แยม เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ ที่ทำจากผลไม้ทั้งผลหรือหั่นเป็นชิ้นนำมาผสมกับน้ำตาล หรือสารให้ความหวาน หรืออาจผสมน้ำผลไม้เข้มข้น

แยมเป็นการถนอมอาหารโดยใช้น้ำตาลความเข้มข้นสูง เพื่อป้องกันการเติบโตของจุลินทรีย์

การเกิดเจลของแยมเกิดจากกรด น้ำตาล และเพกทิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มีอยู่แล้วในผลไม้ เมื่อผสมกันในสัดส่วนที่เหมาะสมจะได้แยมที่มีลักษณะเป็นเจลกึ่งเหลว มีความข้นเหนียวพอเหมาะ นำมาปาดหรือทาบนขนมทานได้ง่ายๆ

หากเราทำทานกันเองก็ไม่มีขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยาก ทำแล้วเก็บใส่ตู้เย็นไว้ทานได้เป็นสัปดาห์

แต่หากผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ก็ไม่แน่ว่าผู้ผลิตบางรายอาจเติมสารกันบูดที่ชื่อ กรดซอร์บิก ลงไปเพื่อป้องกันการเติบโตของยีสต์ เชื้อรา และแบคทีเรียที่ทำให้เน่าเสีย

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ.2547) เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้ใช้ กรดซอร์บิก เติมในอาหารได้ แต่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

สำหรับแยมกำหนดให้ใช้กรดซอร์บิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม

ตามปกติหากได้รับสารกันบูดในปริมาณไม่สูง หรืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ร่างกายจะสามารถขับออกเองได้ตามธรรมชาติ

แต่หากได้รับบ่อยครั้ง เป็นเวลานานๆ ตับและไตก็จะรับภาระหนักในการกำจัดออกจากร่างกายนานเข้าก็จะมีสารกันบูดสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพในการกำจัดสารเคมีต่างๆของไตและตับลดลง จนทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับไตและตับได้

วันนี้สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างแยมสตรอเบอร์รี่ 4 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณของกรดซอร์บิก

ปรากฏว่าแยมทุกตัวอย่างพบกรดซอร์บิกในปริมาณที่แตกต่างกันไป แต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐานของไทย.

อะไรอยู่ใน...แยมสตรอเบอร์รี่

...

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย