นิรโทษกรรมและความปรองดอง กลับมาเป็นประเด็นถกเถียงกันอีกครั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่านิรโทษกรรมกับการปรองดองเป็นคนละเรื่องกันและในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” นายกรัฐมนตรีขอให้ สปช., สนช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวางรากฐานการปฏิรูปที่มีธรรมาภิบาล ลดความขัดแย้ง อย่าเอาประเทศไปเสี่ยงภัยต่อสู้กัน

ก่อนหน้านี้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาการจัดทำรัฐธรรมนูญ เสนอให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้นิรโทษกรรมผู้ที่ถูกกล่าวหาทำผิดกฎหมายในการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างปี 2548 ถึง 2557โดยอาจรวมถึงบรรดาผู้นำการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อให้คนไทยหันหน้ามา ปรองดองและเคารพความเห็นต่าง

แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรี เสนอว่า การนิรโทษกรรมจะต้องให้ ประชาชนยอมรับก่อนออกเป็นกฎหมาย มิฉะนั้นอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งใหม่ ส่วนการออกกฎหมายอาจทำได้หลายทาง เช่นให้ สนช.เสนอร่างกฎหมายเองหรือให้รัฐบาลเสนอร่างต่อ สนช. หรือให้ คสช.ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 44

จึงไม่มีฝ่ายใดเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากเมื่อพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรม คนไทยบางส่วนจะไม่ไว้วางใจ เพราะเคยเป็นเหตุสำคัญนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ยืดเยื้อ ระหว่างปี 2556 ถึง 2557 และจบลงด้วยรัฐประหาร เนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เริ่มต้นด้วยการล้างความผิดให้ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง

แต่บานปลายกลายเป็น“นิรโทษกรรมสุดซอย” ลบล้างความผิดให้ทุกคน รวมทั้งผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังของรัฐบาล เมื่อพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมจึงหวั่นกลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เข้าทำนอง “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ แต่พอเหลาๆไปกลายเป็นบ้องบัญชา” และถ้าเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำทั้งฉบับในขั้นตอนต่างๆที่จะต้องผ่าน

...

แต่ถ้าต้องการปรองดองจริงและไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ควรจะแยกเรื่องนิรโทษกรรมออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญและออกเป็นกฎหมายต่างหาก ผ่านความเห็นชอบของ สนช.หรืออาจใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 รวมทั้งศึกษาข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

คอป.ซึ่งศึกษาปัญหาหลายปี ทำรายงานเสนอแนะและเตือนรัฐบาลไว้เมื่อปี 2555 ว่าแม้นิรโทษกรรมอาจนำไปสู่การปรองดอง แต่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ลบล้างความผิดให้ตนเอง ต้องไม่นิรโทษกรรมแบบครอบคลุมทั่วไป แบบเหวี่ยงแหหรือสุดซอย ต้องกำหนดความผิดและเงื่อนไขที่จะนิรโทษกรรมให้ชัดเจนและเฉพาะ เจาะจง แต่เป็นคำเตือนที่ถูกเมิน.