"ถูกไฟช็อตของลับ ถูกใช้ถุงพลาสติกคลุมแบบไร้อากาศหายใจ ถูกทุบตีด้วยนวม-สมุด เพื่อไม่ให้เกิดรอยแผล" คุณคิดว่ามีวิธีทรมาน "ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา และผู้ต้องขัง" แบบอื่นอีกหรือไม่? แน่นอน มันไม่ได้มีแค่นั้น แต่มันมีมากถึง 27 วิธี! คำถามที่ตามมา คือ เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ในการกระทำจริงหรือ แล้วผู้ถูกกระทำล่ะ มีสิทธิ์อะไรหรือไม่?...
เสนอไปแล้ว 2 ตอน สำหรับสกู๊ปออนไลน์แบบซีรีส์ เปิดโปงกลจับแพะ แฉสารพัดทรมานโหด ที่เล่าถึง แพะในตำนาน และ 2 เคสกรณีศึกษาที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ มาถึง EP.3 นี้ เรื่องของ "สมศักดิ์ ชื่นจิตร" พ่อของลูกชายที่ถูกตำรวจ สภ.ปราจีนบุรี ทำร้ายร่างกาย เพื่อให้รับสารภาพคดีกระชาดสร้อยคอทองคำ จาก EP.2 ยังอยู่ที่นี่ด้วย เพื่อพูดคุยถึงช่องโหว่ของกระบวนยุติธรรม และการต่อสู้ของเขา
สมศักดิ์ เล่าให้ "เฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ฟังว่า หลังจากที่เกิดเหตุกับลูกชาย (อ่านเรื่องราวของลูกชายสมศักดิ์ได้ที่นี่) เมื่อทราบว่าลูกถูกทำร้าย ทำให้ต้องเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกชาย และเขาก็ได้พบว่า "กระบวนการยุติธรรม" ยังมีช่องโหว่อีกเยอะ เช่น เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับ สภ.ปราจีนบุรี แต่ตนไม่สามารถแจ้งความได้ หรือกลับมาแจ้งความที่ สภ.บ้านสร้าง ก็ไม่ได้อีก เพราะว่าเหตุไม่ได้เกิดที่นั่น ทำให้ตนเองต้องเดินหน้าร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ มากมาย แต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้า จนเวลาล่วงเลยมานาน 5 ปี
...
สมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า หลังจากที่เดินหน้าเรียกร้องสิทธิ์ให้ลูกตนเอง มีคนเสนอเงินจำนวนหนึ่งให้ แต่เขาไม่ขอรับ
"ผมไม่รับ ผมจะตอบลูกผมได้อย่างไรว่า ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน ตอนที่ลูกผมกำลังตาย ผมไม่ได้อยู่กับเขา เขาอยู่คนเดียว ต้องสู้คนเดียว ต้องออกอุบายคนเดียว ถ้าผมรับเงิน ถามว่าเรื่องมันจบมั้ย เรื่องมันจบครับ แต่ผมตอบลูกไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าผมกลัวมั้ย ผมกลัวสิ แต่ความกลัวมาก จะทำให้ความถูกต้องไม่เกิด ทำให้วันนี้ผมสู้หมด ผมไม่มีเพื่อนในวงการตำรวจ ผมจบแค่ ป.7 แต่ผมก็จะสู้ต่อไป ทุกวันนี้ ก็เจอคนข่มขู่เยอะให้เลิกสู้สักที ผมไปอยู่หน้าร้าน (บ้านของเขาทำธุรกิจขายอะไหล่) ไม่ได้นะ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร"
สมศักดิ์ เล่าต่อว่า ตอนนี้ตนเองต้องอยู่อย่างระแวง วันดีคืนดี มีคนพยายามทำให้เขาต้องเป็นผู้กระทำผิด ฐานทุจริต หรือวันหนึ่งมีเอกสารจากอำเภอ ระบุว่าเขาเป็นผู้เสพยาเสพติด ขอให้ไปบำบัด แต่เขาระวังตัวดี รอบคอบ มีหลักฐานเอกสารครบครัน พร้อมสู้ตลอด ซึ่งขณะนี้เรื่องของลูกชาย สมศักดิ์ อยู่ระหว่างการรอการชี้มูลจาก สำนักงานคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรณีเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย ซึ่งคดีนี้ ยังไม่ใช่คดีความแต่อย่างใด
