เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิซัดกระหน่ำชายฝั่ง 14 ประเทศในแถบมหาสมุทรอินเดียเมื่อ พ.ศ.2547 ผ่านพ้นไปครบ 10 ปีพอดีเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา และผู้คนจากทั่วโลกยังคงเดินทางมายังประเทศแถบเอเชียเพื่อร่วมพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 226,000 รายในครั้งนั้น
ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ต้องทำใจเช่นกันว่าภัยพิบัติ ทางธรรมชาติครั้งใหญ่มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อ...
สมาพันธ์กาชาดสากลและสมาคมเสี้ยววงเดือนแดง (IFRC) องค์กรระหว่างประเทศด้านการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ระดับโลก ได้เปิดเผยบทเรียนจากการทำงานหลังภัยพิบัติเมื่อปี 2547 ซึ่งพบว่าอุปสรรคใหญ่ในครั้งนั้น ได้แก่ เงื่อนไขของแต่ละประเทศที่ต้องมีขั้นตอนเอกสารและระบบราชการที่ยุ่งยาก รวมถึงนโยบายด้านความมั่นคง ทำให้การลำเลียงความช่วยเหลือจากต่างประเทศไปยังประเทศที่ประสบภัยดำเนินไปอย่างล่าช้า รวมถึงความขาดแคลนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะใช้ในการประสานงาน ส่งต่อ หรือประเมินข้อมูลเพื่อการเตือนภัยและเฝ้าระวังยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาล 168 ประเทศทั่วโลกซึ่งตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ลงนามรับรอง “กรอบการดำเนินงานเฮียวโก” (HFA) ซึ่งทางไอเอฟอาร์ซีเป็นหนึ่งในองค์กรร่วมผลักดัน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการรับมือและลดระดับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคต
เวลาผ่านไป 10 ปี มีความคืบหน้าสำคัญๆ เกิดขึ้นบ้างในภูมิภาคเอเชีย เช่น การตั้งศูนย์เตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบาล 26 ประเทศ ช่วยกัน รวบรวมข้อมูลแผ่นดินไหวและภัยธรรมชาติอื่นๆ เพื่อจะได้ประกาศเตือนภัยให้ประชาชนอพยพไปยังที่ปลอดภัยได้ทันเวลา ในส่วนของไทยมีการฝึกอบรมหน่วยกู้ภัยทางทะเล ขณะที่อินโดนีเซียมีการตั้งสำนักงานบรรเทาสาธารณภัย และที่ศรีลังกา มีการอบรมเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติให้แก่พลเมืองในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
...
ส่วนการสรุปผลดำเนินการตามกรอบ HFA จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในปีหน้า 2558 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตัวแทนนานาประเทศจะร่วมกันพิจารณาร่าง HFA ระยะที่ 2 เพื่อปรับปรุงหรือยกระดับแนวทางการรับมือภัยพิบัติในอนาคต ซึ่งปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงไปทั่วโลก.
ตติกานต์ เดชชพงศ