สมศ.ร่วมตกผลึกสำนักงานคลังสมอง วปอ. ใช้ผลประเมินคุณภาพการศึกษา กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการศึกษา หวังมหาวิทยาลัยไทยเข้มแข็งเทียบเท่าระดับโลก ชี้วิกฤติการศึกษาไทย 3 สาเหตุหลัก...
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เปิดเผยถึงผลการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสำนักงานคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคมเกี่ยวกับการศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานะของมหาวิทยาลัยไทย เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย ซึ่งได้นำเสนอให้เห็นว่า ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยในภาพรวม ที่ปัจจุบันซึ่งถือเป็นจุดอ่อน จนอาจถึงขั้นวิกฤติ มีสาเหตุหลักสำคัญ 3 ประการ คือ 1. การขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบายจากการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย 2.การขาดการกำกับเชิงปริมาณในทุกระดับ และ 3.ขาดการควบคุมเชิงคุณภาพ ดังจะเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยใหม่ๆ หลายแห่ง มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วแบบไร้ทิศทาง ทั้งในเรื่องของการบริหารโครงสร้างการเรียนการสอน หลักสูตร การเปิดสอนทั้งในเวลาและนอกเวลา ในที่ตั้ง นอกที่ตั้ง ที่เป็นไปในลักษณะเชิงธุรกิจมากขึ้น
ดัวยปัจจุบันมหาวิทยาลัย มีการแข่งขันสูงมาก ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ การขาดการควบคุมเชิงคุณภาพ เกิดจากการกระจายอำนาจให้กับสภามหาวิทยาลัย ในขณะที่สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มีคุณภาพแตกต่างกัน บางแห่งมีการบริหารงานลักษณะเป็นระบบครอบครัว การอนุมัติหลักสูตรจัดการศึกษานอกที่ตั้งมีจำนวนมากขึ้น แต่กลับไม่มีคุณภาพ มีการตกเขียวเด็กตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพื่อให้ได้จำนวนเด็กเข้าเรียน โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพ ถือเป็นประเด็นปัญหาที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อผู้เรียนในเรื่องการยอมรับและการได้งานทำ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นต้องหามาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยกำกับและควบคุมคุณภาพและจำนวนที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของไทย
...
"ปัจจุบันธุรกิจการศึกษาน่าเป็นห่วงมาก การศึกษากลายเป็นสินค้า ความผูกพันระหว่างครูอาจารย์กับศิษย์ห่างหายไป กระทบชีวิตและวัฒนธรรมที่ดีงามที่มีแต่ดั้งเดิม การทดสอบเด็กไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพที่แท้จริง เห็นได้จากการที่นำ G-PAX มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสอบ admission เพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าผลสอบ G-PAX เฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยขณะนี้ทั้งประเทศมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3 กว่า เป็นเพราะสถานศึกษาต้องการให้เด็กของตนเองสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ นอกจากนี้ การผลิตบัณฑิตไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของตลาด หรือสังคม (demand side) แต่เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน (supply side) ดังนั้น ในอนาคตจะมีบัณฑิตจำนวนมากที่ตกงาน แต่ในขณะเดียวกัน สังคมกลับขาดแคลนแรงงาน หรือวิชาชีพที่จำเป็นเมื่อเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมอาเซียน" ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว
ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวอีกว่า นโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ถือเป็นสิ่งที่ดีในการเพิ่มระดับรายได้ของคนจบปริญญาตรี แต่ในทางกลับกัน ได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายการเพิ่มผู้เรียนเข้าศึกษาต่อด้านการอาชีวศึกษาโดยตรง เพราะเด็กทุกคนจะมุ่งเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีกันหมด ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมอาเซียน และต้องการเพิ่มสัดส่วนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เพื่อรองรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ส่วนอีกนโยบายที่เป็นการทำลายระบบคุณภาพ คือ การไม่มีตกซ้ำชั้น ซึ่งสถิติเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ในปัจจุบันมีมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ แต่นักเรียนสามารถเลื่อนชั้นได้ เพราะดำเนินตามนโยบายนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับตัวป้อนเข้าสู่ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่อ่อนแอลง
"ในการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา ส่วนใหญ่ถูกมองในภาพรวมและดำเนินในลักษณะองค์รวม แต่ความจริงปัญหาเกิดขึ้นที่ถือเป็นสาเหตุหลักๆ และเป็นรากฐานของตัวป้อนที่จะเข้าสู่อุดมศึกษาและวิชาชีพ ขณะนี้ประเทศไทยมีโรงเรียนขั้นพื้นฐานกว่า 30,000 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 14,000 แห่ง และมีครูไม่ครบชั้น ดังนั้น ทางออกของการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ ควรเร่งบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ส่งเสริมสนับสนุนให้มีความพร้อม โดยเฉพาะด้านงบประมาณจะต้องเพิ่มสัดส่วนให้มากกว่าโรงเรียนในเมือง เพราะมีความขาดแคลนมากกว่า แต่ปัจจุบันยังคงจัดสรรให้เท่ากัน ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดคุณภาพที่ควรจะเป็น" ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าว
สำหรับบทบาทการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ศ.ดร.ชาญณรงค์ ระบุว่า ในการทำหน้าที่ประเมินสถานศึกษาอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปี ที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบให้เกิดการพัฒนาต่อสถานศึกษาได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจมีหลายหน่วยงานที่ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด คิดว่า สมศ. ไปแย่งเวลาสอนของครู และไม่เห็นด้วยกับการมี สมศ. แต่ความจริง สมศ. ทำหน้าที่ยืนยันผลการประเมินภายในของสถานศึกษา พบว่า มีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่ประสบผลสำเร็จในการประกันคุณภาพภายใน จึงอาจต้องมีการทบทวนระบบการประกันคุณภาพภายในให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น
"ส่วนของการพัฒนาตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การให้คะแนนการประเมินคุณภาพภายนอก รอบสี่ (พ.ศ. 2559-2563) ของทั้ง 3 ระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะเน้นคุณภาพการจัดการศึกษาทุกระดับที่ศิษย์ ระดับอุดมศึกษาสะท้อนถึงเรื่องความเป็นคนดีของนิสิต นักศึกษา และคุณภาพอาจารย์ ด้านการอาชีวศึกษา มุ่งเน้นในเรื่องทักษะที่เหมาะสมสำหรับอาชีพและการมีงานทำ การศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กอ่านออกเขียนได้ โดยภาพรวมของทุกระดับ จะมีตัวบ่งชี้เท่ากัน คือ 20 ตัวบ่งชี้ และมีการเชื่อมโยงกับนโยบายของ คสช. ทั้งเรื่องวินัย คุณธรรม จริยธรรม ทักษะชีวิต การมีงานทำ และน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ซึ่งในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ยังคงเน้นที่ผลลัพธ์และผลผลิตเป็นสำคัญ สำหรับเรื่องของกระบวนการให้ความสำคัญกับหน่วยงานต้นสังกัด กับระบบประกันภายในเป้าหมายสำคัญ" ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว.