โลกกำลังเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันลดลงอย่างมหาศาลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากราคาสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเดือน มิ.ย. เหลือเพียงราวๆ 62.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อวันพุธ (10 ธ.ค.) ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี
สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันร่วงหนักเช่นนี้ มาจากการหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่เกิดขึ้นล่าสุดคือ การที่ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งมีสมาชิก 12 ประเทศ รวมทั้งผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน และเวเนซุเอลา ตัดสินใจคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบเอาไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันตามเดิม ที่การประชุม ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.
การประชุมที่เกิดขึ้นนั้น เรียกได้ว่าเป็นการหารือครั้งสำคัญที่สุดในรอบหลายปีของโอเปก เพราะเกิดขึ้นท่ามกลางการลดลงอย่างหนักของราคาน้ำมันดิบ ทั่วโลกต่างต้องการรู้ว่าชาติ โอเปก ซึ่งผลิตน้ำมันดิบคิดเป็น 40% ของกำลังผลิตทั่วโลก จะใช้มาตรการอะไรเพื่อหยุดยั้งการตกต่ำนี้ แต่พวกเขาตัดสินใจไม่ทำอะไรเลย เชื่อว่าพวกเขาต้องการดูทิศทางลมไปก่อน ทำให้ราคาน้ำมันลดฮวบทันทีในวันนั้น
...
ขณะที่สาเหตุระยะยาวที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกลดลง ประกอบด้วย 3 ปัจจัยใหญ่ๆ 1. คือความเฟื่องฟูของการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ ของโลก ส่งผลให้มีน้ำมันเข้าสู่ตลาดมากขึ้นผลักดันราคาให้ตกต่ำลง โดยในขณะที่ชาติสมาชิกโอเปกผลิตน้ำมันในปริมาณที่สม่ำเสมอ ที่อื่นๆ กลับผลิตมากขึ้น และสหรัฐฯ นำเป็นอันดับ 1
การผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างใหญ่หลวงของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ได้อานิสงส์จากการปฏิวัติการขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การขุดเจาะตามแนวนอน ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ใต้พื้นผิวโลกได้ ส่งผลให้สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันดิบต่อวันได้มากกว่าช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เกือบเท่าตัว
นอกจากสหรัฐฯ การผลิตน้ำมันในประเทศอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ที่แคนาดา เพิ่มกำลังผลิตจากประมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเพียงในปี 2009 เป็นมากกว่า 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2013 รัสเซียเพิ่มการผลิตจากราว 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2009 เป็น มากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2013 ส่วนลิเบีย กำลังเพิ่มระดับการผลิตน้ำมันดิบให้กลับสู่ภาวะปกติ หลังจากต้องเผชิญสงครามกลางเมืองในปี 2011
ปัจจัยที่ 2 คือ อุปสงค์หรือความต้องการซื้อน้ำมันที่ลดลงในหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่นและหลายชาติในทวีปยุโรป โดยมีข้อเท็จจริงที่ว่า ในขณะที่สหรัฐฯ ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมาเรื่อยๆ แต่อีกหลายประเทศไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขากำลังประสบปัญหา ซึ่งนั่นกระทบต่อความต้องการน้ำมัน
ยกตัวอย่างเช่นใน ยุโรป ซึ่งเคยบริโภคน้ำมันเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 15.3 ล้านบาร์เรล ในปี 2009 กลับลดลงเหลือต่ำกว่า 14.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2013 และลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่นั้น สถานการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นด้วย
ส่วนปัจจัยที่ 3 คือ ความก้าวหน้าของประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ ปัจจุบันรถยนต์ในสหรัฐฯ ใช้เชื้อเพลิงน้อยลงกว่าเมื่อก่อน เพราะรถยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปี 2014 รถยนต์สหรัฐมีอัตราการใช้น้ำมันเฉลี่ย 25.3 ไมล์ต่อแกลลอน ดีขึ้นกว่าในปี 2008 ที่น้ำมัน 1 แกลลอนสามารถทำให้รถวิ่งได้เพียง 20.8 ไมล์
ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทำให้เกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจในชาติสมาชิกโอเปกบางประเทศ เนื่องจากทำให้รายได้ลดลง ส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณ และเริ่มมีการพิจารณาหาทางลดการใช้จ่ายของรัฐบาลแล้ว เช่นที่เวเนซุเอลา ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโล ประกาศหลังการประชุมเอเปก ว่าเขาจะตัดเงินเดือนตัวเองและเจ้าหน้าที่รัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของการลดงบประมาณประเทศ
...
ส่วนที่รัสเซีย อีกหนึ่งผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของโอเปก กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ คาดการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เศรษฐกิจของประเทศจะหดตัวลง 8-10% ในปี 2015 เพราะการส่งออกน้ำมันสำคัญต่อรัสเซียมาก วิกฤติราคาน้ำมันในปัจจุบันทำให้มูลค่าเงินรูเบิลของรัสเซียหายไปประมาณ 40% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
เหล่าผู้สังเกตการณ์ต่างกล่าวโทษว่า การลดลงของค่าเงินรัสเซีย เป็นผลมาจากกำไรของการส่งออกน้ำมันที่ลดลง และการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ที่ต้องการลงโทษรัสเซียกรณีเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์ในประเทศยูเครน
อย่างไรก็ตาม แม้ชาติผู้ส่งออกน้ำมันจะกำลังลำบากเพราะวิกฤติราคาตกต่ำ แต่ แอนดรูว์ โคลคูฮวน นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 'ฟิตช์ เรตติง' สาขาฮ่องกง มองว่า การลดลงของราคาน้ำมันดิบกำลังช่วยเหลือเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย
โคลคูฮวน ระบุว่า ประเทศเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ เป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ดังนั้น การลดลงของราคาน้ำมันเท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่พวกเขา และผลกระทบใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาจะเก็บหรือใช้จ่ายรายได้นั้นหรือไม่
...
ในรายงานของฟิตช์ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อไม่กี่วันก่อน ระบุว่าจีนและชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของเอเชียส่วนใหญ่ จะมีเงินได้มากขึ้นจากการลดลงอย่างมากของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะไทย ที่ใช้รายได้ของประเทศกว่า 15% ไปกับนำเข้าน้ำมัน มากที่สุดในภูมิภาค และเห็นได้ว่า ไทย, มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย เริ่มลดการสนับสนุนหรืออุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นมักเป็นรายจ่ายก้อนโตของรัฐบาลกันแล้ว
แต่ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนระบุว่า ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้นก่อนที่ราคาน้ำมันจะฟื้นฟูกลับมาอีกครั้ง โดย แจ็ค เจอราร์ด ประธาน สถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน กล่าวว่า ปริมาณความต้องการน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น และราคาจะหาจุดสมดุลของมันเองได้ในที่สุด.