สธ.เผยสถิติคนไทยนิยมกินแมลงทอดตกปีละประมาณ 2 ตัน ดักแด้หนอนไหมทอดได้รับความนิยมสูงสุด รองมาคือตั๊กแตนทอด เตือนนักเปิบไม่ระวังอาจได้รับยาฆ่าแมลงที่ส่งผลอันตรายสูงสุดถึงชีวิต แนะเพื่อความปลอดภัยให้เลือกซื้อแมลงที่รู้จักและกินได้ โดยผ่านการปรุงสุกทุกครั้ง หลีกเลี่ยงน้ำมันทอดซ้ำ...
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระแสความนิยมบริโภคแมลงประเภทต่างๆ ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ชาวชนบทนิยมนำมาปรุงเป็นกับข้าว ด้วยวิธีทอด ปิ้ง ย่าง คั่ว หมก อ่อม แกงยำ และ ตำน้ำพริก แต่ปัจจุบันนิยมนำมาทอดเป็นอาหารว่างรับประทานเล่น ๆ โดยปริมาณการบริโภคแมลงทุกชนิดในประเทศไทย ตกปีละประมาณ 2 ตัน แมลงที่นิยมนำมาทอดกินมี 7 ชนิด ได้แก่ ดักแด้หนอนไหม หนอนไม้ไผ่ แมงดานา ตั๊กแตน แมลงกระชอน จิ้งโกร่ง และจิ้งหรีด แต่ที่กินมากเป็นอันดับหนึ่งคือ ดักแด้หนอนไหมทอดรองลงมาคือ ตั๊กแตนทอดแม้อาหารประเภทนี้จะมีคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากมีโปรตีนสูงแต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนสารอันตราย เช่น สารกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะตั๊กแตนที่นำมาทอดขาย ในส่วนของดักแด้หนอนไหมทอดนั้นจะพบสารฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ตกค้างอยู่มากถึง 875 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดให้มีได้น้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสารฮีสตามีนนี้ความร้อนไม่สามารถทำลายได้ ดังนั้น เมื่อรับประทานแมลงทอดที่มีฮีสตามีนสูง จะทำให้ไปเพิ่มปริมาณฮีสตามีนในร่างกายส่งผลให้เกิดอาการทั้งทางด้านผิวหนัง ระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ เช่น ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง เป็นลมพิษ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และหอบหืด เป็นต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืดจะมีอาการหนักมากจนถึงขั้นเสียชีวิต
...
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า ตั๊กแตนที่นำมาทอดขายส่วนใหญ่เป็นตักแตนปาทังก้าเป็นศัตรูพืชประเภท กัดกินใบ ซึ่งเกษตรกรมักจะใช้ยากำจัดศัตรูพืชฉีดพ่นเพื่อกำจัด โดยสารเคมีที่ใช้จะเป็นสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มคาร์บาเมต (Carbamates) เช่น Carbaryl หรือ 1-naphthyl methylcarbamate ดังนั้นสารกำจัดศัตรูพืชนี้จึงตกค้างทั้งในบริเวณปีก ลำตัว ขาของตั๊กแตน รวมถึงสะสมในตัวของตั๊กแตนด้วย ทำให้เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารจึงมีโอกาสเสี่ยงรับสารกำจัดศัตรูพืช กลุ่มนี้ อาการและความรุนแรงของการเกิดพิษจะขึ้นกับปริมาณ วิธีการ และระยะเวลาที่ได้รับสาร หากได้รับไม่มากนักจะมีอาการไม่รุนแรง ได้แก่ อาการเหนื่อย อ่อนแรง วิงเวียน คลื่นไส้ และมองภาพไม่ชัด จนถึงรุนแรงปานกลาง ได้แก่ปวดศีรษะ เหงื่อแตก น้ำตาไหล น้ำลายไหล อาเจียน สายตาแคบและกระตุก หากได้รับมากจนมีอาการรุนแรงมากถึงขั้นเป็นตะคริวที่ท้อง ปัสสาวะราด ท้องเสีย กล้ามเนื้อสั่น ม่านตาหด ความดันต่ำ หัวใจเต้นช้า หายใจขัด และหากไม่ได้รับการรักษาโดยทันทีจะเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งหากกินตั๊กแตนทอดเข้าไปแล้วภายใน 4-24 ชั่วโมง มีอาการดังกล่าวควรรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเลือกซื้อแมลงทอดให้ปลอดภัยจึงต้องเลือกแมลง ที่รู้จักและเป็นแมลงที่มีคนนำมากินได้และควรเลือกชนิดของแมลงที่อาศัยอยู่กับต้นไม้ อยู่กับป่าละเมาะสวนป่าธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ไม่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชเลย หรือแมลงที่นิยมเพาะเลี้ยงเพื่อการนำมาจำหน่าย เช่น จิ้งหรีด แมลงที่จับมาทอดจำหน่ายควรยังมีชีวิตอยู่และนำมาปรุงเป็นอาหารทันที ควรปรุงอาหารให้สุกด้วย ความร้อน เช่น คั่ว ทอด ต้ม เป็นต้น และขณะกินควรเด็ดปีก ขน ขา หรือ หนามแข็งของแมลงทิ้งไป เพื่อป้องกันการเกิด อาการแพ้กับคนได้ นอกจากนี้ควรเลือกซื้อจากผู้จำหน่ายที่มีการปกปิดอาหาร ไม่ใช้มือหยับจับอาหารโดยตรง ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า เหม็นบูด เหม็นหืน หากกินแล้วรู้สึกรสชาติผิดปกติ เช่น มีรสขม มีรสเปรี้ยว ต้องหยุดกินทันที และดูลักษณะน้ำมันที่ใช้ทอดต้องไม่เหนียว มีดำคล้ำ มีกลิ่นเหม็นหืน ฟองมาก เหม็นไหม้ และเวลาทอดมีควันขึ้นมาก แสดงว่าน้ำมันใช้มานานทำให้เกิดสารประกอบโพลาร์ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้.