อินโดนีเซีย...ได้ออกกฎระเบียบ ควบคุมการนำเข้าสินค้าพืชสวน หลายฉบับ
พร้อมทั้ง.....จำกัดด่านนำเข้าสินค้าผักและผลไม้สด จากเดิมที่อนุญาตให้นำเข้าได้ทุกด่านลดเหลือเพียง 4 ด่าน...คือ
ด่านท่าเรือ Belawan เมืองเมดาน ท่าเรือ Soekarno-Hatta เมืองมาคาสซ่า ท่าเรือ Tanjung Perak เมืองสุราบายา และด่านท่าอากาศยาน Soekarno-Hatta กรุงจาการ์ตา...แนวนโยบายนี้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยค่อนข้างสูง.....โดยเฉพาะกับ หอมแดง
เนื่องจากบ้านเราเป็นประเทศหนึ่งที่ส่งสินค้าหอมแดงไปตลาดอินโดนีเซีย (ไทยมีพื้นที่ปลูกหอมแดง ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน ราว 71,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 128,000 ตัน) ซึ่งพิกัดของด่านตามเงื่อนไขนั้นอยู่ไกลออกไป อาจเกิดปัญหาการเน่าเสียได้
คุณอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า...ที่ผ่านมา สำนักวิจัยพัฒนาอารักขาพืชได้ดำเนินการสำรวจศัตรูพืชกักกันในพื้นที่ปลูกหอมแดงทั่วประเทศ ผลสำรวจพบว่า ไทยไม่มีราเขม่าดำ (Smut) อันเป็นศัตรูพืชกักกันที่อินโดนีเซียกำหนด รวมถึงศัตรูพืชกักกันอื่นๆด้วย
“......โดยกรมวิชาการเกษตรได้ยืนยันข้อมูลให้อินโดนีเซียทราบแล้ว ล่าสุดทางกระทรวงเกษตรอินโดนีเซียได้จัดส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงาน IAQA เข้ามาตรวจประเมินพื้นที่ปลอดศัตรูพืชในหอมแดง ตั้งแต่แปลงผลิตหอมแดงมาตรฐานจีเอพี (GAP) รวมถึงระบบการควบคุมศัตรูพืช โรงคัดบรรจุ และศักยภาพห้องปฏิบัติการทางด้านกักกันพืช...”
ซึ่ง....เจ้าหน้าที่ IAQA มีความพึงพอใจในระบบการผลิตหอมแดงและระบบการควบคุมศัตรูพืชของไทย พร้อมทั้งขอข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติม อาทิ รายชื่อแปลงปลูกหอมแดงที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แผนพื้นที่ปลูกหอมแดงของไทย เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมภายในเดือน (ธันวาคม) นี้
...
กรมวิชาการเกษตร....จึงได้เสนอพื้นที่ปลอดศัตรูพืช หรือ Pest Free Area (PFA) เพราะ ประเทศไทยไม่มีศัตรูพืชกักกันตามข้อกำหนดของอินโดนีเซีย พร้อมเร่งผลักดันให้ กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียยอมรับ PFA กับหอมแดงของไทย เพื่อให้ส่งเข้าได้ทุกด่านทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะท่าเรือกรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นด่านนำเข้าหลักของสินค้าจากไทย
คาดว่า...ฤดูกาลเก็บเกี่ยวหอมแดงในปีการผลิตนี้คงผ่านเข้า อินโดฯ....อย่างฉลุย..!!
ดอกสะแบง