"ไม่ว่าลูกผมจะผิด คุณก็ไม่มีสิทธิ์มาทำร้ายลูกผม กักลูกผมไม่ให้ติดต่อพ่อแม่ มันพูดคำนี้ได้เลย ลูกโดนคนเดียว แต่ล้มทั้งบ้าน ทุกคนในบ้านเสียใจ และทุกข์กับเรื่องนี้หมด ถูกทรมานหมด อย่างผม แม้ผมไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกาย แต่เขาทำลูกผม มันเป็นการทรมานทางใจนะ"
อีกบุคคลหนึ่งที่ "เฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ติดต่อเพื่อพูดคุย นั่นคือ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทย องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ขับเคลื่อนการต่อต้านโทษประหารชีวิต และการทรมาน "ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา และผู้ต้องขัง" โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ (อ่านแถลงการณ์ของแอมเนสตี้เกี่ยวกับเรื่องนี้)
ช่องโหว่การทรมานในประเทศไทย
พรเพ็ญ เปิดเผยภาพคร่าวๆ ของการทรมานว่า กระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐต่อคดีใดคดีหนึ่ง หลายครั้งที่มีขั้นตอนของ "การทรมาน" ร่วมด้วย เนื่องจากเป็นคดีอาชญากรรม อุกฉกรรจ์ มีความสะเทือนใจ เช่น คดีข่มขืน คดีฆาตกรรม ยาเสพติด คดีเหล่านี้ ทำให้ผู้ต้องสงสัยอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถพบคนภายนอกได้ จับไปอยู่ในสถานที่ลับ ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตโดยรัฐ ไม่แจ้งข้อกล่าวหา แสวงหาข้อเท็จจริง และคำสารภาพ ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงถูกปฏิบัติอย่างไม่มีมนุษยธรรม
...
พรเพ็ญ กล่าวอีกว่า หากว่ากันตามกฎหมาย ผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐจะมีเวลา 48 ชั่วโมง ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นั่นคือ “สิทธิ์” ในการติดต่อบุคคลที่เขาไว้ใจ เช่น เพื่อน ครอบครัว หรือพบทนาย พบแพทย์ได้ ซึ่งเป็นสิทธิรับรองในกฎหมายไทย
"ข้อมูลที่องค์กรได้รับเกี่ยวกับการทรมาน อันแรก คือ จากญาติ ที่อยากร้องเรียน เพราะบุคคลนั้นจะเข้าถึงบุคคลที่ 3 ไม่ได้เลย หรือยาก บางทีญาติจะรู้ว่าถูกทำร้าย เมื่อเข้าสู่กระบวนการบุติธรรม มีบันทึกจับกุม มีการตั้งกล่าวหาแล้ว ซึ่งมีหลายขั้นตอนที่ไม่ได้มีการจัดการเรื่องสิทธิ์ ยิ่งถ้ามีการใช้กฎหมายพิเศษ ระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวยืดออกไปอีก ยืดเวลาไม่พบใครไปได้อีก เช่น ก.ม.อัยการศึก คุมตัวได้ 7 วัน ไม่มีหมายจับ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ 30 วัน"
นอกจากนี้ การถูกคุมตัวเป็นเวลาโดยไม่ได้ติดต่อใครนั้น เป็น "สิทธิ์แรก" ที่ผู้ถูกควบคุมตัวจะต้องรู้ว่าตนเองมีสิทธิ์ที่จะพบใครได้บ้าง หรือหากถูกทำร้ายร่างกาย และเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ผู้ต้องควบคุมตัวมี "สิทธิ์ที่ 2" ในการบอกว่าตัวเองเจออะไรมาบ้าง
...
