หลังเปิดตัวอย่างอลังการเมื่อสัปดาห์ก่อน สถานีโทรทัศน์น้องใหม่แกะกล่อง “ไทยรัฐทีวี” ก็กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปอย่างช่วยไม่ได้ ใครๆ ก็สนใจ พูดถึงและจับตาดู โดยเฉพาะคำถามที่ว่า...ยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อซึ่งสร้างสมชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือมากว่าหกสิบปี เมื่อตัดสินใจก้าวมาจับธุรกิจบรอดคาสต์ จะออกมาหน้าตาอย่างไร และสโลแกนที่ว่า “คิดต่างอย่างเข้าใจ” จะถูกนำเสนอและทำให้ผู้ชมพบประสบการณ์ใหม่ได้อย่างไรบ้าง

มาดามก็เป็นคนหนึ่งที่เฝ้ามองการเติบโตทางความคิดและการสร้างสรรค์ของทีมงาน “ไทยรัฐ” อยู่ห่างๆ ยืนยันให้ได้เลยว่าทุกคน “มีความตั้งใจ” จะผลิตผลงานคุณภาพ โดยเฉพาะรายการข่าวและสาระบันเทิงในรูปแบบใหม่ๆ ออกสู่สายตาของประชาชน แม้ผู้บริหารและทีมงานหลายคนจะเป็นน้องใหม่ในวงการ แต่เรื่อง “ไฟ” และ “พลังใจ” แต่ละคนมีมากมายจนน่านับถือและขอชื่นชมจากใจจริงค่ะ

...

เชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยที่มาของสโลแกน “คิดต่างอย่างเข้าใจ”...อย่างที่ผู้บริหาร “คุณวัชร วัชรพล” ให้สัมภาษณ์ (http://www.thairath.co.th/content/418642) “เราเริ่มทุกอย่างจากความเข้าใจ...เริ่มจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 60 ปี เราจึงเชื่อมั่นว่าเราเข้าใจผู้บริโภค ผู้เสพข่าวคนไทยว่าต้องการเสพข่าวและสาระแบบไหน” แต่เท่านั้นคงยังไม่พอค่ะ “คิดต่างอย่างเข้าใจ” ที่ว่า ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูที่ถูกคิดหรือประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้โก้เก๋ แต่ที่สำคัญ...เบื้องหลัง “ความเข้าใจ” ที่ว่าคือเราเข้าใจผู้บริโภคว่ามีพื้นฐานความคิดที่แตกต่าง มีความต้องการหลากหลาย และเราก็พร้อมจะเสิร์ฟเรื่องราวดีๆ ให้ตอบโจทย์ของทุกคน

จากสโลแกน “คิดต่างอย่างเข้าใจ” ถูกนำมาตีความและถ่ายทอดสู่ผู้ผลิตมากหน้าหลายตา ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ โดยเน้น “วิธีการเล่าเรื่อง” และ “คุณภาพการผลิต” เป็นหลัก ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็น “ความคิดต่างอย่างเข้าใจ” เพราะเราเข้าใจว่าผู้ชมต้องการความแปลกใหม่ของเนื้อหา ในขณะเดียวกันก็ต้องการเห็นมุมมองและการนำเสนอที่แตกต่าง แม้จะเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เดาหรือคาดการณ์กันได้อยู่แล้ว แต่วิธีการใหม่ๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งดึงดูดที่ดีเสมอ

ละครไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ แม้จะถูกนำมาสร้างกี่ครั้งกี่หน คนก็ตามดู เพราะอยากรู้ว่านักแสดงที่เปลี่ยนหน้าและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนตามกาลเวลาจะถูกนำเสนอในบทละครอย่างไร...เชื่อไม่เชื่อก็ลองดู “อีลำยอง” กับ “คุณนายกั้ง” เป็นตัวอย่าง แม้จะคงเค้าโครงเดิมไว้ แต่สีสันเล็กๆ น้อยๆ ที่เปลี่ยนตามสมัยก็ทำให้คนดูแทบละจอไปไหนไม่ได้

...

แต่ที่ “ไทยรัฐทีวี” พยายามจะนำเสนอจริงๆ คือเนื้อหาสาระที่ให้มุมมองแตกต่าง รวมถึงสารพันประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต หรือแม้กระทั่งเป็น “ส่วนหนึ่งในสังคมไทย” เหมือนกับที่หนังสือพิมพ์ทำมาตลอด สมกับความเจตนารมณ์ของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่อยากให้ “เช้าอ่านไทยรัฐ เย็นดูไทยรัฐทีวี” (แต่มาดามอยากจะขอเติมให้เล็กน้อยว่า...แต่ถ้าไม่มีเวลาแน่นอนก็ให้เปิดไทยรัฐออนไลน์)

ตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มาดามได้มีโอกาสลองเปิดดูช่อง “ไทยรัฐทีวี” บ่อยครั้ง และเห็นว่ามีหลายรายการที่มีมุมมองน่าสนใจ (ไม่นับรายการข่าวที่มีจุดขายเป็นนิวส์โชว์ หรือรายการข่าวรูปแบบพิเศษที่ใช้เทคนิคและวิธีการรายงานที่มีสีสันกว่าการเล่าเรื่องแบบดั้งเดิม) ทั้งนี้ทั้งนั้น คงจะการันตีอะไรไม่ได้มากนัก เพราะมาดามมองว่า “จุดแข็ง” ที่สถานีต้องพิสูจน์คือการนำเรื่องราวต่างๆ มานำเสนอให้ตอบโจทย์ (ข้อแม้/ความเชื่อ/อคติทั้งหลาย) ผู้บริโภคให้มากที่สุด

...

“ไทยรัฐทีวี” คงไม่ได้ต้องการเสิร์ฟ “ข้าวผัด” แค่สูตรเดียวเพื่อเอาใจผู้บริโภค แต่คงมี “ข้าวผัด” อีกหลายสูตร หลากรสชาติที่จะทำให้ผู้ชมเปิดช่องให้นานที่สุด...และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้นำเสนอเมนูจานอื่นในอนาคต

“ผมเชื่อว่ามันไม่ใช่ซุปเปอร์สตาร์อย่างเดียวที่จะทำให้คนดู มันยังมีเนื้อหาอื่นๆ อีก”
วัชร วัชรพล

คำพูดนี้ของผู้บริหาร ถือเป็น “จุดยืน” ที่น่าสนใจและท้าทายมาก เพราะผู้ชมชาวไทยเป็นกลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะพอสมควร เรื่อง “บ้าดารา” หรือ “เห่อไฮโซ” นี่ขอให้บอก คงต้องคอยดูกันว่าคำประกาศกร้าวของผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงจะเปลี่ยนใจผู้ชมได้หรือไม่...

“รักเราน้อยๆ แต่ขอให้รักเรานานๆ”
วัชร วัชรพล

จนกว่าจะพบกันใหม่สัปดาห์หน้า
มาดามอองทัวร์
Twitter: @MadamAutuer