แพทย์แผนไทยยศเส เผยเตรียมเปิดตำรับยาสูตรน้ำ 'ฝีมะเร็งทรวง' ช่วยผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เล็งรับอาสาสมัครไม่จำกัดจำนวน เริ่ม พ.ค.นี้...

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 57 นายแพทย์วัฒนะ พันธุ์ม่วง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า หลังจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนายารักษามะเร็งตับสูตร "เบญจอำมฤตย์" ซึ่งประกอบด้วย รงทอง มหาหิงค์ ยาดำ ตองแตก (ทนดี) พริกไทย ดีปลี ดีเกลือฝรั่ง มะกรูด และขิง และอยู่ระหว่างให้ผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้ายทดลองใช้เพื่อการรักษานั้น

จากการติดตามล่าสุด พบว่า ได้รับการตอบรับจากผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้ รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เพิ่มกำลังการผลิตสูตรยาดังกล่าว จาก 3,000-5,000 เม็ดต่อวัน เป็น 10,000 เม็ดต่อวัน และจากการติดตามอาการผู้ป่วย 2,200 ราย พบว่าร้อยละ 70 มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกินข้าวได้ นอนหลับได้ ท้องไม่อืด สามารถขับถ่าย เคลื่อนไหวขยับร่างกายได้มากขึ้น ที่สำคัญจากเดิมที่ได้รับการวินิจฉัยว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้นานไม่เกิน 3 เดือน ก็สามารถอยู่ได้นานถึง 6 เดือน หรือ 1-2 ปี แต่ยาสูตรนี้หากจะให้ผลดี ผู้ป่วยจะต้องลดอาหารแสลง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู อาหารหมักดอง เหล้า และบุหรี่ เพิ่มการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกาย เช่น ฤาษีดัดตน การทำสมาธิบำบัดควบคู่ไปด้วย

ตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ไม่เพียงแต่เป็นตำรับยารักษามะเร็งตับระยะสุดท้ายเท่านั้น แต่เป็นตำรับยารักษาพื้นฐานของโรคมะเร็งอื่นๆ ด้วย เช่น มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ฯลฯ ซึ่งเมื่อมีการรักษาโดยสูตรยาตำรับนี้ไปสักระยะ หากอาการดีขึ้นก็จะมีการปรับสูตรยาตัวใหม่ให้เหมาะสมกับโรคมะเร็งแต่ละชนิด เช่น มะเร็งปอด เมื่อรักษาด้วยตำรับยาเบญจอำมฤตย์จนอาการดีขึ้นแล้ว ก็จะใช้ตำรับยาฝีมะเร็งทรวงรักษาต่อไป

...

สำหรับการพัฒนายารักษาฝีมะเร็งทรวงนั้น ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะต้องใช้เวลาในการหมักยา ประกอบกับเป็นสูตรยาน้ำ ยังติดปัญหาเรื่องกระบวนการบรรจุ คาดว่าจะสำเร็จพร้อมเปิดรับอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้ายโดยไม่จำกัดจำนวนภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ ยาฝีมะเร็งทรวงขนาด 500 ซีซี ราคาต้นทุน 60-80 บาท 1 ขวด กินได้ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย

ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาสูตรยารักษามะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งได้เข้าถึง และว่าการรักษาด้วยตำรับยาดังกล่าว ทุกสิทธิในระบบประกันสุขภาพภาครัฐสามารถเบิกค่ารักษาได้ ยกเว้นการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านอกเขต หรือนอกโรงพยาบาลในเครือข่าย อาจจะต้องจ่ายค่ายาในราคาต้นทุน เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการผลิตยาเพิ่มเพื่อผู้ป่วยรายอื่น.