กทม. เผยรายละเอียดเพิ่มเส้นเตือนทางม้าลายแบบซิกแซก ระบุนำต้นแบบจากอังกฤษ เหตุต้องใช้เพราะคนขับอ้างมองสัญลักษณ์เดิมไม่เห็น เขตไหนสนใจแจ้งทำเพิ่มได้ แต่ขอถนนไม่เกิน 4 เลน...
วันที่ 11 ม.ค. จากกรณีสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักวิศวกรรมจราจร ได้ออกแบบและตีเส้นเตือนทางม้าลาย (Traffic Calming) ตามหลักวิศวกรรมจราจร โดยมีลักษณะเป็นเส้นหยักซิกแซกริมเลนถนน ร่วมกับรัมเบอร์สติ๊ก 3 ช่วง หวังใช้เป็นเครื่องหมายเสริมเตือนให้ผู้ขับขี่ระวังในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเขตทางข้ามหรือทางม้าลาย ซึ่งเริ่มทดลองที่ถนนดินสอ ถนนโดยรอบศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) และถนนอโศกมนตรีนั้น
นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร รับผิดชอบเกี่ยวกับการจราจรและขนส่ง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงโครงการดังกล่าวว่า ได้นำต้นแบบของการตีเส้นซิกแซกเพื่อชะลอรถยนต์บริเวณทางข้ามม้าลายมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การจราจรสากลที่มีใช้กันอยู่ทั่วไป นอกจากอังกฤษแล้ว ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษก็ใช้กัน แม้แต่ที่ศรีลังกา และสิงคโปร์ก็มี และเหตุที่ต้องนำมาใช้กับถนนทั้ง 3 สาย เพราะเกิดอุบัติรถชนหลายครั้ง แต่ละครั้งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
นายอมร กล่าวต่อว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนมากมาจากสาเหตุรถขับมาด้วยความเร็ว โดยผู้ขับอ้างว่ามองสัญญาณเตือนทางม้าลาย หรือสัญญาณคนข้ามไม่เห็น บ้างก็บอกว่าสัญญาณไฟจราจรอยู่สูงเกินไป ดังนั้น การนำเส้นซิกแซกเตือนทางม้าลาย น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ เพราะถึงอย่างไรคนขับก็ต้องมองถนนอยู่ดี ก็น่าจะช่วยทำให้คนขับรถระมัดระวังขึ้น ชะลอเมื่อถึงบริเวณทางข้าม
"ถ้าประชาชนเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์ ขอให้แจ้งเข้ามาที่ กทม. เพื่อจะจัดทำเส้นซิกแซกเตือนทางม้าลาย หรือสัญญาณไฟหยุดให้ข้ามถนนให้ต่อไป แต่ขอให้เป็นถนนแบบไปกลับไม่เกิน 4 เลน เพราะถ้ากว้างกว่านี้ เหมือนเส้น ถนนศรีนครินทร์ ขนาด 6 เลน กว้าง 30 เมตร ที่สนใจขอให้ กทม.ไปทำเส้นซิกแซกให้บริเวณหน้าห้างธัญญา พาร์ค เพราะเกิดอุบัติเหตุหนักเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประสิทธิผลที่ได้จะไม่ดีเท่า โดยทาง กทม.เตรียมทำเป็นสะพานลอยข้ามให้จะปลอดภัยแก่ประชาชนมากกว่า ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายจากท่านผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องการให้ประชาชนคนเดินถนนและผู้ขับรถใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย" รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
...
ด้าน วีรวิชญ์ ตรีประสิทธิ์ผล วิศวกรโยธา ชำนาญการ สำนักงานเขตบางพลัด กทม. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากการไปดูงาน เห็นว่าประเทศสิงคโปร์ก็มีใช้ในเขตเมืองที่มีคนพลุกพล่าน แต่ไม่เคยเห็นปรากฏในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี
"คิดว่ามีอย่างนี้ก็ดีกว่าไม่มีครับ เพราะปัจจุบันคนขับรถไม่ค่อยเคารพกฎจราจร เวลาเห็นทางม้าลายแทนที่จะหยุดชะลอกลับเร่งความเร็วให้พ้นจนเกิดเป็นอุบัติเหตุ การมีเส้นเตือนก็เป็นการบอกคนขับว่าใกล้สิทธิของคนเดินข้ามถนนแล้ว แต่จะได้ผลหรือไม่อย่างไร คิดว่าอยู่ที่จิตสำนึกของคนว่ามีมากน้อยขนาดไหนด้วย" วิศวกรโยธา ชำนาญการ จากเขตบางพลัด กล่าว
วีรวิชญ์ กล่าวแนะเพิ่มเติมว่า หากเส้นซิกแซกหนาทึบเกินไป จนผู้ขับขี่รถนึกว่าถนนแคบและกะระยะไม่ถูกนั้น อาจตีเส้นให้บางลงเพื่อความสบายตาของผู้ใช้ถนนได้ และการประชาสัมพันธ์จะทำให้คนสังคมตระหนักรู้ คุ้นชิน และปฏิบัติตาม