สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า โดย ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เสนอแนวทาง ปฏิรูปประเทศไทยด้านการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจและสังคม เอาไว้ด้วยกัน 4 แนวทาง เพื่อเสนอให้คสช.นำไปพิจารณาแก้ปัญหาการดำรงชีวิตของคนไทยต้องอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ มีสิทธิได้รับการรับรองโดยกฎหมาย เสมอภาค และยุติธรรม
มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
แนวทางที่ 1. ปฏิรูปมาตรการต่างๆเพื่อคุ้มครองและรับรองสิทธิกลุ่มคนระดับล่างและสิทธิของชุมชน ต้องได้รับการรับรองโดยกฎหมาย โดยสนับสนุนให้ตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้สิทธิชุมชนเข้ามีส่วนร่วมจัดการ
แนวทางที่ 2.ขยายมาตรการสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้คนไม่รู้สึกว่าเสียเปรียบเนื่องจากความแตกต่างฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม คนจนต้องได้รับการสนับสนุนให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการเป็นเจ้าของที่ดิน และเสมอภาคในการเข้าถึงบริการของรัฐที่มีคุณภาพทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา เช่น การปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายที่ดิน โดยจำกัดการถือครองที่ดินรายละไม่เกิน 50 ไร่
แนวทางที่ 3.ขยายมาตรการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกระจายทรัพยากรจากผู้มั่งคั่งสู่ผู้ด้อยโอกาส และเสริมสร้างมาตรการความเป็นธรรม ให้คนไทยไม่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ อาทิ การปฏิรูปภาษี ปฏิรูปประกันสังคม จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ปฏิรูประบบพลังงาน
แนวทางที่ 4.ขยายมาตรการเพื่อให้คนไทยดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยความมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ทุกฐานะต้องได้รับการเคารพ พร้อมส่งเสริมให้ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าในสังคมประชาธิปไตย ต้องปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ ปฏิรูปกลไกความเสมอภาคระหว่างเพศ
...
อันที่จริง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นำมาซึ่งวิกฤติของประเทศทั้งการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและประชาชนที่ด้อยโอกาสถูกรังแก จนกลายเป็นความกดดันชนชั้นทางสังคม
เพราะฉะนั้น คนจนผู้ด้อยโอกาสมีโอกาส ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นเรื่องที่ง่ายดายสำหรับประเทศที่อยู่ในระหว่างกำลังพัฒนา ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
ปัญหาต้นตอเกิดจาก เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กร กระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างทางสังคมให้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมอย่างยั่งยืนก็เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบหนึ่งไปสู่ระบบหนึ่ง และสงครามระหว่างชนชั้นที่กลายเป็นสงครามชิงอำนาจทางการเมืองในที่สุด.
หมัดเหล็ก