“ปฏิบัติการไทยรัฐ” ตรวจสอบการแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ผิดประเภท พบว่ามี 2 มาตรฐาน พื้นที่ ส.ป.ก.4-01 หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ที่มีการนำที่ดินเพื่อการเกษตรไปสร้างหอพักและร้านค้า ใช้ “พะเยาโมเดล” เรียกคืนที่ดินและให้เช่าทำประโยชน์ ส่วนที่นครราชสีมามีการถือครองเปลี่ยนมือทำรีสอร์ต โดยเฉพาะที่ อ.วังน้ำเขียว และ อ.ปากช่อง ส.ป.ก.เดินหน้าดำเนินคดีฟ้องศาลหมด ขณะที่รอง ผวจ.พะเยา อ้าง “พะเยาโมเดล” เป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ นำไปใช้ที่อื่นไม่ได้
จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรและผู้ที่บุกรุกที่ดินถือครองที่ดินไม่ถูกต้อง ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร อย่างถูกต้อง และแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าและที่ดินราชการ รวมทั้งให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาให้บังคับใช้กฎหมาย โดยคำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์ด้วยนั้น
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ว่า มอบนโยบายให้นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ไปสำรวจการถือครองที่ดิน สปก.4-01 ที่ได้จัดสรร ไปแล้วทั่วประเทศ ตรวจสอบว่ามีการถือครองและใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยให้เวลาการสำรวจภายใน 1 ปี และการตรวจสอบของ สปก. พบการใช้ที่ดินผิดปกติ 416,983 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้จัดสรร 284,377 ไร่ พื้นที่ที่จัดสรรแล้ว 132,606 ไร่ มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไปแล้วทั้งสิ้น 124 ราย แยกเป็นที่ดินแปลงใหญ่ 12 ราย รีสอร์ต 10 ราย บุกรุกและลักลอบขุดดิน 102 ราย
อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐ ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ จัดปฏิบัติการตรวจสอบการแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดิน สปก.ผิดประเภท พบว่าการแก้ไขปัญหาการครอบครอง และการใช้ที่ดิน สปก.4-01 ของ สปก. กำลังกลายเป็นปัญหาที่ถูกจับตามองว่า มีการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐาน โดยเฉพาะที่ดิน สปก. 4-01 รอบบริเวณมหาวิทยาลัยพะเยา ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา นับพันไร่ ที่เคยเป็นข่าวใหญ่มาแล้ว เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ สปก.บางคนสมคบกับข้าราชการ นักการเมือง และนายทุน ฮุบที่ดิน สปก.4-01 ของชาวบ้าน นำมาขายสวมสิทธิขายให้นายทุน แล้วนำที่ดินไปก่อสร้างอาคารหอพักใหญ่โต ร้านอาหารจำนวนมาก กลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นมา แต่เจ้าหน้าที่ สปก.ไม่เข้าไปดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย หลังทีมข่าวไทยรัฐเปิดโปงเรื่องดังกล่าว เจ้าหน้าที่ สปก.ก็แก้ไขปัญหาให้พ้นผิด ด้วยการยึดพื้นที่ สปก.4-01 เหล่านั้นกลับมาให้ผู้ครอบครองพ้นผิด แต่ไม่มีการดำเนินการรื้อถอนอาคารในพื้นที่แต่อย่างใด
...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินการแก้ปัญหาการใช้ที่ดินผิดประเภทของ จ.พะเยา ต่างกับจังหวัดอื่นที่มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและดำเนินคดี อีกทั้งพยายามจะแก้ปัญหาโดยการโอนที่ดินให้เป็นของราชพัสดุหรือกรมธนารักษ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีชื่อครอบครองเดิมเช่าทำประโยชน์ ทั้งๆที่ยังไม่มีการพิสูจน์สิทธิที่ครอบครองตั้งแต่ต้นที่แท้จริง เนื่องจากผู้ครอบครองปัจจุบันมีทั้งนายทุนและนอมินีจาก จ.เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ที่เข้าลงทุนในพื้นที่หลายร้อยล้านบาท ปัจจุบันนายวิบูลย์ รวยสิน สปก. จ.เชียงราย รักษาการ สปก. จ.พะเยา ใช้มาตรา 30 วรรค 5 ของ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 มาตรา 30 วรรค 5 ให้ สปก.มีอำนาจในการจัดสรรที่ดินให้แก่บุคคลใด หมายรวมถึงบุคคลธรรมดา นิติบุคคล เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อใช้สำหรับกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ มาใช้ในการแก้ปัญหาอาคารกว่า 300 แห่ง ที่สร้างในที่ดิน สปก.4-01 รอบๆมหาวิทยาลัยพะเยา โดยเปิดให้เช่าที่ดิน มีรายได้นับแสนบาทต่อเดือน และกลายเป็น “พะเยาโมเดล” ที่หลายจังหวัดจะใช้เป็นแบบอย่างบ้าง
