จากกรณีที่ สปช.ลงมติไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ซึ่งมีอยู่ในแผนพลังงานแห่งชาติอยู่แล้ว กลายเป็นกระแสระหว่าง เปิดหรือไม่เปิด ดีกว่ากัน

กระทรวงพลังงานโดย อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เหตุผลว่า ระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมของไทยใช้ระบบ Thailand+3 ที่จะช่วยให้รัฐมีรายได้ในสัดส่วนที่มากขึ้น และยังเป็นที่จูงใจภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ทำให้การสัมปทาน มีความโปร่งใส ที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับผู้สัมปทานและสามารถที่จะสร้างผลประโยชน์ให้กับรัฐสูงสุด

โดยในขณะนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบกและในอ่าวไทย รวม 29 แปลง และมั่นใจว่าภายใต้ระบบการสัมปทานปัจจุบันจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงด้านพลังงานและการเก็บรายได้เข้ารัฐ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ ระบบแบ่งผลประโยชน์ที่พยายามเรียกร้องกัน ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยเฉพาะอาจจะถูกมองว่า มีการเจรจาเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อเทียบกับการสัมปทานระบบไทยแลนด์+3 แล้วการแบ่งผลประโยชน์ให้กับรัฐ จะได้ประโยชน์มากกว่าและป้องกันการทุจริตดีกว่า

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่จะมีการเปิดให้สัมปทานนั้นเป็นพื้นที่เดิมที่ผู้เคยได้รับสัมปทานใช้สิทธิครบกำหนดแล้วและนำมาคืนให้รัฐ ซึ่งรัฐก็ต้องนำพื้นที่เหล่านี้ทั้งที่เคยสำรวจไปแล้วและยังไม่ได้สำรวจไปเปิดให้สัมปทานต่อไป

ปัญหาที่ต้องนำมาพิจารณาควบคู่กับการจะเปิดให้สัมปทานหรือไม่ก็คือ ความต้องการในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในประเทศ ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี

ปัจจุบันประเทศไทย มีการนำเข้าน้ำมันดิบ ถึงร้อยละ 85และ ก๊าซธรรมชาติ กว่าร้อยละ 15 ของความต้องการในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั้งประเทศ ก๊าซธรรมชาติทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ต้องนำไปใช้เป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งในจำนวนนี้เป็นก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาจากพม่าถึงร้อยละ 70

...

เอาแค่พม่าซ่อมท่อส่งก๊าซหรือแท่นผลิตก๊าซ การผลิตไฟฟ้าในประเทศก็ไม่พอใช้แล้ว ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศมีผลกระทบไปด้วย ต่างจากมาเลเซียหรือพม่าที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นของตัวเอง

เชื่อว่าการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมเที่ยวนี้ จะพบก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 1-5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งกว่าจะสำรวจเสร็จ กว่าจะลงมือผลิตได้ ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆอีก 7 ปี ก็สอดคล้องกับการประเมินว่า อีก 7 ปี การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะลดลงมาก

การลงทุนไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท แต่จะมีการจ้างงานเพิ่มไม่ต่ำกว่า 2 แสนอัตรา การคัดค้านการสัมปทานเที่ยวนี้ มีเหตุผลเพียงตีเมืองขึ้น เรื่องของผลประโยชน์และการรู้เท่าไม่ถึงการณ์.

หมัดเหล็ก