คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เผยรายงานสรุปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ชี้ปัญหาต่างๆ ในโลกจะรุนแรงขึ้น และเหลือเวลาสำหรับแก้ปัญหาไม่มาก...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ขององค์การสหประชาชาติ เผยรายงานสรุปว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งออกทุก 6 ปี ที่พวกเขาระบุว่า ประเมินผลกระทบจากโลกร้อนได้ครอบคลุมที่สุด ในการประชุมนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่จังหวัดโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นวันนี้
รายงานฉบับนี้ซึ่งมีเนื้อหามากกว่า 1,000 หน้า จากการทบทวนผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 12,000 ชิ้น เน้นย้ำให้เห็นความจริงที่ว่า ปริมาณหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตั้งแต่รายงานล่าสุดในปี 2007 สภาพอากาศในทุกทวีปและมหาสมุทรเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและมนุษย์ตลอดช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยในรายงานระบุว่า การเพิ่มขึ้นของความร้อน จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงและการแพร่กระจายของผลกระทบที่ไม่อาจนำกลับคืนมาได้
...
ราเจนดรา ปาเชารี ประธานของไอพีซีซีเผยต่อผู้สื่อข่าวที่โยโกฮามาว่า ไม่มีใครในโลกนี้ไม่ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ไอพีซีซียังหวังให้รายงานฉบับนี้ เป็นแนวทางให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการใช้มาตรการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถูกกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน จะสามารถช่วยซื้อเวลาในการจัดการปัญหานี้ได้มากขึ้น
ด้าน เคลลี เลวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศและพลังงานจากสถาบันทรัพยากรโลก ในสหรัฐฯ ระบุว่า จากข้อมูลในรายงาน ในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า เราจะขังตัวเองอยู่ในภาวะโลกร้อนซึ่งจะทำให้โลกนี้อยู่ยากขึ้น โดยขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเลือกในวันนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงที่เรากำลังจะเผชิญในศตวรรษนี้
ทั้งนี้ รายงานของไอพีซีซีเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบในระยะสั้นต่อระบบธรรมชาติที่สำคัญในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า และระบุ 5 เหตุผลที่ควรกังวลต่อภาวะโลกร้อนซึ่งรวมถึง ความเสี่ยงต่อระบบนิเวศพิเศษอย่างน้ำแข็งขั้วโลก หรือแนวปะการัง ซึ่งจะได้รับผลกระทบในระดับที่สูงมาก หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อน้ำทะเลและระบบน้ำจืด มหาสมุทรจะมีความเป็นกรดมากขึ้นส่งผลร้ายต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตหลากสายพันธ์ุที่ใช้ปะการังเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนบนบก สัตว์, พืช และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะเริ่มอพยพไปอาศัยในที่สูงหรือเข้าใกล้ขั้วโลกมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ขณะที่มนุษย์จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในอีกศตวรรษข้างหน้า
ด้านความมั่นคงทางอาหาร เป็นเรื่องที่ต้องกังวลอย่างมาก ผลผลิตอย่างเช่น ข้าวโพด, ข้าว และข้าวสาลี จะได้รับผลกระทบทั้งหมดในปี 2050 และรุนแรงขึ้นอีกหลังจากนั้น ในขณะเดียวกัน ปริมาณความต้องการอาหารของประชากรโลก ซึ่งคาดว่าในขณะนั้นจะมีถึง 9 พันล้านคน ก็เพิ่มสูงขึ้น ปลาซึ่งเป็นอาหารฉุกเฉินสำหรับหลายคน จะอพยพไปยังน่านน้ำอื่น เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้น
มนุษย์จะเสียชีวิตจากน้ำท่วมและคลื่นความร้อนมากขึ้น รายงานยังระบุถึงความเสี่ยงใหม่ๆ อีกหลายอย่าง เช่นความเสี่ยงสำหรับผู้ที่ทำงานในที่แจ้ง อย่างเช่น ชาวไร่ชาวนาและคนงานก่อสร้าง, ปัญหาผู้อพยพมากขึ้น รวมถึงปัญหาข้อพิพาทและความมั่นคงในระดับชาติด้วย เพราะประชาชนที่จนอยู่แล้วจะยิ่งจนลงอีก