เกี่ยวกับปัญหา “พะเยาโมเดล” นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รอง ผวจ.พะเยา ได้รับมอบจากนายชูชาติ กีฬาแปง ผวจ.พะเยา ให้ดูแลรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่ดิน สปก. ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การแก้ปัญหาพื้นที่ สปก.4-01 หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ไม่ใช่ “พะเยาโมเดล” ที่จะนำไปเป็นต้นแบบการใช้ที่อื่นได้ พื้นที่แห่งนี้ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหามาตลอด จนมีการเตรียมที่จะนำไปมอบให้กรมธนารักษ์ให้เข้ามาดำเนินการหาผลประโยชน์ หลายฝ่ายก็นำเสนอ แต่เมื่อมาดู พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินฯ พบว่าปฏิรูปที่ดินสามารถนำที่ดินที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้แล้วมาหาผลประโยชน์ได้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่ปฏิรูปที่ดินจะนำที่ดินไปมอบให้กระทรวงการคลัง และให้กรมธนารักษ์นำไปเก็บหารายได้ เนื่องจากค่าเช่าของปฏิรูปที่ดิน เก็บค่าเช่าที่ดูแลสูงกว่ากรมธนารักษ์จะนำไปจัดเก็บ รายได้จากการให้เช่าของสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จะไม่เกี่ยวกับทางจังหวัดเลย สปก.จัดเก็บก็นำเข้ากองทุนของปฏิรูปที่ดินเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขปัญหาที่ดิน สปก. 4-01 หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ปัจจุบันเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ นายนิมิตตอบว่ามันมีระเบียบรองรับ หากไม่มีระเบียบรองรับใครจะกล้าทำ ส่วนที่ใช้คำว่า “พะเยาโมเดล” ก็ขอบอกว่า “พะเยาโมเดล” มันมีในระเบียบอยู่แล้ว ส่วนระเบียบตัวนี้ตนขอพูดตรงๆเลยว่ามันไม่สามารถจะนำไปปฏิบัติที่แห่งอื่นได้ อย่างเช่น จ.ภูเก็ต ก็มีเรื่องปฏิรูปที่ดิน มีการบุกรุกและนำที่ดินไปทำรีสอร์ต โรงแรม หากเปรียบเทียบ ที่ดิน สปก.4-01 หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ก็นำมาทำบ้านเช่าหรืออาคารหอพัก แต่ราคาที่ดินหน้ามหาวิทยาลัยพะเยาอยู่โซนลึกเข้าไป เป็น สปก.แต่ริมถนนเป็นพื้นที่โฉนด และราคาพื้นที่ สปก. แต่เดิมทราบว่ามีการซื้อขายกันในราคาตารางวาละไม่กี่พันบาท แต่ในช่วงหลังเพิ่งมาขึ้นราคากัน
“ที่ภูเก็ต ที่วังน้ำเขียว มีการทำรีสอร์ต และพยายามจะมาเอาระเบียบ สปก.ไปจัดระเบียบมันทำไม่ได้ เพราะที่ภูเก็ตที่ดินตารางวาละเป็นหมื่นๆ ไม่ใช่ตารางวาเป็นร้อยเป็นพันอย่างพะเยา ที่ภูเก็ตซื้อกันแปลงละ 10-20 ล้านบาท เมื่อซื้อมาแพงและในวันรุ่งขึ้นกลายเป็นจะต้องมาตกในสภาพเป็นผู้เช่า ถามว่าใครจะยินยอม แต่ที่ดิน สปก. 4-01 หน้า ม.พะเยา ซื้อกันในราคาแปลงละหมื่นละแสนเท่านั้น แล้วนำมาลงทุนสร้างอาคารกัน เมื่อตรวจพบก็ขอให้นำที่ดินมาทำให้ถูกกฎหมาย มาเสียค่าธรรมเนียมให้เทศบาลและให้ สปก.เพื่อจะได้นำเงินมาพัฒนา แก้ไขปัญหาพื้นฐาน เทศบาลฯและ สปก.ไม่สามารถจะไปลงทุนทำตรงพื้นที่ตรงนั้นได้ จะจัดระเบียบก็ทำไม่ได้ สู้มายอมกันทำให้ถูกต้องดีกว่า เจ้าของพื้นที่อาคารก็เห็นว่าไม่เสียหายมากก็ต้องยอม จึงมาทำสำเร็จได้ที่ จ.พะเยา สำหรับ จ.ภูเก็ต ชาตินี้ทั้งชาติก็ทำไม่สำเร็จแน่ หากไม่ยึดคืนแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า” นายนิมิตกล่าว
...
ด้าน จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีปัญหาการใช้ที่ดิน สปก.4-01 ผิดประเภทเช่นกัน แต่มีการแก้ปัญหาต่างจาก จ.พะเยา นายเลิศศักดิ์ สุขสวัสดิ์ ปฏิรูปที่ดิน จ.นครราชสีมา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การตรวจสอบที่ดินในเขตพื้นที่ สปก.ของ จ.นครราชสีมา ทั้ง 32 อำเภอ มีประมาณ 3 ล้านไร่ การตรวจสอบเรื่องการบุกรุกคงต้องทำเป็นระยะๆไปโดยตลอด ต้องทำทั้งหมด ส่วนเบื้องต้นที่มีการบุกรุกพื้นที่ สปก.หรือการนำที่ สปก.ไปใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ตามข้อมูลที่ สปก.ส่งมาให้เป็นภาพถ่ายทางอากาศมา มีอยู่กว่า 1,000 แปลง กระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ทั้ง 32 อำเภอ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว, อ.ปากช่อง ที่มีปัญหา เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานการแก้ไขปัญหามีอยู่ 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.ส่วนที่ออกเอกสารแล้วมีการซื้อขายกันตรงนี้ก็ต้องตรวจสอบ และ 2.กรณีประเด็นที่เป็นรีสอร์ต หมายถึงมีบุคคลจากข้างนอกกว้านซื้อที่ดินต่อแล้วมาทำรีสอร์ต ทาง สปก.ฟ้องไปแล้วประมาณ 10 คดี ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจธรรมดา ตอนนี้ยังพบว่ามีนักการเมืองด้วย ได้ดำเนินการฟ้องตามขั้นตอนไปแล้ว โดยฟ้องให้รื้อถอนรีสอร์ตออกแล้วเรียกค่าเสียหาย คดีทั้งหมดยังอยู่ในชั้นศาล อยู่ระหว่างรอคำตัดสินของศาล