ชายชรา 2 คนในวัยกว่า 80 ถูกนำตัวขึ้นศาลในกรุงพนมเปญ คงไม่ใช่ข่าวใหญ่โตอะไรนัก หากชายในวัยไม้ใกล้ฝั่งทั้งสอง ไม่ใช่ นายนวน เจีย และนายเขียว สัมพัน สองผู้นำเขมรแดง ที่ยังมีชีวิตอยู่รอดมาจนถึงวันนี้
นายนวน เจีย ในวัย 88 และเขียว สัมพัน วัย 83 ปี ถูกนำตัวขึ้นศาลพิเศษกัมพูชา เพื่อฟังคำพิพากษาตัดสินคดี ‘ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ ชาวเขมรอย่างน้อย 1.7 ล้านคน ตั้งแต่ 35 ปีก่อน ท่ามกลางความสนอกสนใจของสื่อมวลชนจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงบรรดาชาวกัมพูชา ที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง ในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนพี่น้องร่วมชาติ ที่ถือว่าโหดเหี้ยมที่สุดในศตวรรษที่ 20
โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี รายงานจากกรุงพนมเปญว่า คดีนี้ใช้เวลา พิจารณาคดีมานานถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2556 ในที่สุดเมื่อวันที่ 7 ส.ค.57 ผู้พิพากษาศาลพิเศษกรุงพนมเปญ ได้อ่านคำพิพากษา โดยใช้เวลา 90 นาที ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต จำเลยชราทั้งสอง ด้วยความผิดในคดีก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อันเกี่ยวข้องกับการบีบบังคับให้ประชาชนโยกย้ายที่อยู่และการสูญหายของประชาชนจำนวนมากในช่วง 4 ปีที่เขมรแดงเรืองอำนาจ ระหว่างปี 2518-2522
ชายกัมพูชาคนหนึ่งถึงกับร่ำไห้และโผเข้ากอดญาติที่มาด้วย ทันทีที่ได้ยินคำพิพากษา หลังจากเขาต้องสูญเสียพ่อไปตั้งแต่วัยเยาว์ ขณะที่ มีหญิงอีกคนแอบเช็ดน้ำตาอยู่ที่บันได นอกห้องพิจารณาคดี
...
ใครบางคน อาจคิดว่า จะมีประโยชน์อะไรในการนำผู้นำเขมรแดงทั้งสอง ที่อยู่ในวัยชรา เดินเหินเองแทบไม่ได้แล้ว มารับโทษทัณฑ์จากความผิดที่ทำไว้เมื่อ 35 ปีก่อน
แต่สำหรับชาวกัมพูชา ซึ่งเคยอยู่ในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจและยังมีชีวิตอยู่รอดมาถึงวันนี้ คงได้แต่บอกว่า คนทำผิด จะต้องได้รับโทษ!!
