เตือนภัยโลกร้อน–นายบัน คี มูน (กลาง) และคณะกรรมการรัฐบาลระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (ไอพีซีซี) แถลงผลรายงานฉบับที่ 5 ของไอพีซีซี ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ระบุว่า อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในรอบ 8 แสนปี และต้องหาทางลดให้เหลือศูนย์ ภายใน ค.ศ.2100 (รอยเตอร์)

คณะกรรมการรัฐบาลระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือไอพีซีซีของสหประชาชาติ เผยแพร่รายงานด้านสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. โดยเตือนว่าหากมนุษยชาติไม่อยากเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศครั้งหายนะแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกจะต้องดำเนินมาตรการในเรื่องการใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตก๊าซคาร์บอนต่ำ ภายในปี 2593 หรือ 36 ปีหลังจากนี้ และถ้าเป็นไปได้ ก็ควรที่จะหยุดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง ภายในปี 2643 หรือปีเริ่มต้นศตวรรษที่ 22 อีก 86 ปีหลังจากนี้

รายงานดังกล่าวมีขึ้นหลังจากผู้เชี่ยวชาญจาก 195 ชาติสมาชิกไอพีซีซี ได้จัดประชุมถกเถียงกันเป็นเวลานานกว่าสัปดาห์ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งนอกจากคำเตือนขั้นต้นแล้ว ในรายงานยังได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่น่าวิตกกังวล ไม่ว่าการที่โลกเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยมาหนักสุดในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.85 องศาเซลเซียส ซึ่งสำหรับซีกโลกเหนือนั้นถือว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 1,400 ปี หรือการที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 19 เซนติเมตร จากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ไปจนถึงระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์เป็นผู้ก่อในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณมากถึง 1 ล้านล้านตัน

นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นก็อาจแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว โดยหากมนุษย์ยังปล่อยให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อทะเล มีค่าความเป็นกรดมากขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็วและกะทันหัน ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา สัตว์หลายชนิดที่มนุษย์ต้องพึ่งพาอาจสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ ตามมาด้วยปัญหาเรื่องที่อยู่ ปัญหาด้านอาหารขาดแคลน นำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร

...

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า ก่อนที่การทำรายงานจะสรุปผล ได้มีผู้เชี่ยวชาญจากชาติสมาชิกบางประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการเลิกพึ่งพาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งยังมีกลุ่มที่เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องมาก่อนการควบคุมปริมาณคาร์บอน ขณะที่นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาแล้ว ถึงเวลาที่บรรดาผู้นำจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะเวลาไม่รอเราอีกต่อไป.