กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเขตบริการสุขภาพ จากบุคลากรในสังกัดทั่วไทย หวังให้มีส่วนร่วมออกแบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ดีเดย์ใช้รูปแบบใหม่ 1 ต.ค.นี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของประชาชน...

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเขตบริการสุขภาพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรในภาคกลาง เรื่องการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องโครงสร้างเขตบริการ ระบบการเงินการคลัง การบริหารงานบุคคลและการจัดระบบบริการ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ภาค ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และในวันนี้ครั้งสุดท้าย โดยจะมีการสรุปผลในภาพรวม ในวันที่ 15 ก.ค. 2557
         
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการเรื่องการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในเรื่องระบบบริการ ระบบการเงินการคลัง และการบริหารงานบุคคล โดยในเรื่องระบบบริการนั้น ได้นำการบริหารจัดการแบบเขตบริการสุขภาพ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยแบ่งเขตบริการสุขภาพออกเป็น 12 เขต และ 1 เขต กทม. จะเป็นการแบ่งพื้นที่บริการ รวมทั้งจำนวนประชาชนให้ได้ขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้การดูแลประชาชนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนเข้าถึงบริการเท่าเทียมกันเหมือนกันในทุกๆ เขต
         
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำร่างโครงสร้างการบริหารงานของเขตบริการสุขภาพ และการบริหารจัดการภายในเขตสุขภาพ โดยให้เขตบริการสุขภาพมีอำนาจในการบริหารจัดการภายในเขตได้เบ็ดเสร็จ ทั้งคน เงิน ของ รวมทั้งในอนาคตที่จะให้ทุกภาคส่วนที่อยู่ภายในเขต ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการด้วย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขในส่วนกลาง จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้กำกับและผู้สนับสนุนการทำงานของเขตบริการสุขภาพเท่านั้น

...

ด้าน นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ ได้เชิญผู้บริหารทุกระดับในเขตตรวจราชการภาคกลาง ร่วมให้ความเห็นร่าง ข้อเสนอ การปฏิรูปเขตบริการสุขภาพ ให้ได้รูปแบบการดำเนินงานของเขตบริการสุขภาพที่เหมาะสมที่สุด ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบวันที่ 1 ตุลาคม 2557

"รูปแบบที่กระทรวงสาธารณสุขร่าง จะมอบอำนาจลงไปที่เขตมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เนื่องจากเดิมการบริหารงานจะมีส่วนกลางคือกระทรวงฯ กับส่วนภูมิภาคคือจังหวัด หากเลือกจัดบริการแบบรายจังหวัด จะพบปัญหาขนาดของจังหวัดและจำนวนประชากร ทำให้การจัดบริการสุขภาพอาจไม่เหมาะสม เช่น จ.นครราชสีมา กับ จ.ระนอง จำนวนประชากรต่างกัน 10 เท่าตัว ไม่สามารถพัฒนาระบบการรักษาที่ จ.ระนอง ได้ครบทุกสาขาเท่าเทียมกับ จ.นครราชสีมา แต่หากรวมกันหลายๆ จังหวัดในรูปแบบเขตบริการสุขภาพ ก็จะทำให้การบริการสมบูรณ์ ครบทุกสาขา มีระบบการส่งต่อที่ไม่มีรอยต่อระหว่างจังหวัดอีกด้วย" นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

ทั้งนี้ บุคลากรสาธารณสุขที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชาพิจารณ์ในแต่ละภาค สามารถติดตามความคืบหน้าเรื่องเขตบริการสุขภาพได้ที่เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และสามารถเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเขตบริการสุขภาพในประเด็นต่างๆ ได้ทาง e-mail : regionalhealthreform@gmail.com ซึ่งคณะทำงานจะนำความคิดเห็นทั้งหมดมาปรับปรุงร่างให้มีความสมบูรณ์ ก่อนเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ต่อไป