากแม่น้ำโขงในจีน ส่วนในฤดูน้ำหลากปริมาณน้ำโขงกลับลดลง เพราะมีการเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อน สิบกว่าปีที่ผ่านมาพบว่าส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่น้ำท่วมถึงลดลง ทำลายความมั่นคงทางอาหารประเทศท้าย น้ำ ตะกอนดิน สารอาหารที่สมบูรณ์ถูกเก็บกักไว้ในเขื่อน ส่งผลต่อการทำเกษตรริมฝั่ง เกิดการกัดเซาะตลิ่งและท้องน้ำ

...

“ทางท้ายน้ำก็มีความกังวลว่าสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามที่ค่อยๆจมลงนั้นอาจเป็นเพราะขาดดินตะกอนมาทับถมเพิ่มเติมจากแม่น้ำโขง เมื่อเกิดลมพายุ ความเสียหายจะรุนแรงยิ่งขึ้น”

สำหรับ...“ชะตากรรมของแม่น้ำโขงตอนล่าง” เตือนใจ บอกว่า รัฐบาล 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง...ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม มีแผนสร้างเขื่อนและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 12 โครงการ

เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนแรก เริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี 2555 ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 40% เขื่อนไซยะบุรีตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย 200 กิโลเมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 285 เมกะวัตต์ ตัวเขื่อนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 810 เมตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าเป็นเวลา 29 ปี

ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักต้องจัดกระบวนการ ปรึกษาหารือล่วงหน้าแก่ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC)

แต่ กฟผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลไทยกลับทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนไซยะบุรี โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ทำการศึกษาและรายงานผลกระทบว่าจะส่งผลเสียต่อชุมชนลุ่มน้ำโขงอย่างไร

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดในลุ่มน้ำโขง โดยตัวแทน 37 คน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้รับฟ้องเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา

ลงลึกในรายละเอียดกันอีกสักนิด “เขื่อนดอนสะโฮง” เป็นเขื่อนที่ 2 ที่จะสร้างกั้น “ฮูสะโฮง”...ที่สีพันดอน แขวงจำปาสัก ซึ่งเป็นบริเวณที่เปลือกโลกยกตัวขึ้น ทำให้แม่น้ำโขงแผ่ออกเป็นแขนงต่างๆ

“ฮูสะโฮง” มีความสำคัญต่อการเดินทางและขยายพันธุ์ของปลาในลุ่มน้ำโขง เพราะเป็นช่องทางผ่านของปลาน้ำโขงจากตอนล่าง รวมทั้งจากทะเลสาบเขมร ที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมายังแม่น้ำโขงตอนบนได้ตลอดปี ในขณะที่ช่องอื่นๆ ล้วนเป็นแก่ง เป็นน้ำตก ซึ่งปลาไม่สามารถว่ายผ่านไปได้ตลอดทั้งปี เช่น น้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกหลีผี

เมื่อรัฐบาลลาวแจ้งกรณีเขื่อนดอนสะโฮง คณะกรรมการร่วม 4 ประเทศน้ำโขงตอนล่างก็เริ่มกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ซึ่งมีกำหนด 6 เดือน จะสิ้นสุดในเดือนมกราคม 2558...

กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการ MRC ประเทศไทย ได้จัดเวทีกรณีเขื่อนดอนสะโฮงแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 10 และ 12 พฤศจิกายน 2557 ที่จังหวัดอุบลราชธานีและนครพนม โดยไม่ได้เชิญประชาชนริมฝั่งโขง ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมด้วย ทั้งๆที่เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ทำจดหมายถึงกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียกร้องให้ MRC จัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนริมน้ำโขง ให้ครบทุกพื้นที่อำเภอริมแม่น้ำโขง...ให้แปลเอกสารรายงานการศึกษาผลกระทบ เอกสารสำคัญต่างๆให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้ศึกษาล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันและให้เจ้าของโครงการชี้แจงข้อมูลแก่ประชาชนร่วมกัน แต่ก็ไม่มีการตอบรับใดๆ

