ในยุคหนึ่ง ตำราเรียนหลายประเทศระบุว่า “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” นักสำรวจจากสาธารณรัฐเจนัว (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลีในปัจจุบัน) คือ “ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา” หลังโคลัมบัสแล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาขึ้นฝั่งที่ทวีปอเมริกา ซึ่งตามมาด้วยการอพยพชนชาติต่างๆจากยุโรปมาตั้งรกรากที่ “โลกใหม่” จนกระทั่งเกิดการก่อตั้งสหรัฐอเมริกา
ขึ้นมา ทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีในสหรัฐฯ ทุกวันนี้ยึดถือวันที่โคลัมบัสขึ้นฝั่งอเมริกาเป็นวันเฉลิมฉลองให้แก่บรรพบุรุษชาวอิตาลี ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมทุกๆปี
แต่จากการค้นพบของนักประวัติศาสตร์ยุคหลัง ทำให้รู้ว่าโคลัมบัสนั้นเข้าใจผิดคิดว่าตนเองค้นพบทวีปเอเชีย จึงได้เรียกชนพื้นเมืองที่พบในทวีปอเมริกายุคนั้นว่าชาว “อินเดีย” และชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆก็อยู่บนดินแดนแห่งนี้มาก่อนโคลัมบัสนานแล้ว เมื่อเกิดขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯจึงได้ส่งผลให้เกิดข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนชื่อ “วันโคลัมบัส” เป็น “วันชนพื้นเมือง” แทนในยุคหลังๆ เพื่อเป็นเกียรติแก่ “ผู้บุกเบิกตัวจริง”
รัฐเซาท์ดาโกตาเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ประกาศเปลี่ยนชื่อวันโคลัมบัสมาเป็นวันเฉลิมฉลองชนพื้นเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2532 ขณะที่บางรัฐในสหรัฐฯ ไม่ได้ประกาศให้วันโคลัมบัสเป็นวันหยุดราชการแต่อย่างใด
และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สภาบริหารเมืองมินเนอาโพลิส รัฐมินเนโซตา ได้ลงมติรับรองการเปลี่ยนชื่อวันโคลัมบัสเป็นวันชนพื้นเมืองอย่างเป็นทางการ ตามด้วยสภาฯ เมืองซีแอตเติล ในรัฐวอชิงตัน ซึ่งเพิ่งลงมติไปหมาดๆ
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. และสมาพันธ์ชนพื้นเมืองของสหรัฐฯสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เต็มที่ โดยตัวแทนของสมาพันธ์ได้ประกาศผ่านสื่อชัดเจนว่า “ไม่มีใครค้นพบอเมริกาหรอก...แม้แต่โคลัมบัส”
...
จะมีก็แต่กลุ่มลูกหลานชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีที่รู้สึกว่าอยู่ๆก็ถูกยึดวันสำคัญทางเชื้อชาติของตัวเองไป จึงประกาศว่าจะยื่นอุทธรณ์คัดค้านการเปลี่ยนชื่อวันโคลัมบัสให้กลับมาเป็นอย่างเดิมในอนาคตให้ได้ แต่คำค้านจะสำเร็จหรือไม่ก็ต้องดูกันต่อไป
เพราะประวัติศาสตร์อาจเปลี่ยนได้ ถ้ามีเหตุผลรองรับที่ “เข้าท่า” และตรงกับบริบทที่จำเป็นมากกว่านี้ในอนาคต.
ตติกานต์ เดชชพงศ