"คณะกรรมการตลาการศาลปกครอง – ก.ศป." ประชุมตั้ง "รอง ปธ.ศาลปกครองสูงสุดว่างลง 1 ตำแหน่ง" ขณะที่กระแสตุลาการชั้นต้นคัดค้านร่างกฎหมายจัดตั้งศาลฉบับใหม่-สถานะ ก.ศป.ยังไม่หยุด เมิน ส่งผู้แทนร่วมหาข้อยุติ ประธานศาลปกครองสูงสุด

วันที่ 17 ก.ย. 57 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่เหลือยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ 7 คน ซึ่งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้น จากองค์ประกอบ ก.ศป. ที่ต้องมีทั้งหมด 13 คน จากสัดส่วนตุลาการศาลปกครอง และผู้แทนคณะรัฐมนตรี และวุฒิสภา ได้เห็นพ้องกัน เรียกประชุมวาระเร่งด่วนพิจารณาแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อดำรงตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุดที่ว่างลง 1 ตำแหน่ง เนื่องจาก นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด กำลังจะเกษียณราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้

ปรากฏว่า ที่ประชุม ก.ศป. 7 คน ได้เลือก นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่ง รองประธานศาลปกครองสูงสุด แทนนายวิชัย และมีมติเลือก นายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด แทนนายชาญชัย

อย่างไรก็ดี สำหรับการพิจารณาวาระแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว เป็นเพียงการพิจารณาวาระที่ตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด ว่างลง 1 ตำแหน่ง ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งตุลาการทั้งหมดของศาลปกครอง จะมีการพิจารณาใหญ่เพียงปีละครั้ง คือ ในช่วงเดือน เม.ย.

ทั้งนี้ การเรียกประชุมดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่า นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นประธาน ก.ศป.โดยตำแหน่ง ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดย ก.ศป. แม้จะมี 7 คน เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จากจำนวน ก.ศป. ทั้งหมด 13 คน ที่จะสามารถเรียกประชุมเร่งด่วนได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 มาตรา 226 วรรคท้าย ที่ระบุว่า กรณีที่ไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี รวม 3 คน หรือมีแต่ไม่ครบ 3 คน ถ้า ก.ศป.จำนวนไม่น้อยกว่า 6 คน แต่การพิจารณาวาระดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และ ก.ศป. เรียกประชุมได้หรือไม่ เนื่องจากภายหลังการยึดอำนาจแล้วยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 โดย
ให้ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวแทน จึงอาจมีปัญหาว่า ก.ศป.ดังกล่าว สามารถเรียกประชุมได้หรือไม่ เพราะเมื่อไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับการทำหน้าที่ของ ก.ศป.แล้ว ดังนั้น ก.ศป.ที่เหลืออยู่ ไม่น่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่

...

ขณะที่แหล่งข่าวศาลปกครอง ตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาวาระดังกล่าวจะถือได้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนได้หรือไม่ ซึ่งตอนนี้สถานะความชัดเจนของ ก.ศป. ก็ยังมีปัญหาว่ายังไม่มีกฎหมายใดที่จะรองรับการกระทำไว้ โดยขณะนี้ก็ได้มีการเสนอร่างกฎหมายที่จะรองรับสถานะของ ก.ศป.ให้มีอำนาจหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ดังนั้น หากจะให้เกิดความเหมาะสมก็น่าที่จะรอให้เกิดข้อยุติเรื่องการร่างกฎหมายก่อนหรือไม่ ซึ่งเพราะภารกิจในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายตุลาการดังกล่าว ที่มีส่วนในการบริหารงานของศาลปกครอง จึงเป็นเหตุผลสำคัญหนึ่งที่จะต้องมีการเสนอร่างกฎหมายใหม่ เพื่อให้ ก.ศป.ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยชอบธรรม มีกฎหมายรับรอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี สำหรับ นายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ ก.ศป.มีมติให้ดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครอง แทนนายชาญชัย แสวงศักดิ์ ที่จะไปดำรงตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น ก็เป็นหนึ่งในตุลาการ 3 คน ที่เคยปรากฏข่าว ก.ศป. ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง นายหัสวุฒิ ประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีจดหมายน้อย  

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวศาลปกครอง กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ในการประชุมใหญ่ตุลาการเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา นายหัสวุฒิ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไว้ครบถ้วนแล้ว ซึ่งถือว่าเรื่องดังกล่าวได้ผ่อนคลายลงบ้าง โดยประธานศาลปกครองสูงสุดได้พยายามให้ฝ่ายผู้คัดค้านเสนอผู้แทนจำนวน 5 คน มาตั้งคณะทำงานร่วม แต่ฝ่ายตุลาการที่คัดค้านก็แสดงท่าทีปฏิเสธการตั้งคณะทำงานร่วม โดยวันนี้ทราบว่า กลุ่มตัวแทนของตุลาการศาลปกครองชั้นต้นได้ใช้ช่องทางยื่นหนังสือต่อ สนช.เพิ่มเติมโดยตรง แทนการตั้งคณะทำงานร่วม ซึ่งกลุ่มไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้มีการพูดถึงบทเฉพาะกาลที่ต้องการให้เขียนรับรองการกระทำของ ก.ศป. ที่ปัจจุบันเหลืออยู่ 7 คน ซึ่งประกอบด้วย สัดส่วนของตุลาการศาลปกครองสูงสุด 4 คน และศาลปกครองชั้นต้น 3 คนเท่านั้น โดยให้ตัดถ้อยคำ หรือข้อความที่จะให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ระหว่างที่ยังไม่มีการตั้ง ก.ศป. ให้ครบถ้วนตามองค์ประกอบของกฎหมายจำนวน 13 คน ก็เพราะเขาเห็นว่า ก.ศป.ที่เหลืออยู่ 7 คน ที่เป็นตุลาการทั้งหมด แต่ยังขาดองค์ประกอบบุคคลภายนอกจากฝ่ายการเมือง 3 คน ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ ขณะที่ร่างซึ่งเสนอไปในบทเฉพาะกาล ก็ได้เขียนให้รับรองการกระทำของ ก.ศป.ที่ผ่านมา รวมทั้งบัญญัติให้ที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดนั้น ได้ทำหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมี ก.ศป.ครบถ้วน 

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า เมื่อตุลาการที่ไม่เห็นด้วยจะยื่นคัดค้านเพิ่มเติม ผ่าน สนช.ในวันนี้อีกครั้ง ขั้นตอนหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่างกฎปกครอง ก็ได้เข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อ สนช.ไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ สนช.ก็ได้รับร่างที่ผู้บริหารศาลปกครองและตัวแทนสำนักงานศาล ซึ่งไม่ได้มีการคืนร่างที่เสนอไปแล้วกลับมาแก้ไข หลังจากนี้เข้าใจว่าในการพิจารณาร่างกฎหมายของ สนช. ก็คงจะเรียกตุลาการที่ไม่เห็นด้วยเข้าไปชี้แจง เหมือนขั้นตอนในการออกกฎหมายทั่วไปในชั้นแปรญัตติของกรรมาธิการ เพื่อรับฟังข้อมูลให้รอบด้านและให้ได้ข้อยุติ ก่อนที่จะพิจารณาออกกฎหมายมาบังคับใช้ 

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า การที่แสดงความไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องการแสดงออกทางวิชาการ ซึ่งไม่ได้มีการตั้งเรื่องสอบสวนว่าเป็นการกระทำผิดใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนกลุ่มตุลาการบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมาย และไปยื่นหนังสือ สนช.เพิ่มเติมในวันนี้นั้น ตนก็ไม่ทราบว่าเป็นบุคคลที่มีรายชื่อชุดเดียวกับ 101 ตุลาการหรือไม่นั้น เพราะขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายชื่อ 101 ตุลาการแต่อย่างใด

ส่วนผู้บริหารของศาลปกครองจะต้องเข้าชี้แจงต่อ สนช.อีกหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานมาจาก สนช. ว่าจะมีการเรียกเข้าชี้แจงเพิ่มเติม.