กระบวนการปรึกษาหารือกรณีนี้...กำลังซ้ำรอยกรณีเขื่อนไซยะบุรี เมื่อปี 2554?...ทั้งยังได้เปลี่ยนถ้อยคำจาก “การปรึกษาหารือ” เป็น “การให้ข้อมูล” ซึ่งเป็นการกีดกันสิทธิในการมีส่วนร่วม น่าสนใจอีกว่า...เขื่อนปากแบง อาจเป็นเขื่อนที่ 3 ที่จะกั้นแม่น้ำโขงในลาว อยู่ท้ายน้ำห่างจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไม่ถึง 100 กิโลเมตร ระดับเก็บกักน้ำของเขื่อน อาจทำให้น้ำท่วมถึงบริเวณผาถ่าน อ.เชียงของ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ

นอกจากนี้ยังมีเขื่อนอื่นๆที่จะตามมา ได้แก่ เขื่อนปากลาย เขื่อนสานะคาม

สถานการณ์ผิดธรรมชาติในแม่น้ำโขงล่าสุดที่ อ.เชียงของ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 คือ น้ำโขงลดระดับลงมากและน้ำขุ่นข้น...เหมือนฝนตกต้นฤดูฝน ทั้งๆที่ไม่มีฝน

กลุ่มรักษ์เชียงของได้ลงพื้นที่สำรวจ พบว่ามีปลาอพยพขึ้นจำนวนมาก คนหาปลาจับปลาได้มากผิดปกติ ทั้งๆที่วัฏจักรของแม่น้ำโขงช่วงตุลาคมถึงเมษายนน้ำจะลด น้ำใส จับปลาได้น้อย แต่จะมีสาหร่ายแม่น้ำโขง หรือ “ไก” เจริญเติบโต...กลุ่มแม่หญิงจะเก็บไกมาเป็นอาหารและแปรรูปเป็นรายได้

ลุงเสาร์ ระวังศรี พรานปลาวัย 85 ปี บอกว่า ในชีวิตเกิดมาเพิ่งเคยเห็นแม่น้ำโขงขุ่นในฤดูแล้ง และน้ำลดกะทันหัน ปลาสับสนน้ำ จึงแตกตื่นหนีเข้าฝั่ง ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นกับน้ำโขง

สถานการณ์นี้สอดคล้องกับรายงานของสำนักข่าวซินหัว ที่ว่า รัฐบาลจีนจะสนับสนุนงบประมาณ 100 ล้านหยวน ปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ระยะที่ 2 ซึ่ง 4 ประเทศ...จีน พม่า ไทย ลาว ตกลงร่วมกันไว้ 3 ระยะ...ระยะที่ 1 สำหรับเรือ 100 ตัน DWT...ระยะที่ 2 เรือ 200 ตัน DWT...ระยะที่ 3 เรือ 500 ตัน DWT เดินทางจากท่าเรือซือเหมาในจีนมาถึงหลวงพระบาง

แต่ถึงปัจจุบันยังทำได้แค่ระยะที่ 1 เนื่องจากมีการคัดค้านถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ ร่องน้ำลึก ซึ่งเป็นแนวกั้นเขตแดนประเทศ กระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัด ริมน้ำโขง กังวลว่า จีน...อาจดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำโดยไม่แจ้งประเทศสมาชิกท้ายน้ำ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต คุณภาพชีวิตของประชาชน 4 ประเทศท้ายน้ำ

ปี 2535 องค์การสหประชาชาติประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งให้การพัฒนาของโลกมีความสัมพันธ์ที่สมดุล ยั่งยืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน แต่โครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขง สวนทางกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างสิ้นเชิง

ปุจฉามีว่า “การพัฒนาแม่น้ำโขง”...เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชน การแลกความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสายใหญ่แห่งนี้กับไฟฟ้าปริมาณไม่มาก อาจไม่คุ้มค่า.