เยาวชนคืออนาคตของชาติ ชาติจะเจริญรุ่งเรืองหรือไม่
ขึ้นอยู่กับเด็กวันนี้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ด้วยตระหนักในเรื่องนี้จึงเกิดโรงเรียนสอนคนดี มีคุณธรรม
ถามว่า โรงเรียนที่จะดำเนินการได้ ต้องอย่างไรถึงจะพร้อม “มันไม่มีความพร้อม แต่มันอยู่ที่ว่า เราตั้งใจจะทำหรือไม่ มันอยู่ที่ความตั้งใจ คือทุกคนต้องมาร่วมกันแล้วตั้งใจทำ คือคิดดีด้วยกันถึงจะไปได้”
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนปาฐกถาพิเศษเรื่อง การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้กับเยาวชน ในงานสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ณ โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟแอนด์สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ จัดโดยมูลนิธิไทยรัฐ
ท่านอธิบายเสริมว่า คำว่าคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเรื่องที่พูดกันมาก วิธีการที่เราจะปลูกฝังต้องเข้าใจก่อนว่า คุณธรรมและจริยธรรมประกอบด้วยอะไรบ้าง คุณธรรมเป็นเรื่องของความคิด จริยธรรมเป็นเรื่องของความประพฤติ ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น การที่เราจะปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมต้องนำด้วยความคิดและให้มีการปฏิบัติด้วย ส่วนที่สำคัญให้เด็กดำเนินการคือ ครู และผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญ ถ้าจะทำให้สังคมเป็นสังคมที่มีคนดี ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม
การเตรียมครู “ต้องทำความเข้าใจกันก่อน ตั้งแต่ผู้บริหารโรงเรียน มีคุณครูที่อาจจะถือว่ามีลักษณะเป็นผู้นำ ที่จะช่วยให้คุณครูส่วนใหญ่ร่วมมือร่วมใจกัน ส่วนสำคัญที่สุดคือ ผู้อำนวยการที่จะเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนให้กระบวนการดำเนินไปได้ เมื่อผู้อำนวยการดำเนินการแล้ว ครูจะนำนโยบายที่ ผอ.กำหนดนั้นมาถ่ายทอดสู่เยาวชน”
การกำหนดแนวทางเหล่านี้ “มีหลายแบบ หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่เรามีการทดลองกันมานานประมาณห้าปีกว่าก็คือ การให้ทุกคนมีส่วนร่วมกำหนดคำขวัญ อัตลักษณ์ของโรงเรียนขึ้นมา สมมติว่า เริ่มที่คำว่า มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ สู้งาน ช่วยเหลือผู้อื่น เรากำหนดขึ้นมาได้ว่า จะทำอะไร เมื่อทุกคนเห็นพ้องกันก็จะนำเอาอัตลักษณ์นั้นมาพิจารณาว่า การจะทำอะไรให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ ก็กำหนดขึ้นมาเป็นโครงงาน อย่างนักเรียน
...
คิดว่า ถ้าจะมีวินัยต้องทำอะไรบ้าง เช่น ต้องมีการเข้าแถวเดินตามกันจัดระเบียบก่อนเข้าห้อง นั่นเป็นลักษณะที่ดำเนินการได้ของนักเรียน ส่วนครูก็ต้องกำหนดโครงงานของครูมาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์เหล่านั้น”
เรื่องเหล่านี้ค่อนข้างลำบาก “ถ้าคุณครู ผู้อำนวยการไม่ได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ถ้าหากร่วมมือกันอย่างจริงจังแล้ว เรื่องการที่เราจะคิดดี พูดดี ทำดี ก็จะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากไม่ร่วมมือ ก็จะทำให้ความร่วมมือนั้น ถอยออกไป เพราะการจะเสร็จลงได้ ทุกคนในโรงเรียนต้องร่วมมือกัน”
ส่วนปัญหาที่ต้องการแก้ไขนั้น “เขาพูดกันว่า ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ มีปัญหาอะไรที่อยากจะแก้เขาก็มากำหนดเป็นโครงงานขึ้นมา ความดีที่อยากทำ เขาอยากจะทำอะไร อย่างเขาอยากจะพูดเพราะๆ ก็เป็นเรื่องความดีที่เขาอยากจะทำ อยากช่วยคนอื่นมีจิตอาสา ก็เป็นเรื่องที่เขาคิดขึ้นมา อยากทำความสะอาดโรงเรียนก็เป็นการทำความดี ไม่อยากให้มีขยะในโรงเรียน ก็เป็นเรื่องเขาคิดโดยเราไม่ได้แนะนำ แต่เขาคิดแล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติ โดยที่ครูต้องประคองให้สิ่งที่เด็กๆ คิดดำเนินการให้ไปได้”
การกระตุ้นให้โรงเรียนต่างๆเห็นคุณค่า แล้วหันมาสนใจนำไปปฏิบัตินั้น “เป็นเรื่องที่ถือว่า ทั้งภาครัฐและทางผู้ที่อยากจะเข้ามาช่วยต้องร่วมมือกัน ภาครัฐมีหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์คุณธรรม และกระทรวงศึกษาฯเองก็เริ่มดูว่า สองหน่วยงานทำไปเกิดผลอะไรบ้าง เริ่มมีการขยายแนวคิด แนวทางออกไป คงไม่มีแนวทางเดียว มีหลายแนวทาง จะทำอย่างไรต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อสร้างเด็กให้เป็นคนดี”
