สำรวจบรรยากาศ สปช. “เสนอกรอบ” รัฐธรรมนูญ
กระแสฟุตบอลไทยฟีเวอร์กลับมากระหึ่มอีกรอบ
ตามปรากฏการณ์ “สนามแตก” ในแมตช์ที่ทีมฟุตบอลชาติไทยลงเตะกับทีมชาติฟิลิปปินส์ในรอบรองชนะเลิศฟุตบอลซูซูกิคัพ
ท่ามกลางกองเชียร์ชาวไทยแห่เข้าไปให้กำลังใจนักเตะช้างศึกแน่นเต็มความจุสนามราชมังคลากีฬาสถาน ชนิดที่ต้องเข้าแถวต่อคิวซื้อบัตรเข้าชมตั้งแต่เช้า แย่งกันไม่ทัน
ปั่นราคา “ตั๋วผี” ที่ขายนอกสนามขึ้นราคาไป 3-4 เท่าตัว
ไม่นับผู้ชมทางบ้านที่ติดตามการถ่ายทอดสดทางทีวีแทบทุกหลังคาเรือนก็ว่าได้ ทำให้ท้องถนนโล่ง รถราเงียบไปถนัดตา
เสียงเชียร์ดังกระหึ่มไปทุกตรอกซอกซอย
และก็ไม่ผิดหวัง เมื่อนักเตะทีมชาติไทยโชว์เพลงเตะได้สมใจแฟนบอลชาวไทย เอาชนะคู่แข่งไปได้แบบเหนือชั้น กรุยทางเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศต่อไป
ด้วยฟอร์มที่เซียนฟันธงเลยว่า นาทีนี้เจอใครก็ได้ทั้งนั้น
ทีมฟุตบอลสร้างความประทับใจ เรียกศรัทธาจากกอง เชียร์คนไทยทั้งประเทศกลับมาได้ เพราะสไตล์การเล่นเป็นทีม หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีดารา
ไม่มีพวกที่เบียดผู้ร่วมทีมขึ้นมาโดดเด่นคนเดียว
นับเป็นรายการคืนความสุขให้ประชาชนคนไทยท่าม กลางบรรยากาศทางการเมืองที่เต็มไปด้วยข่าวด้านลบมากกว่าประเด็นข่าวบวก
โดยเฉพาะผลมาจากพวกที่เล่นไม่เป็นทีม
ตามสถานการณ์ที่เปรียบได้ว่า “จับฉ่ายไอเดีย” กับการที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แย่งกันเสนอโมเดลรัฐธรรมนูญใหม่ แข่งกันชงสารพัดโมเดล
ทั้งสูตรลดจำนวน ส.ส.เหลือ 350 ที่นั่ง โละผู้แทนราษฎรระบบปาร์ตี้ลิสต์ การเลือกตั้งแบบพวงใหญ่ ห้ามเครือญาติทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยลงสมัครรับเลือกตั้งในคราวเดียวกันฯลฯ
...
แต่ที่เป็นประเด็นร้อนมากที่สุดก็คือ การเสนอให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง
ตามพิมพ์เขียวที่นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ภูมิใจนำเสนอแบบสุดลิ่มทิ่มประตู
ว่ากันถึงขนาดที่ว่าเมืองไทยจะเป็นประเทศแรกของโลกที่ประเดิมสูตรนี้
โดยมีผลของ “นิด้าโพล” ออกมาเพิ่มน้ำหนักสนับสนุนอีกทาง
ตรงกันข้ามกับเสียงคัดค้านจากนักการเมืองทุกขั้วทุกป้อมค่าย ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ค่ายการเมืองขนาดกลางขนาดเล็ก
ประสานเสียงเป็นโทนเดียวกัน ไม่เอาด้วย
นั่นไม่ล่อแหลมเท่ากับเสียงทักของพวกหวาดระแวงในกรณีถ้านายกรัฐมนตรีอ้างมาจากเสียงของประชาชนแล้วไม่ฟังใคร
คงอันตรายกับระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆแน่นอน
โยงไปถึงการล้มระบอบการปกครองกันเลย
เรื่องของเรื่อง โดยจังหวะผสมโรง ปมร้อนๆแหลมๆโมเดลเลือกนายกฯโดยตรง มันก็ถูกโหมชนวนขึ้นมาพอดีสุมอุณหภูมิร้อนๆ
ดีกรีการเมืองกำลังระอุ
ในสถานการณ์วิกฤติยางพาราราคาตกต่ำเหลือ“3โล 100” เสียงขู่ของแกนนำม็อบสวนยางประกาศให้เวลารัฐบาลแก้ปัญหาถึงต้นปีหน้า
ถ้าไม่สำเร็จพร้อมเคลื่อนไหวก่อม็อบใหญ่โดยไม่สนกฎอัยการศึก
ขู่เลยว่า อะไรจะเกิดก็ไม่รับผิดชอบ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับตามตรงเลยว่า รัฐบาลไม่มีเงินกองทุนจะไปอุ้มราคายาง โดยจะพยายามประคองราคาไม่ให้ต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม
ราคาขั้นต่ำที่เรียกมา 80 บาทต่อกิโลกรัม ไม่มีทางปั่นไปถึงแน่
ประเมินจากเงื่อนไขรัฐบาลกับม็อบยางยากจะเลี่ยงการเผชิญหน้า
โดยมีทีมงานพรรคประชาธิปัตย์ออกมาขย่มซ้ำตามน้ำ กดดันให้ปลด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพราะไม่มีน้ำยาในการแก้ปัญหา
ตามรูปการณ์ปมยางพาราเป็นภาพเชิงซ้อน เกมมวลชนของขั้วการเมืองในปักษ์ใต้
วาระจริง วาระแฝง แยกไม่ออก
และบรรยากาศก็เหมือนจะอึมครึมเข้าไปอีก กับคิวที่ทหารเฒ่าอย่าง “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาจุดพลุ
เตือนขุนทหาร คสช.ให้ระวังปฏิวัติซ้อน
กระตุกให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตอบคำถามนักข่าว เคลียร์ กระแสซ้ำแล้วซ้ำอีก 2–3 รอบ ยืนยันทหารไม่มีปัญหาซึ่งกันและกัน อย่างไรก็เป็นพี่น้องกันอยู่แล้ว
แต่แนวโน้มสถานการณ์ก็ยังอึมครึม แบบที่ตลาดหุ้นตกรูดติดต่อกันหลายวันเกือบร้อยจุด
เพราะนักลงทุนขวัญผวา “แอ่นแอ๊น” ซ้ำ
ตามรูปการณ์ขนมผสมน้ำยา บรรยากาศจับฉ่ายไอเดียชงปมเลือกนายกฯโดยตรง วิกฤติยางพารา “3โล 100”กระแสปฏิวัติซ้อน ปะติดปะต่อส่อจะไหลรวมเป็นคนละเรื่องเดียวกัน
งานนี้ก็เลยต้องรีบออกมาตัดไฟก่อนจะลามใหญ่
อย่างที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องรีบตัดบทเลยว่า ข้อเสนอและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้นั้น ยังไม่ใช่ข้อยุติ
เปรียบเปรยเป็นเรื่องธรรมดาที่แกงส้มหม้อหนึ่ง มีพ่อครัวเป็นจำนวนมากถึง 265 คน ทุกคนก็กำลังขายของว่าสูตรแกงส้มของตัวเองนั้นอร่อยที่สุด
ทั้งที่ยังไม่มีการก่อไฟเลยด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปตื่นเต้น กว่าจะก่อไฟหรือตั้งน้ำให้เดือด หรือกว่าจะเอาเครื่องแกงลง และกว่าจะปรุงเสร็จนั้นยังอีกยาวนาน
ซึ่งนั่นก็ต้องย้อนไปดูโปรแกรมที่กำหนดเป็นเงื่อนเวลาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
คร่าวๆภายหลังจากมี สปช.ภายใน 60 วัน สปช.จะต้องให้ การบ้านคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น4เดือน คณะกรรมการยกร่างฯ จะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ
เมื่อแล้วเสร็จให้ส่ง สปช.พิจารณา และให้เวลาแก้ไขภายใน 1 เดือน เมื่อ สปช.ไม่ต้องการแก้ไข ให้ ครม.คสช. สนช. ตรวจสอบอีก 2 เดือน รวมแล้ว 10 เดือน ส่งกลับไปยัง สปช. ให้พิจารณาภายใน 1 เดือน โดยไม่มีการแก้ไข ทำได้แค่รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ
กว่าจะสะเด็ดน้ำต้องผ่านอีกหลายด่าน กรองอีกหลายชั้น
นาทีนี้ก็แค่รายการ “ปล่อยของ” ชิงกระแส ต่างคนต่างแน่
เล่นบทเด่น ทางใครทางมัน
โดยสภาพที่ต่างกันกับนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่เรียกศรัทธาจากการเล่นเป็นทีม ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำผลงานได้ถูกอกถูกใจกองเชียร์
กระตุกกระแสสนับสนุนจากประชาชนไทยทั้งประเทศ
จริงอยู่ในมุมที่มองกันได้ว่า เป็นความสวยงามของกระบวน การร่างรัฐธรรมนูญภายใต้สถานการณ์อำนาจพิเศษที่ปล่อยให้บรรยากาศฟรีสไตล์ไม่ต่างจากประชาธิปไตย
คสช.ไม่ได้สั่งซ้ายหันขวาหัน
แต่อีกนัยหนึ่งมันก็สะท้อนสถานการณ์ สะท้อนกระบวน การโหวตรอบสุดท้าย รัฐธรรมนูญใหม่คงจะไม่ลงตัวง่ายๆ
เสียงแตกกระจายแน่
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึงขั้นสุดท้ายถ้าว่ากันตามลีลาเก๋าๆของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายเบอร์หนึ่งของรัฐบาล
ที่ปล่อยประโยคเด็ดทีเด็ดเป็นนัย
“วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว เหมือนคำโบราณที่ว่า ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถูกไล่ลงจากเรือ ดังนั้นก็ต้องตามใจแป๊ะ”
เป็นการพูดระหว่างบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทของ สนช. กับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน” โดยที่นายวิษณุยอมรับว่า สมัยตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใหม่ๆ มีความกังวลว่า การเอาปลา 4 น้ำ ได้แก่ 1. พวกท็อปบูต 2. พวกที่มามือเปล่าคืออดีตสมาชิกรัฐสภา 3. นักกฎหมาย 4. ภาคเอกชน มาอยู่ด้วยกัน จะไปกันได้หรือไม่
หากต้องทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด
แต่ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาพบว่า อยู่กันได้อย่างน่าอัศจรรย์ และประธาน สนช.และรองประธานสภา 2 คนทำงานคุมเกมได้ดี ถือเป็นดรีมทีมของสภาได้
อยากให้ สนช.ประคับประคองระเบียบเหล่านี้ให้ดี
สรุปความหมายตามวาทะ “ลงเรือแป๊ะ” ของนายวิษณุก็คือ ต้องเข้าใจในสิ่งที่เขาอยากให้เข้าใจ
และถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะบอกปัดไม่รู้แป๊ะในที่นี้หมายถึงใคร แต่สังคมทั่วไปพอเดาได้
นาทีนี้ใครคือคนคุมหางเสือประเทศไทยไปสู่เป้าหมายปฏิรูปก็เห็นกันอยู่
ที่แน่ๆไม่มีคำว่า “ทางตัน” อยู่แล้ว
ถึงที่สุดถ้ามีปมสะดุดก็มีช่องให้นับหนึ่งใหม่ ตามรัฐ-ธรรมนูญมาตรา 38 เปิดช่องไว้ ถ้า สปช.พิจารณาไม่ทันหรือเกิดเหตุใดๆ ให้รัฐธรรมนูญตกไป
ก็ให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างชุดนั้นสิ้นสุดลงและตั้งชุดใหม่
และนั่นหมายถึง คสช.ก็ตีตั๋วต่อไปได้เรื่อยๆ.
“ทีมการเมือง”