เสน่ห์ลุ่มลึกของ “ทางอีศาน” นิตยสารรายเดือน (บริษัทชนนิยม โทร. 08–6378–2516) ไม่เพียงอยู่ที่เสนอเนื้อหาเรื่องราวในอีสาน แต่เมื่อมีคนอีสานจำนวนหนึ่ง ไปลงหลักปักฐานอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ จึงมีเรื่องหลากหลายของชีวิตและชุมชนในภาคใต้รวมเข้าไปด้วย

ทางอีศาน ฉบับเดือนสิงหาคม 2557 ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ เขียนเรื่องตารีอีนานาฏลีลาแห่งบุปผามลายู ซึ่งวันนี้ยังมีอยู่แห่งเดียว ณ พื้นที่ 6 หมู่บ้าน สามแยก หรือบ้านวากัฟซีกู ตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

รากศัพท์ของคำ “ตารีอีนา” เป็นภาษามลายู มีความหมายรวมว่า รำ

คำว่า ตารี แปลตรงตัวว่า เทียน และอีนาแปลว่าดอกไม้ ที่สตรีมลายูนำมาตำหรือบดสะกดเอาสีมาทาประดับที่เล็บ

การรำตารีอีนา ในเวลานี้ นิยมรำกันในพิธี เข้าสุหนัต (การขริบปลายอวัยวะเพศชายมุสลิม) หรืองานแต่งงาน

การรำจบลง โดยผู้รำนำดอกเทียนมาทาที่เล็บบ่าวสาว หรือเด็กที่จะเข้าพิธีสุหนัต

เดิมทีการรำตารีอีนา เป็นนาฏศิลป์ของชาวมลายูปัตตานี กลันตัน ร่ายรำกันภายใน วังสุลต่าน หรือเจ้าเมือง สืบทอดกันมายาวนาน กว่า 200 ปี

อดีต...ผู้รำเป็นชายล้วน แต่งกายคล้ายชุดของมะโย่ง ศิลปะการแสดงอีกประเภทของมลายู

มีผู้รำ 3-5 คน นักดนตรีกับเครื่องดนตรี 6 ชนิด คือกลองมลายูใหญ่ กลองมลายูเล็ก ฉิ่ง ปี่ชวา ฆ้องฆู่ และจานัง

การแสดงมีอยู่สามลีลา คือ ตารีอีนามะโย่ง ตารีอีนาซีลัต และตารีอีนามโนราห์

มีเรื่องเล่าต่อๆกันมา ในอดีตกษัตริย์มาเลเซียมักส่งศิลปะตารีอีนา เข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในโอกาสต่างๆ

ครั้งหนึ่ง ครูมโนราห์จากไทยได้ไปอาศัย อยู่ในมลายู มีเพื่อนสนิทเป็นอาจารย์ดีกา หรือ “ซีลัต”

ทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ในที่สุดก็ร่วมกันประยุกต์ท่าร่ายรำอ่อนช้อยของมโนราห์ ไปรวมกับท่าร่ายรำซีละ ศิลปะการต่อสู้มือเปล่า ที่เคลื่อนไหวอย่างสง่างามของชาวมลายู...จนกลายเป็นท่ารำตารีอีนา

...

ชาวไทยพุทธ เรียกตารีอีนาว่า“ มโนราห์ มลายู”

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อธิบายไว้ว่า ศิลปะในประเทศไทย ระยะแรกได้รับอิทธิพลจากความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณ อำนาจลี้ลับ

ศิลปะตารีอีนา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงผลักของศาสนาและความเชื่อของคนรุ่นก่อน ว่าสามารถใช้ในพิธีบำบัดผู้ป่วย แต่ความยากในการเข้าถึงศิลปะการร่ายรำของตารีอีนา เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ศิลปะนี้ค่อยๆสูญหาย

จุดเด่นของตารีอีนา อยู่ที่ท่าร่ายรำอ่อนช้อยสวยงาม ไปตามจังหวะเสียงดนตรีบรรเลงสดชวนเร้าใจ รวมกับความแข็งแกร่งของร่างกาย โดยเฉพาะท่ารำสะพานโค้ง เป้าหมายใช้ปากคาบธนบัตรหรือ เหรียญที่ผู้ชมมอบให้ โดยวางไว้กับพื้น

หรือการรำแบบซีลัต ผู้รำต้องใช้เวลาฝึกยาวนาน จึงจะรำได้อ่อนช้อยและแข็งแกร่งได้พร้อมๆกัน

การแสดงตารีอีนา ใช้เวลาครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมง ท่าที่ใช้ในการรำ คือ ท่าลอดสะพานโค้ง ท่าดอกไม้บาน ตีลังกาต่อตัวม้วนตัว และการใช้ปากคาบสิ่งของบนพื้น ประกอบจังหวะดนตรี

“การฝึกตารีอีนา ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3–4 เดือน กว่าร่างกายจะอ่อนช้อยสวยงาม จากเดิมที่ใช้เด็กผู้ชาย ปัจจุบันต้องหันมาใช้เด็กผู้หญิง”

มะยะโก๊ะ ยูโซะ ครูภูมิปัญญาพื้นบ้านศูนย์ศิลปวัฒนธรรมบ้านสามแยก ตำบลกายูคละ กล่าว

มะยะโก๊ะ ยูโซะ เป็นลูกศิษย์ เปาะนิโก๊ะ หรือยะโก๊ะ อาแวอาแซ ชาวรัฐกลันตัน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านซีละและตารีอีนาของมาเลเซีย ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมญาติที่บ้านสามแยก ตำบลกายูคละ และถ่ายทอดทั้งวิชาซีและ และวิชาตารีอีนา ให้มะยะโก๊ะ พร้อมศิษย์ร่วมรุ่นอีก 3 คน

พ.ศ.2516 มะยะโก๊ะ และเพื่อน ร่วมกันก่อตั้งตารีอีนา คณะฮีตำมานิส

เริ่มแสดงครั้งแรก ก็เป็นที่นิยม เป็นที่เชิดหน้า ชูตาของชุมชน บางช่วงเวลาเคยเงียบหาย แต่บัดนี้ ได้มีการกลับฟื้นขึ้นใหม่ มีเด็กๆ ที่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไปถึงชั้นมัธยมที่ 3 ใน 9 หมู่บ้าน ฝึกซ้อมกันทุกวัน เวลา 20.00 น. ถึง 22.00น.

แบลี หรือสุไลมาน เจ๊ะแม ผู้ดูแลคณะ บอกว่า ตารีอีนา คณะฮีตำมานิส ถือเป็นตารีอีนาคณะเดียวในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ หรือถือเป็นคณะเดียวในประเทศไทยก็ได้

มีการตระเวนไปแสดงตามงานต่างๆ ทั้งภูเก็ต กระบี่ สงขลา กรุงเทพฯ และประเทศมาเลเซีย รวมทั้งเป็นตัวแทนจังหวัดด้านศิลปวัฒนธรรม ขณะนี้มีผู้รำ 2 รุ่น รุ่นเล็ก เด็กประถมและรุ่นใหญ่ เด็กมัธยม รวมกัน 25คน มีนักดนตรี 7 คน

เด็กๆมีรายได้จากการแสดง และมีโอกาสเดินทางไปเปิดหูเปิดตาในการเดินทาง ไปต่างสถานที่ สร้างความภูมิใจให้ตัวเด็กเอง พ่อแม่รวมไปถึงชาวบ้าน ที่ได้มีส่วนร่วมสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม บ่งบอกอัตลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของโลกมลายู ว่ายังมีผู้สืบทอดอย่างต่อเนื่อง.

บาราย