"การไม่ได้พบบุคคลภายนอก ขณะที่ถูกคุมตัวทำให้เกิดความเสี่ยง ถ้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือ ไปศาล เขาต้องรู้สิทธิ์ของเขา ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข้อจำกัด บางทีตอนมาเจอศาล ไม่ได้แบบตัวต่อตัว เจอผ่านทีวีบ้าง ซึ่งการพูดว่าตัวเองเจออะไรมาจึงต้องอาศัยความกล้า เพราะเจ้าหน้าที่ยังอยู่"
เปิดวิธีทรมานสุดโหด
การทรมานในที่นี้ พรเพ็ญ ย้ำว่า มันคือ "การปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกควบคุมอย่างไม่มีมนุษยธรรม" เริ่มตั้งแต่ การไม่ให้ข้าวให้น้ำ อยู่ในห้องมืด ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัว ใช้ไม้มัดนวม หรือพันผ้า ช็อตในที่ลับ ขังเดี่ยวเป็นเวลานาน เมื่อออกมาก็กระทบต่อสายตา ซึ่งแตกต่างจากวิธีการสมัยก่อนที่มักจะพบบาดแผลตามร่างกาย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก คือพยายามทำไม่ให้เกิดบาดแผลตอนที่พบสาธารณชน
"เมื่อก่อนจะเห็นว่าหน้าตาปูด มีแผล ปากแตก สิ่งเหล่านี้ลดลงไปมาก บวกกับการรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่รู้เรื่องสิทธิ์ และกฎหมายระบุว่า คำสารภาพ เอาไปใช้ในศาลไม่ได้ แต่ทั้งนี้ เจ้าหน้าถ้าไม่บังคับก็จะไม่ได้ข้อมูลด้วย จึงคิดวิธีทรมานเพื่อไม่ให้เกิดบาดแผล ให้ผู้ถูกควบคุมใกล้เคียงกับความตายระยะสั้นๆ อยู่ในภาวะที่หวาดกลัว ก็อาจต้องพูด ให้ข้อมูลในสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องการ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่เกิด 5-6 ครั้ง ถ้าเจ้าหน้าที่ให้สิทธิ์รับรู้ข้อกล่าวหา พบทนายความ หรือพบแพทย์ สิ่งเหล่าก็จะถูกเปิดเผย เราไม่แน่ใจว่า สิ่งที่พูดออกไปตอนเฉียดตาย เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า อาจเกิดแพะตัวต่อๆ ไปอีก หรือเปล่า"
...
"เฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ถามต่อถึงตัวอย่างของการทรมานที่มีช่องโหว่ หรือหมกเม็ดแบบใดได้บ้าง พรเพ็ญ ยกตัวอย่างไปที่กรณีจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า บางครั้งการทรมานเกิดขึ้นในระหว่างการจับกุม และการเคลื่อนย้าย หรือควบคุมตัว เช่น เกิดในรถ เมื่อถึงสถานที่ที่จะไป เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า "เขาจะหลบหนี" จึงต้องทำร้าย
"หรือกรณีจับกุมไปแล้ว และถูกมัดมือแล้ว ไม่นานก็เสียชีวิต ขั้นตอนการควบคุมตัว ทำงานไม่โปร่งใส เขาจะหลบหนีจริงหรือไม่ เราไม่รู้ นอกจากนี้ ที่สามจังหวัดชายแดนใต้ยังใช้นวม เพื่อไม่ให้บาดแผล ซึ่งอันนี้เป็นการส่งต่อความโกรธแค้น ทำร้ายต่อกันด้วย หรือการให้ทำท่าทางออกกำลังหายเป็นเวลานาน สั่งให้ก้าวขาขึ้นลง เป็นร้อยๆ ครั้ง หรือการขุดหลุมฝัง ทางภาคเหนือ ก็มีสถานที่ลับ เพื่อหลอกว่าจะกลบ จะฝัง หรือให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวทำร้ายกันเอง เพื่อให้เกิดความกลัว"
เหตุจูงใจ "เค้นคำรับสารภาพ"
