หลายประเทศในตะวันออกกลางกำลังเผชิญกับโรคติดต่อสายพันธ์ุใหม่ ชื่อว่า กลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ เมอร์ส ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกับโรคซาร์ส ไวรัสตัวนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยรายทั่วโลก โดยเฉพาะในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศแรกที่มีการพบไวรัสตัวนี้ มีผู้เสียชีวิตถึง 107 ราย และในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เริ่มมีข่าวพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในภูมิภาคอาเซียนอย่างมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ทั้งสองกรณีล้วนเป็นการไปติดโรคจากประเทศในตะวันออกกลาง ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขในโลก กำลังจับตาดูและศึกษาไวรัสตัวนี้ เพราะมีโอกาสที่มันจะกลายพันธ์ุจนสามารถติดต่อระหว่างคนสู่คนได้โดยง่ายยิ่งขึ้น แม้องค์การอนามัยโลกจะยืนยันมาตลอดจนถึงตอนนี้ว่า สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นระบาดก็ตาม

เหตุการณ์ไวรัสเมอร์สทำให้นึกย้อนไปถึงความน่าสะพรึงกลัวของการระบาดของโรคร้ายแรงต่างๆ ในอดีต ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบล้านหรือร้อยล้านคนทั่วโลก โดยไทยรัฐออนไลน์จะขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ โรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยระบาดไปทั่วโลก และบางชนิดยังพบเห็นอยู่ในปัจจุบันเสียด้วย

 

กาฬโรค

...

กาฬโรค เป็นโรคที่พบเจอตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ และเป็นโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดชนิดไม่มีโรคใดเทียบติด มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 'เยอร์ซิเนีย เปสติส' (Yersinia pestis) โดยมีสัตว์ฟันแทะและหมัดเป็นพาหะนำโรค รวมถึงสามารถแพร่ในอากาศ ผ่านการสัมผัสโดยตรง หรือโดยอาหารหรือวัสดุที่ปนเปื้อน อาการของกาฬโรคขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีเชื้อมากในแต่ละบุคคล เช่น กาฬโรคที่ต่อมน้ำเหลือง (bubonic plague) กาฬโรคแบบโลหิตเป็นพิษ (septicemic plague) ในหลอดเลือด กาฬโรคแบบมีปอดบวม (pneumonic plague) หากไม่นับยุคก่อนคริสตกาล การระบาดของกาฬโรคแบ่งได้ 3 ช่วงใหญ่ ได้แก่

ช่วงที่ 1 ยุคกลางตอนต้น เริ่มจากเหตุการณ์ที่เรียกว่า 'กาฬโรคแห่งจัสติเนียน' ที่จักรวรรดิโรมันตะวันออกในปี ค.ศ. 541-542 เป็นการระบาดครั้งแรกเท่าที่มีการบันทึก และเป็นครั้งแรกที่มีการพบกาฬโรคที่ต่อมน้ำเหลือง โดยคาดกันว่ากาฬโรคซึ่งมีต้นกำเนิดในจีน แพร่กระจายสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล จากธัญพืชที่นำเข้าจากอียิปต์ กอปรกับนครแห่งนี้มีหนูและหมัดเป็นจำนวนมากจึงระบาดอย่างรวดเร็ว ช่วงที่กาฬโรคระบาดถึงขีดสุด ชาวคอนสแตนติโนเปิลต้องเสียชีวิตอย่างน้อยวันละ 10,000 คน และสุดท้ายต้องเสียประชากรไปกว่า 40% ต่อมามันแพร่เข้าสู่เมดิเตอร์เรเนียนในปี ค.ศ. 588 ในดินแดนที่ปัจจุบันคือฝรั่งเศส นักวิจัยประเมินว่า กาฬโรคแห่งจัสติเนียน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคน จำนวนประชากรในยุโรปลดลงกว่า 50% ในช่วง ค.ศ. 541-700

ช่วงที่ 2 แบล็กเดธ (Black Death) ถึงศตวรรษที่ 19 เหตุการณ์แบล็กเดธเกิดในระหว่างปี ค.ศ. 1347-1351 เริ่มต้นจากประเทศจีนและระบาดตลอดเส้นทางสายไหม (Silk Road) และกระจายไปทั่วเอเชีย, ยุโรป และแอฟริกา รวมถึงมีปัจจัยเสริมอย่างวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหาร ทำให้ประชากรโลกในขณะนั้นลดลงจาก 450 ล้านคน เหลือระหว่าง 350-375 ล้านคน จีนเสียประชากรราวครึ่งประเทศจาก 123 ล้านคนเหลือเพียง 65 ล้านคน ยุโรปเสียประชากร 1 ใน 3 จาก 75 ล้านคน เหลือราว 50 ล้านคน ขณะที่แอฟริกาเสียประชากรราว 1 ใน 8 จาก 80 ล้านคน เหลือ 70 ล้านคน จากนั้นกาฬโรคยังคงหลอกหลอนชาวยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียนตลอดศตวรรษที่ 14-17 รวมถึงในโลกมุสลิมช่วงศตวรรษที่ 17-19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกหลายล้านคน