โดยเฉพาะความเหี้ยมโหดของกลุ่มผู้นำเขมรแดงในครั้งนั้น รุนแรงเกินกว่าที่ผู้คนในยุคปัจจุบัน จะจินตนาการได้ว่า คนเราจะทำรุนแรงต่อกันได้ขนาดนี้เชียวหรือ? โดยเฉพาะเกิดมาร่วมชาติบนแผ่นดินเดียวกัน
ไม่น่าเชื่อ เพียงแค่การมีกลุ่มคน ที่ยึดมั่นในแนวความคิด หวังสร้างสังคมอุดมคติ มีความคิดแบบซ้ายสุดโต่ง คลั่งลัทธิคอมมิวนิสต์แบบสุดขั้ว ได้มีโอกาสเข้ามากุมอำนาจปกครองประเทศ จะสร้างความพินาศย่อยยับให้กับกัมพูชาได้มากมายขนาดนี้
ถือเป็นฝันร้ายของชาวกัมพูชา เมื่อเขมรแดง ภายใต้การนำของพอล พต สามารถยึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จเมื่อปี 2518 และก่อตั้ง ‘กัมพูชาประชาธิปไตย’ นำความคิดซ้ายจัดของพวกตนมาเปลี่ยนแปลงประเทศกัมพูชา โดยต้องการให้มีแต่ชนชั้นกรรมาชีพ มองนักศึกษา ปัญญาชน แพทย์ นักคิด นักเขียน ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ปกครองยาก
เหล่าผู้นำเขมรแดงต้องการให้ชาวเขมร กลับไปเป็นชนชั้นดั้งเดิมยึดถือเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพึ่งตนเอง จึงเกณฑ์ผู้คนในเมืองหลวงให้ไปใช้แรงงานด้านการเกษตร เป็นชาวนาชาวไร่ในชนบท ทำงานหนักวันละ 12 ชั่วโมง โดยไม่หยุดพัก
ช่วงเวลา 4 ปีที่เขมรแดงเรืองอำนาจ มีชาวเขมรต้องล้มตาย อดอยาก ถูกทารุณ ด้วยความคิดของเหล่าผู้นำเขมรแดง ที่ต้องการให้กัมพูชาเป็นประเทศที่มีแต่คนเชื้อสายเดียว คือ เชื้อสายกัมพูชา ชนกลุ่มน้อยอย่างชาวเวียดนาม และชาวจีน จึงถูกฆ่าตายมากมายมหาศาล ขณะที่ชาวเขมรด้วยกันเอง ยังไม่ได้รับการยกเว้น
บรรดาผู้เคราะห์ร้าย จะถูกส่งไปยังสนามแห่งหนึ่ง ตรงช่องเอกในจังหวัดกันดาล ชานกรุงพนมเปญ ซึ่งชาวเขมรรู้จักกันดีในนาม ‘ทุ่งสังหาร’ (Killings Fields) อันลือลั่น เหยื่อทั้งหมดถูกยิง ถูกตัดหัว ถูกทุบตี และถูกทรมานอีกสารพัดวิธี
อนุสรณ์สถาน เจืองเอ็ก และตุล สาเลซ เหนือนครวัด ถูกสร้างเพื่อรำลึกถึงเอกราชของชาวกัมพูชา แต่ภายในกลับเป็นที่เก็บหัวกะโหลกของชาวเขมรมากมาย ที่ตกเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งมีการประเมินว่า มีจำนวนถึงอย่างน้อย 1.7 ล้านคน จนนับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดของศตวรรษที่ 20
...
เขมรแดงปกครองกัมพูชาได้ 4 ปี ก็สิ้นอำนาจ เมื่อเขมรฝ่ายที่เวียดนามหนุนหลัง บุกเข้ายึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จ จนเขมรแดงแตกพ่าย หนีมาหลบซ่อนอยู่ตามชายแดนไทย
ส่วนชะตากรรมของเหล่าผู้นำเขมรแดง หลังจากนั้น ส่วนใหญ่ก็จบชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ในวัยชรา ขณะที่มีการตั้ง ศาลอาชญากรสงครามพิเศษ เพื่อดำเนินคดีกับบรรดาผู้นำเขมรแดง ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ แต่ก็ดำเนินการไปอย่างเชื่องช้า ด้วยความขัดแย้งระหว่างกระบวนการศาลของเขมร กับเหล่านักกฎหมายต่างชาติที่พยายามจะเข้ามาช่วยเหลือนักกฎหมายของกัมพูชา
‘พอล พต’ คือผู้นำเขมรแดง หรือ ‘พี่ใหญ่’ ที่ชาวเขมรต้องการตัวมาลงโทษมากที่สุด แต่เขาได้เสียชีวิตอย่างเดียวดาย ภายในกระท่อมที่คุมขัง ระหว่างรอพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2540 โดยนายพล ตา ม็อก บอกว่าพอล พต เสียชีวิตเพราะโรคหัวใจ ถึงแม้หลายฝ่ายพยายามจะเข้าไปพิสูจน์ศพ แต่แล้วอีกเพียงสองวันต่อมา ศพของพอล พต ก็ถูกเผาท่ามกลางกองขยะและกองยาง ไม่เหลือลายผู้นำจอมโหดของเขมรแดง
...
ส่วน ‘นายพล ตา ม็อก’ อดีตผู้บัญชาการทหารเขมรแดง ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความโหด จนได้ฉายา ‘คนฆ่าสัตว์’ และเป็นผู้นำคนสุดท้ายของเขมรแดง ก่อนเขมรแดงจะล่มสลายอย่างถาวร ในปี 2541 ได้ถูกทหารรัฐบาลกัมพูชา จับกุมในปี 2542 และเสียชีวิตในเรือนจำ เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2549 หลังป่วยหนักจากอาการความดันโลหิตสูง และวัณโรค
ขณะที่ อดีตผู้นำเขมรแดงอีกนับสิบคน ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีติดคุกบ้าง อย่าง สหายดุช หัวหน้าคุกตูล สะเลง และด้วยกระบวนการศาลที่เป็นไปอย่างอืดอาดเชื่องช้า จึงทำให้ผู้นำเขมรแดงหลายคนเสียชีวิต ก่อนจะได้รับโทษ
กระทั่งปี 2556 เหลือผู้นำเขมรแดงเพียง 3 คน คือ นวน เจีย, เขียว สัมพัน และเอียง ธีริช ที่รอขึ้นศาลพิจารณาตัดสินคดี แต่แล้ว เอียง ธีริช ก็เสียชีวิตเมื่อปี 2556 เหลือแต่เพียงนายนวน เจีย และเขียว สัมพัน เท่านั้น ที่ยังมีชีวิตอยู่รอฟังคำพิพากษาตัดสิน
‘นายนวน เจีย’ ซึ่งถูกเรียกขานว่า ‘พี่รอง’ เคยเป็นผู้นำอันดับสองของเขมรแดง รองจากพอล พต และหากพลิกแฟ้มประวัติ จะพบว่า นวน เจีย เป็นชาวกัมพูชา เชื้อสายจีน เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำงานชั่วคราวที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย
...
นวน เจีย เริ่มกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการพรรคแรงงานกัมพูชา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา โดยนวน เจีย เป็นผู้นำเขมรแดงเพียงคนเดียวที่ไม่ได้จบการศึกษาจากกรุงปารีส
ส่วน‘ เขียว สัมพัน’ เคยเป็นอดีตประธานสภาของกัมพูชาในช่วงปี 2519-2522 รวมทั้งยังดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐของกัมพูชา ขณะที่อยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง
เขียว สัมพัน เป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน เกิดที่จังหวัดสวายเรียง มีพ่อเป็นผู้พิพากษา จบการศึกษาจากวิทยาลัยสีสุวัตถิ์ และไปศึกษาเศรษฐศาสตร์และการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยปารีส จนจบปริญญาเอก และเดินทางกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยพนมเปญ และได้ตีพิมพ์จดหมายข่าวภาษาฝรั่งเศสเผยแพร่แนวความคิดสังคมนิยม
และนี่คือจุดเริ่มต้น ของการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขียว สัมพัน จนทำให้เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมพรรคสังคมของสมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ และต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเขมรแดง ในเวลาต่อมา
เขียว สัมพัน ถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวในปี 2550 เพื่อนำขึ้นศาลพิเศษคดีอาชญากรสงคราม กรุงพนมเปญ ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งในระหว่างการพิจารณาคดี เขียว สัมพัน ให้การยืนยันมาตลอดว่า ไม่เคยสั่งการในฐานะผู้นำเขมรแดงให้ฆ่าเพื่อนร่วมชาติ
แต่ในที่สุด หลังจากคณะผู้พิพากษาศาลพิเศษกัมพูชาใช้เวลาพิจารณาคดี 3 ปี จึงมีข้อสรุป ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต นวน เจีย และเขียว สัมพัน ด้วยความผิดข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมรเกือบ 2 ล้านคน ซึ่งนับเป็นการลงโทษอดีตผู้นำเขมรแดง ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด หลังจากเวลาผ่านมานานถึง 35 ปี ...