กทม.ชี้บ้านเดี่ยวขยายออกชานเมืองทำสิ่งแวดล้อมกระทบ 80%
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 4 ก.ค.57 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายเกรียงพล พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง (กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยมีนายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานว่า ภายหลังกฎกระทรวงได้บังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 มีผลบังคับใช้ 5 ปี ซึ่งขณะนี้ได้บังคับใช้มาเป็นเวลา 1 ปีเศษแล้ว มีประชาชนผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่งได้มีหนังสือขอแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว ประมาณ 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นการขอใช้พื้นที่ผิดตามผังเมืองที่กำหนด ซึ่งเป็นการร้องขอมาตั้งแต่มีการบังคับใช้ด้วย จึงได้หารือกับทางคณะที่ปรึกษาฯ เพื่อแจ้งให้ทราบและพิจารณา ซึ่งในที่ประชุม โดยตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แย้งว่าไม่เห็นด้วย และในที่ประชุมต่างมีความเห็นว่าให้คงตามผังเมืองรวมไว้ ไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอาจสร้างผลกระทบตามมาในอนาคต จนไม่เป็นไปตามที่ผังเมืองกำหนด อีกทั้งส่วนที่ร้องขอเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวไม่ใช่เพื่อส่วนรวม
นายเกรียงพลกล่าวว่า ในที่ประชุม ประธาน ได้มอบหมายให้เลขานุการฯ คณะที่ปรึกษาฯ รวบรวมข้อสังเกตจากที่ประชุมและคำร้องขอ รายงานต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อนจะนำเสนอให้เลขาธิการผังเมืองพิจารณาตามคำร้องขอ เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา และเพื่อเป็นแนวทางในการร่างผังเมืองในอนาคต นอกจากนี้ผังเมืองฉบับดังกล่าวได้ปรับปรุงให้รองรับการใช้สอยพื้นที่ที่อยู่อาศัยในแนวสูง จากเดิมที่มีการกระจายตัวในลักษณะบ้านเดี่ยวออกนอกชานเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ประเภทชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งบ้านดังกล่าวสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากถึงร้อยละ 80 อาทิ การปล่อยน้ำเสีย การใช้ประปาและไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งที่อยู่อาศัยอยู่ไกลจากแหล่งทำงานมากขึ้น ทำให้ต้องกระจายความเจริญออกไป
...
โดยการสร้างถนนออกสู่ชนบทไปด้วย ดังนั้น ผังเมืองฉบับนี้จึงถูกกำหนดพื้นที่ให้ใช้สอยในแนวสูงให้มากขึ้น เพื่อคงให้พื้นที่แหวนเป็นพื้นที่สีเขียวเช่นเดิม.