อย่างที่ทราบว่า "เหตุจูงใจ" การทรมานผู้ถูกควบคุมนั้น ส่วนใหญ่มาจากคดีสะเทือนใจ เป็นที่สนใจจากประชาชน และสื่อมวลชน ทำให้เจ้าหน้าที่กดดันในการดำเนินคดี ทำงานอบู่บนความคาดหวังของประชาชน อยู่ในภาวะของ "สังคมเรียกร้อง" และจะเพิ่มมากขึ้น หากคดีดังกล่าวเป็นคดีที่โยงกับความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ก็อาจมีประเด็นเรื่อง "ทำผลงาน" ให้ตัวเองด้วย ขณะเดียวกัน “ความรู้สึกร่วม หรือความเห็นใจเหยื่อ” ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง
"เจ้าหน้าที่เองก็อาจกดดัน หรือเห็นใจเหยื่อ ที่เป็นเด็ก เป็นผู้หญิง เป็นผู้ด้อยโอกาส อาจทำให้ เจ้าหน้าที่รับรู้ความู้สึกของผู้เสียหายเข้ามา และทำความรุนแรง เช่น ภาคใต้ เกี่ยวข้องกับการระเบิด เผาโรงเรียน มองว่าอาชญากรรมที่ร้ายแรง เป็นการทำเพื่อชาติ"
ต้องส่งเสริมเรื่อง "สิทธิมนุษยชน"
"แม้เค้ากระทำความผิด การทรมานเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ควรทำลายกัน โดยเฉพาะผู้นั้นเป็นเจ้าหน้าที่นั้น มีอำนาจหน้าที่ มาทำร้ายประชาชน แม้เราเป็นประชาชนที่ไม่ดีก็ตาม"
พรเพ็ญ เน้นย้ำว่า การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใดๆ แม้ผู้นั้นคือผู้ต้องหาที่แท้จริง แต่ต้องวิธีการอื่นที่เข้าสู่ประบวนการที่สังคมให้โอกาส และเขาจะสำนึกเอง แต่หากใช้วิธีบีบคั้น ทำร้ายกัน ความโกรธแค้น ไม่ใช่แค่คนเดียว แต่เกิดครอบครัว ชุมชน กลุ่มประชาชนของเขา
"มันสะท้อน และกระทบไปหมด ถ้าเราผิดพลาด เราเรียกว่าห้ามโดยเด็ดขาด ต้องใช้วิธีไม่ใช่การทรมาน แต่เป็นการปฏิบัติไร้มนุษยธรรมวิธีอื่นๆ ก็ถือเป็นการทรมาน รวมถึงจิตใตด้วย แต่ทั้งนี้ กฎหมายมีรองรับ แต่ยังไม่สมบูรณ์ ใครทำร้ายร่างกายกัน มีความผิด แต่การกระทำที่เกิดจากอำนาจรัฐ กฎหมายยังมีช่องโหว่ เช่น ถ้าเหตุทำร้ายเราเกิดสถานีนี้ เราก็ต้องแจ้งความสถานีนี้ แต่ถามว่า เจ้าหน้าที่จะให้เราแจ้งความมั้ย นอกจากนี้ อยากให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพิ่มข้อหา และเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำด้วย"
พรเพ็ญ บอกอีกว่า เพียงแค่เจ้าหน้าที่ และผู้ถูกควบคุมรู้สิทธิ์ของตัวเองยังไม่พอ จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลาง เพื่อพิสูจน์ความจริง "ว่าถูกซ้อมจริงหรือไม่" "เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจริงหรือไม่" ซึ่งต้องมีทั้ง แพทย์ ทนายความ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีความ ต้องเป็นอิสระ
"ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมศักยภาพ เช่น กล้องดีๆ คนที่รู้เรื่องการตรวจสอบหลักฐานทางโทรศัพท์ ตรวจสอบภาพ ไม่ใช่ให้ตำรวจทำเองทุกอย่าง และต้องจับคนร้ายด้วย ซึ่งตำรวจจะต้องทำให้ทุกคนปลอดภัย และถ้าจับคนร้าย แล้วคนไม่เชื่อก็จบ นอกจากนี้ ก็ต้องส่งเสริมให้ญาติรู้สิทธิ์ของตัวเอง"
"การทรมาน" เพื่อให้ได้มาซึ่ง "คำสารภาพ" โดยไม่เคารพของผู้อื่น เป็นช่องโหว่ กฎหมายไม่ครอบคลุม การทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นช่องโหว่ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำงานทุกอย่าง รวมถึงถูกกดดันจากสังคม เป็นช่องโหว่ และการที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์ ก็เป็นช่องโหว่ อีกเช่นกัน ติดตามมุมมองจากตำรวจในประเด็น "เปิดโปงกลจับแพะ แฉสารพัดทรมานโหด" ตอนต่อไปได้ในวันพรุ่งนี้.