สตช.ปรามม็อบ ล่าหมิ่นสถาบัน ลุยจับอาวุธ-ยา
“วรเจตน์” รอดนอนคุกทหาร ศาลให้ประกันตัว ข้อหาฝ่าฝืนไม่รายงานตัว คสช. หลังทนายความยื่นหลักทรัพย์ 2 หมื่นบาท ขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลตั้ง 3 เงื่อนไข ห้ามร่วมชุมนุม-ห้ามแสดงความเห็นทางการเมือง-ห้ามออกนอกประเทศ อดีต ส.ส.เพื่อไทย-เสื้อแดง โร่ตบเท้าเข้าหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ตามคำสั่ง คสช.ให้มาปรับพฤติกรรม ทหาร-ตร.ผนึกกำลังปูพรมกวาดล้างอาวุธสงคราม-ยาเสพติด ดีเดย์ปฏิบัติการ 18-24 มิ.ย. “อำนวย นิ่มมะโน” เตือนม็อบแซนด์วิชนัดชุมนุม หากส่อนัยทางการเมืองเข้าข่ายโดนรวบ สตช.ขันนอตปราบคดีหมิ่นสถาบัน ประสานต่างประเทศรวบตัว “โรส-ฉัตรวดี” ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
หลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ได้ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. พร้อมนำตัวไปควบคุมที่ ร.11 รอ. ในความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.นั้น ล่าสุดทหารได้นำตัวนายวรเจตน์ส่งกองปราบปราม เพื่อสอบปากคำ และนำตัวไปขออำนาจฝากขังต่อศาลทหาร ก่อนที่ศาลทหารจะให้ประกันตัว ในวงเงิน 2 หมื่นบาท
ทหารคุมตัว “วรเจตน์” ส่งกองปราบ
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 10.30 น. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ.พร้อมเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร ควบคุมตัวนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ มาส่งตัวให้ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. พ.ต.ท.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พนักงานสอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ กก.1 บก.ป.ดำเนินคดีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.โดยไม่เข้าไปรายงานตัว ภายหลังจากนายวรเจตน์ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้ที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างเดินทางกลับจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้หลังจากทหารควบคุมตัวนายวรเจตน์มาถึง บก.ป. นาย วรเจตน์ยิ้มให้สื่อมวลชนที่มารอทำข่าว แต่ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ใดๆ จากนั้นจึงถูกนำตัวเข้าห้องสอบสวน เพื่อสอบปากคำ โดยมีนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ เดินทางมาขอยื่นปล่อยตัวชั่วคราว
...
นำตัวส่งศาลทหารฝากขัง
ต่อมาเวลา 12.40 น. ภายหลังจากพนักงานสอบสวนสอบปากคำ และทำประวัตินายวรเจตน์เสร็จแล้ว ทหารและตำรวจ บก.ป.ควบคุมตัวนายวรเจตน์ไปขออำนาจศาลทหารฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพทันที จากนั้นเวลา 15.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ออกนั่งบัลลังก์พิจารณารายงานคำร้องของพนักงานสอบสวน กองปราบปราม กรณีการขอฝากขังนายวรเจตน์ผัดแรก เป็นระยะเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-29 มิ.ย. โดยพนักงานสอบสวนได้ชี้แจงต่อคณะตุลาการศาลฯว่า เนื่องจากขณะนี้ยังสอบสวนพยานบุคคลไม่แล้วเสร็จ จำนวน 4 ปาก รวมถึงการตรวจสอบลายนิ้วมือในคดีประวัติอาชญากร จึงจำเป็นต้องขออำนาจศาลฯฝากขังนายวรเจตน์ไว้ก่อนผัดแรก จากนั้นคณะตุลาการฯ สอบถามนายวรเจตน์ว่า จะคัดค้านคำร้องหรือไม่ นายวรเจตน์ยืนยันว่า ไม่ขอคัดค้านคำร้องแต่อย่างใด คณะตุลาการศาลทหารฯ จึงพิจารณาคำร้องพนักงานสอบสวน อนุญาตฝากขังนายวรเจตน์เป็นระยะเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-29 มิ.ย. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนำตัวนายวรเจตน์เดินทางไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯทันที
ให้ประกันตัว–ตั้ง 3 เงื่อนไข
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายวรเจตน์ กล่าวว่า เหตุผลที่นายวรเจตน์ไม่คัดค้านการฝากขัง เนื่องจากนายวรเจตน์ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และเข้าใจขั้นตอนของพนักงานสอบสวนว่า ยังเหลือพยานที่ยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ แต่เหตุผลที่นายวรเจตน์ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.นั้น เพราะป่วยและอยู่ต่างประเทศ แต่ให้คนใกล้ชิดมาชี้แจงต่อทหารแล้ว ที่สำคัญนายวรเจตน์ไม่ได้ถูกจับที่สนามบินตามที่เป็นข่าว เพราะมีการประสานกับ คสช.ไว้แล้วด้วยตนเองในขณะที่อยู่ต่างประเทศ ดังนั้นข้อกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.อาจจะฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามนายวรเจตน์มีโรคประจำตัวคือ โรคไต จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ รวมถึง มีอาชีพเป็นอาจารย์ต้องสอนนักศึกษา ต้องทำหน้าที่ดูแลครอบครัว ดังนั้นขั้นตอนต่อไปทางทนายความจึงยื่นคำร้องขอประกันเพื่อปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเป็นทรัพย์สินจำนวน 4 หมื่นบาท เพื่อขอความกรุณาต่อศาลให้ความเมตตา
จากนั้นในเวลา 16.20 น. นายวิญญัติกล่าวว่า ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนายวรเจตน์ โดยศาล ทหารกรุงเทพอนุญาตให้นายวรเจตน์ได้รับการประกันตัวชั่วคราวแล้ว มีเงื่อนไข 3 ประการได้แก่ 1.ห้ามชุมนุมทางการเมือง 2.ห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 3.ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกับหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 2 หมื่นบาท หลังจากนี้อีก 12 วัน ศาลฯนัดนายวรเจตน์มาเพื่อพิจารณาว่าจะมีการฝากขังต่อไปหรือไม่อีกครั้ง หากพนักงานสอบสวนฯ มีคำสั่งฟ้องคดี
อดีต ส.ส.-เสื้อแดงโร่รายงานตัว
ด้านบรรยากาศของบุคคลที่ถูกเรียกให้มารายงานตัวต่อ คสช.ในวันที่ 18 มิ.ย.นั้น ตั้งแต่ช่วงเช้า ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ บุคคลที่ถูก คสช.เรียกให้มารายงานตัวตามคำสั่งที่ 68/2557 จำนวน 33 คน ทยอยเดินเข้ารายงานตัว โดยนายสุขเสข พลตื้อ การ์ด นปช. เดินทางมารายงานตัวเป็นคนแรก จากนั้นคนอื่นๆทยอยเดินทางมารายงานตัวต่อเนื่องอาทิ น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย นางพรพิมล ลุนตาพล น.ส.อดาน้อย ห่อมารยาท นายนพพร พรหมขัติแก้ว กลุ่มแดงเชียงใหม่ นางพรรณราย เมาลานนท์ นายเทียนสวัสดิ์ เทียน-เงิน นายหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ แกนนำกลุ่มศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่ นายองอาจ ตันธนสิน กลุ่มแดงเชียงใหม่ นายอุทัย ม่วงศรีเมืองดี นายเจติศักดิ์ จันทร์ประดิษฐ์ หัวหน้านักรบศรีวิชัย นายศรายุทธ สังวาลย์ทอง นายธงชัย สุวรรณวิหค กลุ่มคณะกรรมการสันนิบาตประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย นายวิษณุ เกตุสุริยา แกนนำกลุ่มหน้ากากขาวระยอง น.ส.ภัทรจิต โชติกพณิช นายพรส เฉลิมแสน แกนนำเสื้อแดงลาดกระบัง นายพงษ์เทพ ไชยศล นายอานนท์ กลิ่นแก้ว นายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู นายสุวิทย์ เม็นไธสง นายดนัย ทิพย์ยาน น.ส.รจเรข วัฒนพาณิชย์ นางสุวรรณา ตาล-เหล็ก ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ขณะที่นายนิทัช ศรีสุวรรณ ได้ให้นางนันท์ ศรีสุวรรณ ภรรยาเดินทางมารายงานตัวแทน
อุ้มลูก 6 เดือนรายงานตัว
ต่อมาเวลา 11.50 น. นางภัคจิรา ชุนฮะสี อุ้มบุตรสาววัย 6 เดือน เข้ารายงานตัวด้วย โดยผู้สื่อข่าวได้สอบถามเพื่อนของนางภัคจิราที่เดินทางมาส่งทราบว่าที่นางภัคจิรานำบุตรสาวมาด้วย เนื่องจากไม่มีใครเลี้ยง เพราะมีกันอยู่สองคนแม่ลูก ขณะที่นายวิเชียรชนินทร์ สินธุไพร แกนนำ นปช.ภาคอีสานและน้องชายนายนิสิต สินธุไพร ขอเข้ารายงานตัวที่ค่ายทหาร จ.ยโสธร เนื่องจากใกล้บ้าน โดยยังเหลืออีก 6 คน ที่ยังไม่เข้ามารายงานตัว คือ น.ส.กริชสุดา คุณะแสน นายกวี วงศ์รัตนโสภณ นางอัมรา วัฒนกูล นายเกษมสันติ จำปาเลิศ น.ส.นุ่มนวล ยัพราช และนายวิระศักดิ์ โตวังจร
โวผลโพลสยบม็อบเลิกป่วน
ที่ บช.น. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผบ.ตร. พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร. รรท.ผบช.น. พล.ต.อภิรัฐ คงสมพงษ์ ผบ.พล.1 รอ. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. ช่วยราชการบช.น. ร่วมประชุมงานด้านความมั่นคง โดย พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ที่ประชุมได้ประมวลสถานการณ์ชุมนุมต่อต้าน คสช.ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนลดลง ไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาแสดงสัญลักษณ์ใดๆ เนื่องจากผลโพลร้อยละ 90 ระบุว่า มีผู้สนับสนุนการทำงานของ คสช. อาจทำให้ผู้มีความคิดเห็นต่างเห็นว่าถ้ายังแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านจะขัดต่อความรู้สึกคนส่วนใหญ่ ผู้ชุมนุมจึงลดลง เพราะไม่มีแกนนำหรือใครที่ชักชวนปลุกปั่น รวมถึงมาตรการของทหารและตำรวจทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดยุทธวิธีแก้ปัญหากลุ่มผู้ชุมนุมได้อย่างถูกต้อง เช่น การวางกำลังตำรวจบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกสถานี การปิดเส้นทางเดินทางของผู้ชุมนุม และจุดสุ่มเสี่ยงต่างๆ โดยใช้กำลังนอกเครื่องแบบบันทึกภาพ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้า ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านแมคโดนัล ในการติดตั้งกล้องซีซีทีวี รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ระหว่างตำรวจกับพนักงานร้านเพื่อติดต่อสื่อสารกัน
ผนึกกำลังล้างอาวุธสงคราม
พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ในวันที่ 18-24 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั่วประเทศจะระดมกวาดล้าง จับกุมอาวุธสงครามและยาเสพติด เพื่อแสดงศักยภาพการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจและทหาร จะมีการปล่อยแถวในวันที่ 20 มิ.ย. เวลา 16.00 น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ทั้งนี้ทางการข่าวมีข้อมูลเป้าหมายว่ากลุ่มใดเป็นผู้มีอิทธิพล จะใช้วิธีกดดันเข้าไปพูดคุย และเฝ้าระวัง ซึ่งทหารและตำรวจจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และนำตัวผู้มีอาวุธสงครามไว้ในครอบครองมาปรับทัศนคติ อยากเปิดโอกาสให้นำอาวุธสงครามมาคืน เพื่อสร้างความปรองดอง หากนำมาคืนจะไม่มีความผิด แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบจะถือเป็นความผิด
ตั้งด่านตรวจเข้มรถต้องสงสัย
พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต รอง ผบช.น. ดูแลงานป้องกันและปราบปราม กล่าวถึงมาตรการดูแลป้องกันและปราบปรามในขณะนี้ว่า จากการหารืองานด้านความมั่นคง ฝ่ายทหารขอให้ตำรวจเพิ่มความเข้มงวดตรวจรถต้องสงสัยให้มากขึ้น จึงมอบนโยบายให้ตำรวจแต่ละ สน. เน้นตรวจสอบรถต้องสงสัย รวมทั้งรถที่ผู้มีอิทธิพลนิยมใช้เดินทาง เช่น รถโฟร์วีลสีดำ รถตู้ที่มีขบวนคุ้มกันเป็นพิเศษ รถโดยสารที่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก จะให้แต่ละด่านตรวจตราอย่างเข้มงวด ช่วงเวลาการตั้งด่านตรวจจะเริ่มตั้งแต่เวลา 21.00 น.
ชง คสช.เผาตู้เกมไฟฟ้า
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า พล.ต.ท.ชัยยง กีรติขจร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาและกำหนดแนวทางในการเก็บรักษาและทำลายเครื่องจักรกลไฟฟ้า กรณีที่มีการระดมกวาดล้างจับกุมตู้เกมไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมากตามนโยบายของ คสช.ในช่วงที่ผ่านมา ได้รายงานสรุปความเห็นของคณะกรรมการเสนอ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ว่า การจับกุมตู้เกมไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการเก็บรักษาของกลาง โดยกรมศุลกากรและ บช.น.แจ้งว่า ไม่มีสถานที่เพียงพอในการเก็บรักษา ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าการจับกุมยึดตู้เกมไฟฟ้าจำนวนมาก เป็นการเล่นพนันที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการมอมเมาเด็กและเยาวชน จึงมีความเห็นให้ยกร่างประกาศ คสช. เพื่อเผาทำลายเครื่องเล่นเกมไฟฟ้าที่ผิดกฎหมาย
หาช่องเอาผิดม็อบแซนด์วิช
พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ.ช่วยราชการ บช.น. กล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายห้ามชุมนุม ทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ส่งข้อความทางเฟซบุ๊กหรือไลน์ เพื่อนัดแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การชูสามนิ้ว หรือทำเครื่องหมายใดๆ เพื่อแสดงออกทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือหากผู้รับข้อความเฟซบุ๊กหรือไลน์ มีการส่งต่อข้อความ ก็เป็นการกระทำผิดระวางโทษเช่นเดียวกัน กรณีจับกุมผู้ชุมนุมไม่ถึง 5 คน ก็ต้องพิจารณาว่ามีเจตนาร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปหรือไม่ เช่น นัดหมายไปยืนแสดงสัญลักษณ์หน้าร้านเซเว่นฯ สาขาละ 1-2 คน ถ้ามีเจตนาร่วมกันรับคำสั่ง รับข้อความทางเฟซบุ๊กหรือไลน์จากแหล่งเดียวกันก็สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ เพราะเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ส่วนกรณีนัดกันไปทำกิจกรรม เช่น กินแซนด์วิชร่วมกันนั้นยังไม่ผิด แต่หากแสดงให้เห็นว่ามีนัยจะชุมนุมทางการเมืองร่วมกัน เช่น มีการแสดงออกด้วยวาจา หรือโดยประการอื่นๆ จะมีความผิดในทันที
ตร.จัดเต็มพวกหมิ่นสถาบัน
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะ คสช. ให้ความสำคัญคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดย สตช.จะดำเนินการทุกอย่างให้จบขั้นตอนคดี โดยวางกรอบการดำเนินคดีร่วมกับคณะกรรมการตำรวจสันติบาลแยกเป็น 1.คดีที่ผู้กระทำผิดมีหมายจับ และหลบหนีคดีในต่างประเทศ ได้แก่ นายใจ อึ้งภากรณ์ นายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ และนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ 2.คดีที่ผู้กระทำความผิดอยู่ในต่างประเทศ และเป็นคนไทย 3.คดีที่ผู้กระทำผิดอยู่ในต่างประเทศ แต่ไม่ใช่คนสัญชาติไทย ซึ่งกรณี น.ส.ฉัตรวดี อมรพัฒน์ หรือโรส ต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขออนุมัติหมายจับกุมดำเนินคดี พนักงานสอบสวนจะประสานกองการต่างประเทศ และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศขอความร่วมมือไปยังประเทศที่ผู้ต้องหาตามหมายจับหลบหนีในกรณีที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งวันที่ 20 มิ.ย. ได้นัดประชุมคณะกรรมการหมิ่นสถาบันของตำรวจ สันติบาลเพื่อสรุปความคืบหน้าคดีหมิ่นสถาบันในแต่ละคดี
อ้อน คสช.เปิดทีวี–วิทยุดาวเทียม
วันเดียวกันที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) นายสมบูรณ์ ทองบุราณ ประธานกลุ่มผู้เดือดร้อนประกอบอาชีพวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม พร้อมตัวแทนผู้ประกอบการอาชีพวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 20 สถานีที่ได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่งของ คสช .ฉบับที่ 27/2557 เข้ายื่นจดหมายขอความเป็นธรรม ผ่าน พล.ต.พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก เพื่อขอให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมออกอากาศได้ตามปกติ โดยนายสมบูรณ์กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบอาชีพวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมกว่า 200 สถานี ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถออกอากาศได้ อยากให้ คสช.สั่งการไปยัง กสทช.ขออนุญาตให้สถานีดาวเทียมออกอากาศได้ทันที เพราะที่ผ่านมา กสทช.อนุญาตเพียงเครือข่ายโทรทัศน์ของบริษัทมหาชนออกอากาศได้เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นธรรม ในช่วงที่ไม่สามารถออกอากาศได้ ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเช่าสัญญาณดาวเทียม ค่าแรง ค่าสาธารณูปโภค ขอยืนยันว่าผังรายการไม่ปลุกปั่น ยั่วยุให้กระทบกับบรรยากาศปรองดองแต่อย่างใด