ช่วงที่ 3 ศตวรรษที่ 19-20 เริ่มขึ้นที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในปี ค.ศ. 1855 และแพร่ระบาดไปทั่วทุกทวีป มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 12 ล้านคน ในอินเดียและจีน ส่วนใหญ่เป็นกาฬโรคชนิดในต่อมน้ำเหลือง และกาฬโรคแบบมีปอดบวม ในช่วงนี้เป็นช่วงที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแบคทีเรีย 'เยอร์ซิเนีย เปสติส' นำไปสู่การคิดวิธีรักษากาฬโรคสมัยใหม่ มีการพัฒนาและทดลองใช้วัคซีนต้านเชื้อกาฬโรคในต่อมน้ำเหลืองเป็นครั้งแรกในปี 1897 ปัจจุบัน กาฬโรคสามารถรักษาหายได้หากตรวจพบเร็ว โดยใช้ยาปฏิชีวนะต่างๆ

 

ฝีดาษ

ฝีดาษเกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด คือ 'วาริโอลา เมเจอร์' (Variola major) และ 'วาริโอลา ไมเนอร์' (Variola minor) ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่า เป็นโรคติดต่อร้ายแรง มีลักษณะเฉพาะคือมีผื่นขึ้นตามตัว ไข้สูง ปวดศีรษะ ชัก และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน มีอัตราการเสียชีวิต 30% เชื่อกันว่าฝีดาษเกิดขึ้นมาบนโลกนี้นานกว่า 10,000 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดพบในมัมมี่ของฟาโรห์ รามเสส ที่ 5 แห่งอียิปต์โบราณ ซึ่งสวรรคตด้วยโรคนี้ เมื่อ 1,145 ปี ก่อนคริสตกาล และคาดว่าเชื้อเดินทางเข้าสู่ประเทศจีนในช่วงศตวรรษที่ 1 และแพร่กระจายจากจีนเข้าสู่ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 6 และเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 735-737 ส่งผลให้ประชากร 1 ใน 3 ของประเทศในขณะนั้นเสียชีวิต

...

ฝีดาษเป็นโรคที่คุกคามชีวิตมนุษย์โลกยาวนานกว่า 2,000 ปี มันค่อยๆ แพร่เข้าสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรป ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 จนกระทั่งในศตวรรษที่ 16 มันก็กลายเป็นโรคที่พบเจอได้ทั่วยุโรป รวมถึงในจีนและอินเดีย และกลายเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของประชากรในหลายประเทศ ก่อนเกิดการระบาดครั้งใหญ่ไปทั่วโลกยกเว้นเพียงออสเตรเลียและเกาะเล็กๆ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 โดยในยุโรปแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 400,000 ราย เด็กแรกเกิดในสวีเดนราว 10% เสียชีวิตทุกปี ขณะที่จำนวนทารกเสียชีวิตในรัสเซียน่าจะสูงกว่ามาก แต่ไม่มีการบันทึกสถิติ ต่อมามีการพัฒนาวัคซีนต้านโรคฝีดาษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทำให้จำนวนผู้ป่วยในยุโรปและอเมริกาเหนือลดลง และมีการพบไวรัส วาริโอลา ไมเนอร์ ซึ่งทำให้เกิดโรคฝีดาษที่มีอาการเบากว่าเป็นครั้งแรก

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เกิดการระบาดของโรคฝีดาษจากไวรัส วาริโอลา ไมเนอร์ พร้อมๆ กับฝีดาษจากไวรัส วาริโอลา เมเจอร์ ในหลายพื้นที่ของแอฟริกาและในโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 300-500 ล้านราย โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 1967 เพียงปีเดียวก็มีผู้เสียชีวิตจากฝีดาษถึง 15 ล้านคนแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนตลอดศตวรรษที่ 19-20 ทำให้ผู้ป่วยฝีดาษทั่วโลกลดลงอย่างมาก และองค์การอนามัยโลกก็ออกประกาศในปี 1979 ว่า โรคฝีดาษถูกกำจัดไปจากโลกนี้แล้ว

 

มาลาเรีย

...

มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น เป็นโรคที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ สาเหตุคือ ปรสิตโปรโตซัว สกุล 'พลาสโมเดียม' (Plasmodium) ก่อให้เกิดอาการป่วยทั่วไป เช่น มีไข้และปวดศีรษะ แต่กรณีที่ติดเชื้อรุนแรง อาการอาจหนักถึงโคม่า หรือเสียชีวิตได้ มาลาเรียพบมากในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน มักพบในพื้นที่ชนบทมากกว่าในเมือง เช่นหลายเมืองแถบลุ่มแม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบเรียกได้ว่าปลอดเชื้อมาลาเรีย แต่โรคนี้กลับปรากฏในเขตชานเมืองหลายแห่ง รวมถึงบริเวณตะเข็บชายแดนและแนวป่า ตรงข้าม มาลาเรียในแอฟริกาปรากฏทั้งในชนบทและในเมือง แต่ความเสี่ยงในเมืองที่ใหญ่มีน้อยกว่า

เมื่อปี 2010 องค์การอนามัยโลก (ฮู) ประเมินว่าในปีนั้นมีผู้ป่วยมาลาเรีย 219 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้เสียชีวิตกว่า 660,000 ราย แต่สถาบันอื่นๆ เชื่อว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยระหว่าง 350-550 ล้านคน และเสียชีวิตถึง 1.24 ล้านคน เพิ่มจากประมาณ 1 ล้านคนในปี 1990 โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี นอกจากนี้ ฮูเคยเตือนด้วยว่า ทุกปีจะมีสตรีมีครรภ์ 125 ล้านคน ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ ทะเลทรายซาฮารา เสี่ยงติดโรคมาลาเรีย และมีทารกตายจากการติดเชื้อมาลาเรียผ่านมารดาถึงปีละ 200,000 ราย ส่วนในยุโรปตะวันตกแต่ละปีจะมีผู้ป่วยมาลาเรียเฉลี่ยปีละ 10,000 คน ในสหรัฐอมเริกา อยู่ที่ปีละ 1,300-1,500 คน จำนวนผู้เสียชีวิตจากมาลาเรียในยุโรประหว่างปี 1993-2003 มีประมาณ 900 ราย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากมาลาเรียลดน้อยลงมา โดยฮูระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากมาลาเรียในปี 2010 ลดลงจากปี 2000 ราว 1 ใน 3 จากการใช้มุ้งกันยุงและการใช้ยาต้านมาลาเรีย ชื่อ 'อาตีมิซินิน' (artemisinin) อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตในทวีปแอฟริกายังสูงมาก มีอัตราการเสียชีวิตถึง 85-90% และจากทำแผนที่การระบาดของปรสิต พลาสโมเดียม สปีชีส์ 'ฟอลซิปารัม' (P. falciparum) ในปี 2010 พบว่า มีประมาณ 100 ประเทศที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย และทุกๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวนานาชาติเดินทางไปยังประเทศเหล่านี้ และมากกว่า 30,000 คน จะติดโรคมาลาเรีย

...

 

อหิวาตกโรค

อหิวาตกโรค หรือ โรคห่า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 'ไวบริโอ คอเลอรา' (Vibrio cholerae) ที่ลำไส้เล็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการท้องร่วง อาเจียน ร่างกายจะขับน้ำออกมาเป็นจำนวนมาก นำไปสู่ภาวะขาดน้ำ เสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย กระทั่งเสียชีวิต การติดต่อเกิดจากการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้ออหิวาฯ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุกๆ ดิบๆ โรคอหิวาฯ ระบาดครั้งแรกที่รัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย ในปี ค.ศ. 1817 (จนถึง 1824) เชื่อว่าเกิดจากสภาพการใช้ชีวิตที่แร้นแค้น รวมถึงแหล่งน้ำที่มียังเป็นน้ำนิ่ง เหมาะแก่การเติบโตของเชื้ออหิวาฯ ปีเดียวกัน โรคนี้แพร่กระจายสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, จีน, ญี่ปุ่น, ตะวันออกกลาง และทางใต้ของรัสเซีย ผ่านเส้นทางค้าขายทั้งทางบกและทะเล

ส่วนการระบาดครั้งที่ 2 เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1827-1835 ที่สหรัฐฯ และยุโรป จากความก้าวหน้าด้านการขนส่งและการค้าโลก การระบาดครั้งที่ 3 เกิดในปี ค.ศ. 1839-1856 โรคนี้แพร่กระจายสู่แอฟริกาเหนือจนถึงอเมริกาใต้ ก่อนจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราในการระบาดครั้งที่ 4 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1863-1875 การระบาดครั้งที่ 5 และ 6 เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1881-1896 และ 1899-1923 แต่การระบาดในช่วงนี้มีผู้เสียชีวิตน้อย เนื่องจากโลกเข้าใจแบคทีเรียก่อโรคอหิวาฯ มากขึ้น และการระบาดครั้งสุดท้ายเกิดในอินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 1961 และพบอหิวาฯ สายพันธ์ุใหม่ เรียกว่า เอล ตอร์ (El Tor) ซึ่งยังคงพบเจอในประเทศกำลังพัฒนาในปัจุบัน

จากโรคท้องถิ่น อหิวาฯ กลายเป็นหนึ่งในโรคที่แพร่กระจายและเป็นอันตรายต่อชีวิตมากที่สุดในยุคศตวรรษที่ 19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านคน ที่รัสเซียระหว่างปี ค.ศ. 1847-1851 ประชาชนมากกว่าล้านคนเสียชีวิตเพราะโรคนี้ อหิวาฯ ยังคร่าชีวิตชาวอเมริกันถึง 150,000 คน ในการระบาดครั้งที่ 2 กลายเป็นโรคแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดให้ต้องรายงานทันทีเมื่อพบผู้ป่วย และระหว่างปี ค.ศ. 1900-1920 มีผู้เสียชีวิตเพราะโรคอหิวาฯ ราว 8 ล้านคนในอินเดีย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันอหิวาฯไม่ใช่โรคที่เป็นภัยคุกคามในยุโรปและอเมริกาเหนืออีกแล้ว เพราะมีระบบการกรองน้ำและการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนในระบบน้ำประปา แต่อหิวาฯ ยังส่งผลกระทบในประเทศที่กำลังพัฒนา

 

เอดส์

เอดส์ เกิดจากไวรัส เอชไอวี (HIV) ตระกูลเรโทรไวรัส เป็นสาเหตุทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือระบบภูมิต้านทานล้มเหลว ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมายอันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ติดต่อได้ทางเลือด, อสุจิ, สารคัดหลั่งในร่างกาย หรือน้ำนม ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีหากไม่ได้รับการรักษาจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 9-11 ปี จัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง ที่ยังพบได้มากในปัจจุบัน และยังไม่มียาหรือวัคซีนสำหรับรักษาโดยเฉพาะด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในหลายพื้นที่ของโลก เอดส์กลายเป็นโรคเรื้อรังมากกว่าโรคที่ทำให้ถึงตาย โดยกระบวนการรักษาที่เรียกว่า การบำบัดด้วยยาต้านเรโทรไวรัสที่มีประสิทธิภาพรุนแรง (HAART) และการป้องกันที่เหมาะสม สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 80%

โรคเอสด์ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1981 ในสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกันและคนรักร่วมเพศ โดยพวกเขามีอาการของโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ นิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ (Pneumocystis jirovecii) ซึ่งพบได้ในคนที่มีภูมิต้านทานบกพร่องอย่างมากเท่านั้น ก่อนที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการของโรคมะเร็งผิวหนังหายากที่เรียกว่า 'คาโปซี' (Kaposi's sarcoma) จากนั้นจำนวนผู้ป่วยสองโรคนี้ในสหรัฐฯ มากขึ้น ส่งผลให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ต้องจัดตั้งเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจขึ้นมาติดตามการระบาดครั้งนี้ โดยตั้งชื่อโรคว่า โรคความคุ้มกันบกพร่องอันเกี่ยวเนื่องกับคนรักร่วมเพศ (GRID) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นเอดส์ (AIDS: กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม) ในปี ค.ศ. 1982 เมื่อพบว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในกลุ่มเกย์เท่านั้น และชื่อเดิมทำให้เข้าใจผิด

ตั้งแต่พบโรคเอดส์ใน ค.ศ. 1981 จนถึง ค.ศ. 2009 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคร้ายนี้แล้วเกือบ 30 ล้านคน ขณะที่ในปี ค.ศ. 2012 มีการประเมินว่า ในปีนั้นมีผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่โดยมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายทั่วโลกประมาณ 35.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาย 17.2 ล้าน, ผู้หญิง 16.8 ล้าน และอีก 3.4 ล้านคน เป็นผู้มีอายุไม่เกิน 15 ปี ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 2010 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ราว 1.8 ล้านคน โดยกว่า 66% อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยเอดส์มากที่สุด 22.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 68% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในปี 2010 ขณะที่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นลำดับ 2 มีผู้ติดเชื้อ 4 ล้านคน จากประชากร 30 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 250,000 คน