จากข่าวการพบปลาชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายฉลาม ความยาวประมาณ 1 เมตร น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม บริเวณสะพานท่าเรือบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง จึงมีผู้ที่ถ่ายคลิปไว้แล้วนำมาเผยแพร่ หลายคนมองว่าเป็นฉลามและมีความกังวลเกี่ยวกับการลงเล่นน้ำทะเลในจังหวัดระยอง
"ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" หาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า ปลาฉลามแบ่งออกเป็นหลายชนิด โดยปัจจุบันพบแล้วกว่า 440 ชนิด สำหรับในน่านน้ำไทย ในทะเลอันดามันมีการสำรวจพบปลาฉลามแล้วประมาณ 41 ชนิด ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นฉลามหูดำ ฉลามหนู จึงขอสัมภาษณ์ไปยังผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยได้ข้อมูลว่าเป็น "ฉลามหนู" ว่ายตามแหล่งอาหารเข้ามา ซึ่งปกติฉลามชนิดนี้มักหากินตามชายฝั่ง มีนิสัยไม่ค่อยดุร้าย
นายบำรุงศักดิ์ ฉัตรอนันทเวช ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เปิดเผยว่า บริเวณที่พบเป็นเขตหวงห้ามของโรงงาน โดยห้ามบุคคลภายนอกเข้า และอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร ส่วนฉลามที่ทางพนักงานของโรงงานได้ถ่ายคลิปวิดีโอไว้เป็น “ฉลามหนู” มีลักษณะนิสัยไม่ค่อยดุร้าย หากินตามชายฝั่งทะเล
ผอ.ศูนย์วิจัยฯ วิเคราะห์ต่อว่า ปกติแล้วฉลามหนูจะไม่ค่อยเข้ามาใกล้ชายฝั่งทะเลมากนัก เนื่องจากว่ามีคลื่นลมแรง เกิดตะกอนของทรายปะทะเข้ามาทำให้มีฉลามหนูระคายเคืองดวงตา เป็นอันตรายกับตัวมัน จึงไม่ค่อยเข้ามาใกล้ชายฝั่ง สำหรับสาเหตุที่พบเจอในครั้งนี้เป็นเพราะช่วงบริเวณสะพานจะเกิดร่มเงาใต้น้ำ ซึ่งเหล่าสัตว์น้ำอาศัยอยู่เยอะ ฉลามหนูจึงว่ายตามอาหารมา แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยพบฉลามหนูบริเวณน้ำตื้น เพียงแค่เราว่ายน้ำตีขาแกว่งขามันก็ตกใจว่ายหนีคนหรือพบว่ากลิ่นไม่ใช่อาหารมันก็ว่ายหนีไปเช่นกัน ฉลามบ้านเราจะตัวไม่ใหญ่ โชคร้ายจริงๆ ถึงจะโดนแต่ก็น้อยมาก
...
"แม้ที่ผ่านมาจะพบเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ปัจจุบันจะหาฉลามยากขึ้น เพราะถูกล่าจากกลุ่มประมง เพื่อนำไปทำเป็นอาหาร วอนขอผู้พบเห็นอย่าทำร้ายหรือดักจับ เพราะเหลือจำนวนน้อยมากแล้ว อยากให้รักษาระบบนิเวศชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ " ผอ.ศูนย์วิจัยฯ กล่าว
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ปี 2546 ตอนทะเลไทย ชี้แจงว่า สิ่งมีชีวิตที่พบบริเวณโรงงาน ใน จ.ระยอง นั้น ไม่ใช่ปลาฉลามแต่อย่างใด แต่สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นคือ ปลาช่อนทะเล ตัวใหญ่ขนาด 1 เมตร พบเห็นได้ทั่วไป ชาวประมงพบเจอค่อนข้างบ่อย ในขณะที่ปัจจุบันฉลามมีจำนวนน้อยและหายากมาก เพราะถูกมนุษย์ล่าเพื่อทำไปปรุงอาหารจนหมด
ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่า สถิติฉลามกัดคนเสียชีวิตทั่วโลกมีประมาณ 5 คนต่อปี บาดเจ็บ 20-30 คนต่อปี โอกาสที่มนุษย์จะโดนฉลามกัดในประเทศไทยค่อนข้างน้อยมากๆ เนื่องจากว่าไม่ค่อยพบฉลามมานานมากแล้ว ส่วนใหญ่โดนล่าเพื่อทำไปปรุงอาหาร และที่สำคัญฉลามที่ดุร้ายที่สุด คือ ฉลามขาว, ฉลามเสือ ไม่พบในประเทศไทย
ดร.ธรณ์ อธิบายถึงวิธีป้องกันเมื่อเจอฉลาม โดยย้ำว่าห้ามว่ายหนีหรือตะเกียกตะกายหนีเด็ดขาด เพราะฉลามเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้คล้ายกับสุนัข เมื่อเราหนีโอกาสที่ฉลามจะว่ายตามมีสูง ฉะนั้นหากเราพบเจอให้มองหน้าอยู่นิ่งๆ ถ้าฉุกเฉินให้ใช้มือไปแตะที่จะงอยจมูกฉลาม เมื่อมันว่ายหนีไปเราจึงค่อยๆ ถอยออกมา
“ในเมืองไทยหมดห่วงเรื่องฉลามกัดคนได้เลยครับ เพราะว่าพบเจอน้อยมากแล้วถูกล่าไปทำอาหารจนหมด คนไทยอย่าไปกลัวหรือกังวลเรื่องฉลามเลยครับ มีอย่างอื่นน่ากังวลกว่า” สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ทะเลไทย กล่าวทิ้งท้าย