"นิพิฏฐ์" มองข้ามช็อต ชี้แก้ผิดจุด ยก รธน.50 เทียบ จวก กมธ.ให้ข่าวสับสน ชี้สัญญาณอันตราย 2 พรรคใหญ่คัดค้าน ฟันธง รธน.ไม่ผ่าน! ถึงผ่านก็อายุสั้น
วันที่ 5 ธ.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. และอนุ กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้มีการลดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการในองค์กรอิสระว่า ตนมองข้ามจุดนี้ไป เพราะเห็นว่า เป็นเพียงเรื่องเล็ก หรือส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่สาระ แก้ไม่ถูกจุดไม่ตรงปัญหา เพราะปัญหาหลักไม่ได้เกิดจากเรื่องเหล่านี้ แต่เกิดการไม่ยอมรับการตรวจสอบ การใช้อำนาจที่ละเมิด หรือใช้อำนาจเกินตัวของผู้มีอำนาจ
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า ตนขอเปรียบเทียบการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 กับที่กำลังทำกันอยู่ จะเห็นว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 จะมีระบบและตัวแทนของฝ่ายยกร่างฯ ในการให้ข่าวผ่านสื่อสารมวลชน จะมีน้ำหนักและมีแนวคิดที่ตกผลึกไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่มั่ว ให้ข่าวขัดแย้งกันเอง ทั้งที่เป็น กมธ.สปช. หรือ อนุ กมธ.ยกร่างฯ ทั้งที่ปี 50 แนวคิดในการทำประชามติ มีความต่างกันชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์หนุนให้ผ่าน พรรคเพื่อไทยประกาศไม่หนุน แต่เมื่อมีการดีเบตของฝ่ายยกร่างบุคลากร อาทิ นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายนรนิต เศรษฐบุตร หรือนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ต่างพูดไปในแนวทางเดียวกัน มีน้ำหนักจนโน้มน้าวคนที่อยู่ตรงกลาง ให้หันมาโหวตหนุนจนรัฐธรรมนูญปี 50 ผ่าน
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แต่ครั้งนี้แค่การเสนอระบบเลือกตั้งของ กมธ.ชุดต่างๆ หรือแม้แต่ในชุดเดียวกันเอง ก็ยังขัดแย้งกัน ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ต่างคนต่างแย่งกันพูดเพื่อเป็นข่าว เช่น ระบบการเลือกตั้ง โมเดลเยอรมัน หรือการเลือกนายกฯ และ ครม.โดยตรง ที่พูดจนคนสับสน และไม่สร้างความประทับใจให้คนฟัง ไม่มีการชี้แจงอธิบาย ที่สำคัญ สปช.ไม่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง เวลานี้จึงเหมือนอยู่บนทางสองแพร่ง คือ พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับ สปช. ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น กรณี โมเดลระบบเลือกตั้งเยอรมัน หรือการเลือกตั้งนายกฯ-ครม.โดยตรง
...
ฟันธงหากทำประชามติ ไม่ผ่าน "ถือเป็นการสะท้อนสัญญาณให้ต้องคิดแล้วว่า สองพรรคที่เคยเห็นต่างในปี 50 มาวันนี้ มาเห็นพ้องว่ารัฐธรรมนูญที่จะออกมาน่าจะสร้างปัญหา ถ้า 1.รัฐบาล หรือ สปช.ใจดียอมให้มีการทำประชามติว่า ประชาชนจะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใหัผ่านมีผลบังคับใช้หรือไม่ วันนี้ก็เหมือนเปิดถ้วยแทงแล้ว คือ ไม่ผ่านแน่นอน" นายนิพิฏฐ์ กล่าว หรือประกาศใช้ทันทีเชื่อ รธน.อายุสั้น
นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า หรือ 2. หากรัฐบาล หรือ สปช.ไม่ให้ทำประชามติ แต่ประกาศให้มีผลบังคับใช้เลย ก็ถือว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ซ่อนความขัดแย้งของคนในสังคม อาจจะใช้ได้แต่มีอายุสั้นแน่นอน ซึ่งคนยกร่างเขารู้ทางก็อาจจะเขียนดักไว้ว่า ห้ามมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ก่อน 4-8 ปี ก็ยิ่งเหมือนทำให้คนในสังคมอึดอัด เปรียบเหมือนต้มน้ำ ไม่มีรูพวยกาให้ระบาย ไม่นานหม้อก็ระเบิด ที่สุดแล้วเมื่อมีแรงกดดันต่อรัฐบาลชุดนั้นๆ เชื่อว่าก็ต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญนี้อยู่ดี จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวในอนาคต ตนให้ข้อคิดแนะนำได้เท่านี้" นายนิพิฏฐ์ กล่าว.