สปสช.เผยยกเลิกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)เป็น สปสช.สาขาจังหวัด มีผล 1 ต.ค. คงกลไก ม.41 ดูแลปัญหาบริการและ ความเสียหายทางการแพทย์...
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประกาศยกเลิกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็น สปสช.สาขาจังหวัด ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น ในส่วนของการดำเนินงานตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิดนั้น ทาง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขได้มีการหารือกัน และมีข้อสรุปว่า กลไกการช่วยเหลือตามมาตรา 41 ยังคงอยู่ในระดับจังหวัดเช่นเดิม และให้นายแพทย์ สสจ.คงทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการมาตรา 41 ต่อไป เพียงแต่อาจปรับกระบวนการดำเนินการ รวมทั้งแก้ประกาศ สปสช.โดยมอบอำนาจให้ สสจ.ทำหน้าที่ จากเดิมที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ผอ.สปสช.จังหวัด ทั้งนี้จะนำเสนอให้ บอร์ด สปสช.พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 15 ตุลาคม นี้ รวมถึง คกก.มาตรา 41 ก็ยังทำหน้าที่พิจารณาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับความเสียหายจากให้บริการทางการแพทย์ด้วย
ด้านนายศุมล ศรีสุขวัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้ทำหนังสือถึงสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาให้ นพ.สสจ.ทำหน้าที่เลขานุการคณะอนุกรรมการมาตรา 41 โดยทาง สธ.ได้ทำหนังสือตอบรับแล้ว ดังนั้น หลังจากนี้ สสจ.ยังคงทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการมาตรา 41 เช่นเดิม
...
โดยหลักการของมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ถูกกำหนดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิด และจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เนื่องจากกระบวนการช่วยเหลือนั้นจะมีกลไกเจรจาเพื่อทำความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและผู้แทนภาคประชาชนในการเข้ามีส่วนร่วมตั้งแต่การรับเรื่องร้องทุกข์ไปจนถึงการพิจารณาการช่วยเหลือ ที่ผ่านมามีผู้ได้รับการช่วยเหลือเฉลี่ยปีละกว่าพันราย โดยปี 2556 อยู่ที่ 1,182 ราย ขณะที่ปี 2557 ณ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ 1,092 ราย.