ขาหมูพะโล้ มีต้นกำเนิดมาจากอาหารจีน แรกเริ่มเดิมทีเป็นกับข้าว จนมีคนคิดนำมาทานร่วมกับข้าวเพื่อแก้เลี่ยนเนื่องจากขาหมูมีไขมันมาก

เมื่อผสมรวมกัน ก็เลยเป็นข้าวขาหมู อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ วิธีการทำค่อนข้างยุ่งยากเพราะจะต้องใช้เวลาในการเคี่ยวขาหมูให้เปื่อย แล้วให้น้ำซุปที่มีเครื่องเทศ สมุนไพรชนิดต่างๆ ซึมเข้าเนื้อ

นอกจากจะใช้ขาแล้ว เรายังเห็นคากิ (กีบเท้าของหมู) ไส้พร้อมทั้งไข่ ให้ความกลมกล่อมลงตัวและรสชาติจะดีขึ้นทันทีเมื่อทานแกล้มกับกระเทียม พริกขี้หนู ผักกาดดองหั่นชิ้นเล็กๆ และน้ำจิ้มรสเปรี้ยว

ข้าวขาหมู เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อด้านการเพิ่มน้ำหนักเพราะมีไขมันสูงมาก โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหนัง และส่วนที่เรียกว่า คากิ (กีบเท้าของหมู)

เราทราบกันดีว่า อาหารที่มีไขมันสูงทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง สามารถนำไปสู่การเป็นโรคหัวใจ หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ที่กล่าวมา
ข้างต้นคืออันตรายจากการทานไขมันมากจนเกินไป

แต่อันตรายที่อาจแอบแฝงมากับขาหมูได้เช่นกันก็คือ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคที่มักพบปนเปื้อนอยู่ในอากาศ น้ำ ฝุ่นละออง ขยะมูลฝอย

หากเราทานอาหารที่มีเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย ผลที่ตามมาคือ ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ อาการที่พบได้แก่ ปวดท้อง ปวดศีรษะ เป็นไข้ อาเจียน หากปล่อยไว้นานร่างกายอาจขาดน้ำ และทำให้ช็อกได้

อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพความต้านทานของร่างกายต่อสารพิษของเชื้อชนิดนี้ และปริมาณเชื้อที่ร่างกายได้รับจากอาหาร

วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างข้าวขาหมู อาหารใกล้ตัว จำนวน 5 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อดังกล่าว

ผลที่ได้ปรากฏว่า พบ 1 ตัวอย่างที่มีเชื้อปนเปื้อน แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่กำหนดว่า อาหารพร้อมบริโภค/อาหารปรุงสุกทั่วไป พบเชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 100 ซีเอฟยู/กรัม

...

ขอแนะว่าควรอุ่นให้ร้อนก่อนทานทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย.