ลอยเรือ...ล่องฮาลองบก
ผ่านไป 5-6 ปี เพิ่งมีโอกาสกลับไปเยือน กรุงฮานอย เมืองหลวงประเทศเวียดนาม หลังได้รับเชิญเป็นแขกวีไอพีของ โรงแรม เจดับบลิว แมริออต ฮานอย (www.marriott.com) ที่เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
อาคารรูปมังกร...โรงแรมแมริออต ฮานอย
ทริปนี้ไปแบบกินหรูอยู่สบาย คงไม่ต้องแนะนำอะไรมากกับที่พักแบรนด์นี้ เพราะแค่ชื่อก็การันตีคุณภาพแล้วว่าเลิศหรูขนาดไหน ยิ่งได้เห็นตัวอาคารรูปทรงมังกรที่สวยงามแปลกตาตั้งตระหง่านอยู่ริมทะเลสาบถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย ก็รับรู้ได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการและความตั้งใจในการก่อสร้าง แต่ที่แปลกใจคือ เมืองเก่าอายุพันปีแห่งนี้มีทีเด็ดอะไร ถึงจูงใจให้โรงแรมชั้นนำระดับ 5 ดาวของโลก เลือกตัดสินใจมาลงทุน
จำได้ว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อน คนไทยหลายคนบ่นพึม เพราะที่พักในฮานอยส่วนใหญ่ล้วนทรุดโทรม ร้านอาหารไม่อร่อย แหล่งช็อปปิ้งมีแต่สินค้าพื้นเมืองคุณภาพแย่ และจราจรแสนวุ่นวาย แต่ช่วงนั้นการท่องเที่ยวเวียดนามบูมสุดขีด หลังเพิ่งเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวไม่นาน ทัวร์ไทยเลยแห่ไปตะลุยฮานอย รวมทั้งเมืองท่องเที่ยวอื่นๆในเวียดนาม จนโรงแรมแทบทุกแห่งเต็มแน่น พ่อค้าแม่ขายชาวเวียดพูดภาษาไทยคล่องปาก มาพักหลังเริ่มซาลง คณะพี่ไทยขาช็อปแห่ไปถล่มเกาหลีใต้และญี่ปุ่นแทน
สะพานเทฮุก..ข้ามทะเลสาบคืนดาบไปยังวัดเนินหยก
ฮานอยวันนี้เปลี่ยนโฉมไปมาก จากสาวน้อยบ้านนอกซอมซ่อที่เพิ่งรอดพ้นเงื้อมมือของมหาอำนาจที่มาสุมไฟสงครามกลาง เมือง อัพเกรดเป็นสาวสวยรวยไฮโซ หลังตัวเลขจีดีพีเติบโตต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี เศรษฐกิจเวียดนามพุ่งกระฉูด ถนนแห่งความเจริญทุกสายเลยมุ่งสู่กรุงฮานอย สอดรับกับตัวเมืองที่ขยับขยายไม่หยุด ตึกสูงระฟ้าอันดับต้นๆของโลกกำลังก่อสร้าง รถไฟทั้งลอยฟ้า ใต้ดิน และไฮสปีดเทรน อยู่ในแผนงานภาครัฐ ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่แบรนด์เนมดังและร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อก้องผุดกันสลอน สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมใจกลางเมือง อย่าง ทะเลสาบคืนดาบ วัดเนินหยก สะพานเทฮุก และถนนสามสิบหกสาย คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะแถบยุโรปที่พากันเดินหาซื้อโปสเตอร์ “ลุงโฮ” จิตวิญญาณของคนเวียดนามอย่างคลั่งไคล้
โปสเตอร์ลุงโฮ...ผู้นำปฏิวัติที่ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย
สามล้อถีบซิโคล่
และเมื่อมีโอกาสมาเยือนฮานอยทั้งที พลาดไม่ได้กับการนั่งสามล้อถีบ “ซิโคล่” สัญลักษณ์ประจำ เมือง ฝ่าการจราจรที่แสนวุ่นวาย ลุยไปสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนเวียดที่ยังแทรกซึมอยู่ทุกซอกมุมของเมือง
อาคารยุคอาณานิคมฝรั่งเศสหลายหลังได้รับการปรับปรุงเป็นร้านอาหารและโรงแรมหรูหรา มีคู่รักมาอาศัยเป็นฉากถ่ายรูปงานวิวาห์ไปอัพเฟซกันคึกคัก ขณะที่หนุ่มสาวชาวเวียดส่วนใหญ่แต่งกายตามแฟชั่นทันสมัย ขับรถยนต์รุ่นใหม่ๆแล่นกันเกลื่อน
แม่ค้าเร่ขายบาแกตต์..หน้าโบสถ์เซนต์โยเซฟฮานอย
ขณะที่สาวเวียดบางส่วนยังนิยมสวมชุด “อ่าวหญ่าย” ใส่หมวก “นอนลา” ปั่นจักรยานเป็นกิจวัตร อาหารการกินขึ้นชื่อ ทั้ง “ขนมปังบาแกตต์” และ “เฝอ” รสอร่อยๆ ที่หาชิมได้ริมสองข้างทาง มีสิ่งเดียวที่ยังไม่เปลี่ยนคือฝูงแมงกะไซค์ (มอเตอร์ไซค์) ที่ยังคงครองความเป็นเจ้าถนนเช่นเดิม
ทั้งหมดนี้เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกรุงฮานอย ที่ต่างจากเมืองหลวงอื่นๆ ของอาเซียน เพราะมีความขลังของวัฒนธรรมเก่า ผสานกับความทันสมัยของผู้คนได้อย่างสอดคล้องลงตัว
วัดดิงห์เตียนฮว่าง
และเพราะฮานอย เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปสู่เมืองท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ เราออกจากฮานอย มุ่งลงใต้ไปยังจังหวัดนิงห์บิงห์ ที่อยู่ห่างไปราว 90 กิโล เมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อสัมผัสเสน่ห์เมืองหลวงเก่า ฮวาลือ (Hoa Lu) ซึ่งมีวัดเก่าแก่สวยงาม 2 วัด ตั้งอยู่ห่างกันแค่ 100 เมตร คือ วัดดิงห์เตียนฮว่าง เป็นวัดที่สร้างให้กษัตริย์ราชวงศ์ดิงห์ ที่เคยปกครองอาณาจักรไดโกเวียด หรือเวียดนามในอดีต และ วัดเลฮวาน แห่งราชวงศ์เล ซึ่งกษัตริย์ทั้งสองราชวงศ์นี้เป็นผู้นำการต่อสู้ปลดแอกการปกครองจากจีนเมื่อราว 1 พันปีก่อน
วิถีชีวิตชาวประมงตัมก็อก
จากนั้นเราเดินทางต่อไปยัง ตัมก็อก (Tam Coc) ที่อยู่ห่างกันไม่มากนัก ทันทีที่ได้เห็นนาข้าวเขียวขจี ตัดกับสายน้ำทอดยาวผ่านกลางหุบเขาหินปูนสลับซับซ้อน ท่ามกลางหมอกขาวจางๆ ลอยอ้อยอิ่งและสายลมเอื่อยๆพัดเย็นสบาย หลายคนในคณะต่างตื่นตาตื่นใจถึงกับอุทานว่า “นี่มันสรวงสวรรค์บนพื้นโลกชัดๆ”
ทัศนียภาพของภูเขาหินปูนที่นี่ คล้ายกับ “ฮาลอง เบย์” เมืองชายทะเลชื่อดังริมอ่าวตังเกี๋ย แต่ต่างกันตรงที่ภูเขาของตัมก็อกตั้งอยู่บนพื้นดิน จึงได้สมญานามว่า “ฮาลองบก”
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนตัมก็อก มีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย ทั้งปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตคนชนบทตามหมู่บ้าน แต่ที่นิยมกันมากที่สุดจนเป็นสโลแกนเก๋ๆ ปรากฏบนโปสเตอร์เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาทดลอง “พายเรือบนนาข้าว” โดยจะมีชาวบ้านในพื้นที่พายเรือให้นั่ง ลอยลำไปตามแม่น้ำที่ทอดผ่านทุ่งข้าว สองข้างทางที่ขนาบด้วยเทือกเขาหินปูนสูงเด่นตั้งตระหง่านรายรอบ และลุ้นระทึกกับการลอดผ่านถ้ำ 3 แห่ง ใช้เวลาสัก 2 ชั่วโมง
แรกๆพวกคนเรือก็ใช้มือพายตามปกติ หากอารมณ์ดีอาจมีบทเพลงขับกล่อมคนนั่งไปด้วย แต่พอเริ่มเมื่อย ทั้งเขาและเธอก็จะใช้เท้าพายแทน ฉะนั้น สำนวนไทยที่ว่า “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” คงนำมาใช้กับคนที่นี่ไม่ได้แน่ๆ
แม้วันนี้รัฐบาลเวียดนามจะมีนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่เมืองอุตสาหกรรม แต่ในเรื่องการท่องเที่ยว ภาครัฐยังคงนโยบายอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
หลายแห่งที่ได้ไปเยือน ผู้คนยังไม่หลงลืมรากเหง้าตัวเอง ขณะที่ตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างอัปลักษณ์ขัดหูขัดตา
ก็ได้แต่หวังว่าชาวเวียดนาม จะสามารถฟันฝ่ากระแสโลกยุคออนไลน์ ดำรงอัตลักษณ์ของตนไว้เช่นนี้ได้ตลอดไป.
...