กรรมการ ป.ป.ช. วิชา มหาคุณ พูดถึงเรื่องที่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ ป.ป.ช.เพิกถอน มติให้ สนช.เปิดเผยรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณชน ว่า เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เกิดบรรทัดฐาน ส่วนข้อโต้แย้ง ของ สนช.ที่ชี้แจงว่าไม่มีตำแหน่งทางการเมือง เพราะอาจคิดว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนเรื่อง การถอดถอนคดีนักการเมือง การที่จะส่งเรื่องให้ สนช.หรือไม่นั้น ป.ป.ช.ต้องกลับมาดูรายละเอียดว่า เข้าข่าย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประเด็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พอจะจับหลักการได้ว่า โดยปกติการแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.แบ่งเป็นสองกรณีคือ ยื่นบัญชีทรัพย์สินแต่ไม่เปิดเผย และยื่นบัญชีทรัพย์สินและต้องเปิดเผยกับสาธารณชนด้วย ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร นายกฯ และ ครม. ยื่นและต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วย แต่ตำแหน่ง ส.ส.และ ส.ว.ข้าราชการประจำยื่นแต่ไม่ต้องเปิดเผย

ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 ได้กำหนดให้ทั้ง นายกฯ รมต. ส.ส. และ ส.ว. ต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเหมือนกันหมดถือว่า

เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนตำแหน่งข้าราชการประจำใน ตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามปกติแต่ไม่ต้องเปิดเผย

เพราะฉะนั้น ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ผู้บัญชาการในกองทัพและข้าราชการระดับสูง ก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่มีการเปิดเผย มาคราวนี้เมื่อมารับตำแหน่ง สนช. ที่ ป.ป.ช.ตีความว่าเมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ทำหน้าที่แทนวุฒิสภาก็ให้ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินด้วย

แต่ฝ่าย สนช.เห็นว่า ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เป็นกฎหมายหลักไม่ได้กำหนดให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน จะอ้างข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ถูกฉีกไปแล้วมาใช้บังคับก็จะเป็นการไม่ถูกต้อง จึงไม่ควรมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่อย่างใด อีกทั้งการทำหน้าที่ของ สนช. ก็ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง เพียงแต่ทำหน้าที่แทน ส.ว.เท่านั้น

...

สุดท้ายเรื่องก็โยงมาถึงการให้อำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.อ้างว่าประเด็นนี้จะให้เลขาธิการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทำหนังสือส่งคืนสำนวนพิจารณาคดีถอดถอนที่ส่งมาถึง ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 50 ก่อนรัฐประหาร เพื่อให้ ป.ป.ช.พิจารณาข้อกฎหมายใหม่ ถ้าจะอ้างตามรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งปัจจุบันไม่มีการบังคับใช้แล้ว ป.ป.ช.จะอ้างกฎหมายใด ซึ่งเป็นคนละกรณีกับอำนาจการถอดถอนของ สนช.ว่าสมควรหรือไม่ด้วย

ข้อขัดแย้งระหว่างองค์กร และข้อขัดแย้งทางกฎหมายที่จะเชื่อมโยงระหว่างก่อนการยึดอำนาจกับหลังการยึดอำนาจระหว่าง รัฐธรรมนูญชั่วคราวกับกฎหมายที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 กำลังจะกลายเป็นหนังเรื่องยาว.

หมัดเหล็ก