ตื่น! พบแมงกะพรุนน้ำจืด หายาก นับร้อยตัว โผล่บ่อเลี้ยงปลาสวยงามภายในบ้านหนุ่มใหญ่ที่สมุทรปราการ จนท.ประมง คาดไข่ของแมงกะพรุน อาจติดมากับพืชธรรมชาติ ที่นำมาใส่ในบ่อ ...

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีแมงกะพรุนน้ำจืดจำนวนหลายร้อยตัว อาศัยอยู่ในบ่อเลี้ยงปลาชาวบ้าน เลขที่ 517/1 หมู่ 4 ซ.ศรีบุญเรือง 2 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ จึงเดินทางไปตรวจสอบ

ที่บ้านหลังดังกล่าว พบ นายชัยวัฒน์ ยสินทร อายุ 44 ปี เจ้าของบ้านกำลังยืนอยู่บริเวณบ่อเลี้ยงปลาหน้าบ้าน ซึ่งเป็นบ่อทำด้วยคอนกรีต มีความกว้างขนาด 1.5 เมตร ยาว 4 เมตร เมื่อสังเกตในน้ำ พบว่ามีสัตว์คล้ายกับแมงกะพรุนจำนวนหลายร้อยตัว ลอยปะปนอยู่กับปลาสวยงาม ก่อนที่นายชัยวัฒน์จะใช้อุปกรณ์ตักขึ้นมาใส่ตู้ปลาให้กับผู้สื่อข่าวดูอย่างใกล้ชิด พบว่าเป็นแมงกะพรุนน้ำจืด ลำตัวมีขนาดประมาณเท่าเหรียญบาท มีทั้งสีขาวขุ่น และขาวใส

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ตนทำบ่อเลี้ยงปลาสวยงามมา 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่เคยพบเห็นแมงกะพรุนมาก่อน กระทั่งเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ระหว่างที่กำลังให้อาหารปลาอยู่ สังเกตเห็นมีสิ่งผิดปกติ ตัวใสๆ ว่ายปะปนอยู่กับปลาที่เลี้ยงไว้ จึงได้ตักขึ้นมาดู พร้อมหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต จนพบว่าสิ่งที่เห็นคือ แมงกะพรุนน้ำจืด ซึ่งก็ไม่ทราบว่า มาอยู่ในบ่อได้อย่างไร

ด้าน นายอำนาจ หนูทอง ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (ปฏิบัติงานประมง) ระดับต้น ประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า สำหรับแมงกะพรุนน้ำจืดที่พบนั้น มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ ว่า Crasapedacusta Sowerbyi มีชื่อสามัญว่า Freshwater Jellyfish กินแพลงตอน สัตว์เล็กๆ ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร ร่างกายมีสีขาวใส และขาวขุ่น มีลำตัวคล้ายร่ม หรือกระดิ่ง มีหนวด มีเยื่อบางๆ ตรงขอบร่ม ช่วยในการเคลื่อนไหว บริเวณกลางร่มเป็นทางเข้าออกของอาหาร ช่วงเวลาที่พบคือฤดูร้อนที่อากาศอบอุ่นและน้ำนิ่ง ตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันหาดูได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสภาพน้ำเริ่มเสื่อมโทรม ส่วนตัวที่พบในอ่างเลี้ยงปลาสวยงามของชาวบ้านนั้น สันนิษฐานว่า ไข่ของแมงกะพรุนอาจติดมากับพืชธรรมชาติ ที่นำมาจากที่อื่น มาใส่ไว้ในอ่างเลี้ยงปลา อย่างไรก็ตาม แมงกะพรุนชนิดนี้ มีความเปราะบางและอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมมาก ส่วนใหญ่จะมีอายุค่อนข้างสั้น เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น จากนั้นก็จะตายไป.

...