การจะให้เด็กเป็นคนดี “ส่วนสำคัญก็คือแม่พิมพ์ แม่พิมพ์ต้องเป็นแม่พิมพ์ที่ดี ไม่ใช่แม่พิมพ์ที่บิดเบี้ยว ถ้าอย่างนั้นเด็กคงจะเป็นคนดีไม่ได้”
ดังนั้น “เราจะต้องดูว่า ครูในบ้านเรายังไม่มีคุณภาพมากนัก ส่วนที่ผลิตครูควรจะมีวิธีการผลิตครูให้สอดคล้องอย่างไร ในปัจจุบันมีมรภ.และบางมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรทางครุศาสตร์ เมื่อจบหรือก่อนจบก็ได้มีการฝึกงาน การที่เขาไปฝึกงานเขาจะไปเก็บประสบการณ์กลับมา สิ่งเหล่านี้จะย้อนกลับมาสู่มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเองก็ต้องทำการวิจัยว่า ถ้าเราจะเป็นครูที่มีคุณภาพ โดยการที่เน้นทั้งเรื่องคุณธรรมและความรู้ เพราะต้องมีสองอย่างประกอบกัน ถ้ามีส่วนหนึ่งส่วนใด ไม่มีอีกส่วนหนึ่งก็ไม่สมบูรณ์ นั่นคือสิ่งที่ได้พยายามดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้”
หากย้อนกลับไปเล็กน้อย หลายคนคงจำได้ว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อการศึกษา หลังตั้ง “กองทุนการศึกษา” แล้วก็ผุดโรงเรียนสอนคนดี มีคุณธรรมขึ้นมา
“ตัวผมเองทำมาสองปีกว่าแล้ว ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาครัฐ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และศูนย์คุณธรรมด้วย ก็ได้เดินหน้ากันไปในเรื่องเหล่านี้ ยินดีที่มาร่วมกับไทยรัฐวิทยา เพื่อจะได้เป็นเครือข่ายกัน”
แนะแนวโรงเรียนไทยรัฐวิทยาและโรงเรียนอื่นๆอย่างไร เพื่อจะได้เดินไปสู่เป้าหมาย คำตอบคือ “วิธีการคือ ไม่ลำบากอะไร อย่างที่กราบเรียนไปแล้วว่า เริ่มต้นที่ผู้บริหาร ถ้าผู้บริหารโรงเรียนมีความตั้งใจที่จะสร้างคนดีให้สังคม เราก็มาคุยกันว่า เราจะทำอะไรบ้าง วิธีการจะเป็นอย่างไร ซึ่งเท่าที่ทราบ อย่างโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม ได้เริ่มโครงการคุณธรรมและจริยธรรมมาประมาณห้าปีกว่าแล้ว ไทยรัฐวิทยาเองก็มีส่วนได้เยี่ยมชมมาแล้ว ส่วนนั้นเองถ้าหากว่าเราจะมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ นั่นเป็นเรื่องเพียงแบบหนึ่งเท่านั้น แต่ละแห่งอาจจะมีความแตกต่างกัน ถ้า ผอ.ดูแนวทางแล้วหาวิธีการขึ้นมา โรงเรียนก็สามารถสำเร็จได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างคนดีขึ้นมา เมื่อมีคนดีแล้วสังคมก็จะยกระดับขึ้นมาเองคือ ผลการศึกษาก็จะกลายเป็นคนดีด้วย เมื่อเป็นคนดีก็จะเป็นคนเก่งได้ ที่เราทำมาแล้ว ผลในเรื่องการศึกษา ความรู้ก็ดีขึ้น อย่างการทดลองโอเน็ตก็ดีขึ้น ภาพรวมก็ยกระดับขึ้นมาทั้งหมดเลย เมื่อเรามีนักเรียนที่มีระเบียบวินัย มีความตั้งใจ มีความพยายาม ผลการศึกษาก็ดีขึ้น นี่ก็เป็นส่วนประกอบที่ชัดเจน ครูเองก็มีหน้าที่แนะนำ ให้เด็กเดินไป ตามทางที่ถูกต้อง”
อุปสรรคการทำงานที่ผ่านมา “ส่วนสำคัญที่เป็นพื้นฐานก็คือความซื่อสัตย์ เป็นส่วนสำคัญ เป็นพื้นฐานของคุณธรรม เราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อคนอื่นและต่อสังคม ถ้าหากว่าเราไม่มีความซื่อสัตย์ ทุกอย่างมันก็หมดแล้ว มันไม่มีหลัก”
และอุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ “การเปลี่ยนแปลง เพราะว่าผู้บริหารเอง ครูเองก็มีการย้าย ความต่อเนื่องก็ไม่มี ทำไปได้สองสามปีก็เปลี่ยนมันก็ไม่ได้ เราต้องช่วยกันว่า ทำอย่างในส่วนของภาครัฐ กระทรวงศึกษาธิการที่จะผลิตครูที่มีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ และผู้บริหารที่ตรงมาจากครู และมีประสบการณ์มาแต่เบื้องต้น อันนี้น่าจะเป็นทางออก ทุกคนจะต้องมานับหนึ่งกันมาก่อนจะมานับสิบ”
อุปสรรคต่างๆ ต้องร่วมกันแก้ไขต่อไป เพื่อสร้างเด็กวันนี้ เพื่อชาติในวันหน้า
สำหรับโรงเรียนที่ทำมาก่อนและเป็น “ต้นแบบ” คือ โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม จังหวัดพิจิตร ผลที่ปรากฏกับเด็กพบว่า เด็กนักเรียนดีขึ้น ทั้งเรื่องผลการเรียนและความประพฤติ
จึงกลายเป็นโรงเรียน “ต้นแบบ” ให้โรงเรียนอื่นๆ ซึ่งรู้จักกันในนาม “บางมูลนากโมเดล”.