การประท้วงในเมืองเฟอร์กูสันเริ่มสงบลง หลังประท้วงเดือดมา 2 คืน เนื่องจากฝนและหิมะตก ขณะที่ผู้ว่าฯรัฐมิสซูรี ปฏิเสธไม่ตั้งคณะลูกขุนชุดใหม่เพื่อพิจารณาเรื่องการสั่งฟ้องนายตำรวจผู้ยิงวัยรุ่นผิวสีอีกครั้ง...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ท้องถนนในเมืองเฟอร์กูสัน ในรัฐมิสซูรี เริ่มกลับเข้าสู่ความสงบในช่วงคืนวันพุธที่ 26 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่น) หลังประชาชนออกมาประท้วงอย่างรุนแรงในช่วง 2 วันที่ผ่านมา เพราะไม่พอใจที่คณะลูกขุนใหญ่มีคำตัดสินเมื่อคืนวันจันทร์ ไม่สั่งฟ้องดำเนินคดีต่อ ดาร์เรน วิลสัน ตำรวจผิวขาว ผู้ก่อเหตุยิงนาย ไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นผิวสีอายุ 18 ปี จนถึงแก่ความตายทั้งที่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ

นายวิลสัน ซึ่งขณะนี้ถูกย้ายไปปฏิบัติงานอื่น ก่อเหตุยิงนายบราวน์ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. อ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องชีวิตของตัวเอง ส่งผลให้ชาวเมืองเฟอร์กูสันซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน และมีปัญหากับตำรวจและนักการเมืองประจำเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนขาวมาอย่างยาวนาน ออกมาประท้วงอย่างรุนแรง

สถานการณ์ที่ล่าสุดเมืองเฟอร์กูสัน ชานเมืองเซนต์หลุยส์ การประท้วงเบาบางลงในช่วงค่ำวันพุธ มีผู้ประท้วงเพียงไม่กี่สิบคนออกมาชุมนุมกันหน้าสำนักงานตำรวจเมืองเฟอร์กูสัน ท่ามกลางหิมะที่ตกลงมา เป็นบรรยากาศที่ตรงข้ามกับเมื่อวันจันทร์ ที่ผู้ชุมนุมนับพันออกมาชุมนุม ก่อเหตุวางเพลิง, ปล้นร้านค้า และปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีเสียงปืนซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นของฝ่ายใดดังขึ้นเป็นระยะ ขณะที่การประท้วงขยายไปหลายรัฐในวันอังคาร มีผู้ถูกจับกุมทั่วประเทศกว่า 400 คน

...

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐมิสซูรี รวมถึงหลายส่วนในภูมิภาคตะวันตก กลาง และชาวฝั่งทางตะวันออก เลือกที่จะอยู่ภายในบ้าน เรื่องจากสภาพอากาศมีฝน และหิมะตกหนัก แต่ยังผู้ชุมนุมหลายร้อยคน ออกมาประท้วงการฆาตกรรม ไมเคิล บราวน์ ที่เมืองโอคแลนด์, ลอสแอนเจลิส และซาน ดิเอโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ที่นครลอสแอนเจลิส ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนรวมตัวกันปิดเส้นทางจราจรในขณะที่พวกเขาเดินขบวนในย่านใจกลางเมือง พลางตะโกนว่า "ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติ" ขณะที่ตำรวจเผยว่า มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมราว 50 คน ในข้อหาขัดขืนคำสั่งให้ยุติการชุมนุม

ส่วนที่เมืองโอคแลนด์ ประชาชนอย่างน้อย 200 คน ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนพ่นสีวาดภาพกราฟิติไว้ตามกำแพง, ป้ายโฆษณา และจุดจอดรถประจำทาง รวมถึงทุบทำลายกระจกหน้าร้านขายของ ก่อนที่จะไปเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดักรออยู่หน้าศาลาว่าการเมือง ขณะที่ในเมืองซาน ดิเอโก ผู้ประท้วงประมาณ 300 คนเดินขบวนอย่างสงบในเขตซิตี้ ไฮส์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเคลื่อนขบวนตามไปด้วย

อีกด้านหนึ่ง มีผู้ประท้วงกว่า 5,000 คน ชุมนุมกันที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร โดยถือป้ายโจมตีการเหยียดสีผิว ตะโกนคำขวัญเหมือนในสหรัฐฯ ว่า “ชีวิตคนดำก็มีความหมาย” และ “ยกมือขึ้น อย่ายิง” ซึ่งในกลุ่มผู้ที่ออกมาชุมนุมในลอนดอน มีครอบครัวของนายมาร์ค ดักเกน ชายผิวสีผู้ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในลอนดอนเหนือเมื่อปี 2011 และเป็นชนวนให้เกิดเหตุความไม่สงบครั้งใหญ่ที่สุดในอังกฤษรอบหลายทศวรรษ

ขณะที่รัสเซียออกมาโจมตีสหรัฐฯว่า การจลาจลในเฟอร์กูสันและการประท้วงอื่นๆ ทั่วสหรัฐฯพิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มผู้ให้ร้ายรัสเซียในรัฐบาลสหรัฐฯเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอก ไม่อยู่ในฐานะจะมาสั่งสอนรัสเซียเรื่องสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรัฐมิสซูรี ทำให้ผู้ว่าการรัฐอย่างนาย เจย์ นิกสัน ต้องเรียก กองกำลังป้องกันชาติ (National Guard) จำนวนประมาณ 2,200 นาย ไปประจำการที่เมืองเฟอร์กูสันและพื้นที่โดยรอบ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจท้องถิ่น แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เรียกเจ้าหน้าที่มาช้าเกินไปและไม่เพียงพอ

นายนิกสันยังปฏิเสธข้อเรียกร้องที่จะให้ตั้งคณะลูกขุนชุดใหม่ขึ้นมาตัดสินคดีนายบราวน์ ส่วนครอบครัวของบราวน์แถลงว่ารู้สึกถูกบดขยี้แหลกสลายด้วยคำตัดสินของคณะลูกขุน ด้านเหล่าคนมีชื่อเสียงในสหรัฐฯ รวมทั้งดารานักร้อง ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้คว่ำบาตรคำตัดสินของคณะลูกขุนในวัน “แบล็ก ฟรายเดย์” 28 พ.ย. หลังวันขอบคุณพระเจ้าใน 27 พ.ย.

...

อนึ่ง เมืองเฟอร์กูสันมีประชากรประมาณ 21,000 คน โดย 63% เป็นคนผิวสีชาวแอฟริกันอเมริกัน และอีก 34% เป็นคนขาว และสมาชิกสภาปกครองท้องถิ่นก็เป็นคนขาว โดยสถิติในปี 2013 พบว่า ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ถูกตำรวจเรียกให้จอดข้างทางกว่า 85% เป็นคนผิวสี และอัตราคนผิวสีที่ถูกตำรวจจับกุมก็มีมากกว่าคนขาวถึง 2 เท่า