ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ประชาคม อาเซียนจะหลอมรวมขึ้น แต่การเตรียมการเพื่อรองรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ถูกละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งทางกฎหมายและทางร่างกายจิตใจมากที่สุดคือ “คนไร้รัฐ” กับ “คนไร้สัญชาติ”...ยังไม่เกิดขึ้น
“คนไร้รัฐ” คือคนที่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวในระบบการทะเบียนราษฎรกับรัฐเจ้าของดินแดนที่ตนได้อาศัยอยู่จริง เป็นคนตกหล่นไม่มีหลักฐานใดๆ แสดงตนทางกฎหมาย
หลักการบันทึกข้อมูลประชากรโดยระบบการทะเบียนราษฎร เพื่อให้ประชากรมีรัฐคุ้มครองตามกฎหมายนั้น เริ่มจากจุดเริ่มต้นของชีวิตคือ การเกิด การอยู่อาศัย การแต่งงาน การโยกย้ายถิ่นที่อยู่ จนถึงวาระสุดท้าย คือ การตาย...“การจดทะเบียนคนเกิด” เมื่อมีการเกิด พ่อแม่หรือญาติต้องไปแจ้งเกิดที่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนหมู่บ้านคือผู้ใหญ่บ้าน เพื่อออกหนังสือรับรองการเกิด สูติบัตร...บันทึกลงในระบบทะเบียนราษฎร เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าบุคคลนั้นมีรัฐเป็นผู้ดูแลตามกฎหมาย ทำให้บุคคลนั้นไม่อยู่ในสถานะ “คนไร้รัฐ”
ปัญหาของการจดทะเบียนการเกิด คือ การขาดความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนคนเกิดของพ่อแม่ ความไม่เข้าใจในข้อกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการเป็นผู้ช่วยนายทะเบียน จึงมีผู้ตกหล่นทางทะเบียนราษฎรเพราะไม่ได้แจ้งเกิดกลายเป็นคนไร้รัฐตลอดชีวิต
ถัดมา “การจดทะเบียนคนอยู่” นั่นคือการบันทึกรายการบุคคลเข้าสู่ทะเบียนราษฎรหรือที่เรียกว่าทะเบียนบ้าน สำหรับคนที่มีสัญชาติ
ของประเทศนั้นหรือคนต่างด้าวเข้าเมืองที่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยไม่ว่าจะได้รับสิทธิอาศัยถาวรหรือไม่ถาวรก็ตาม
ปัญหาการจดทะเบียนคนอยู่ คือ สำนักทะเบียนปฏิเสธการรับคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติตามที่กำหนดในมาตรา 38 วรรค 2 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 โดยอ้างว่ายังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีสั่งให้ดำเนินการสำรวจ จึงทำให้กลุ่มบุคคลที่ยังอยู่ในสถานภาพ “คนไร้รัฐ”...ยังตกเป็น “คนไร้รัฐ” ต่อไป
ลำดับที่สาม... “การจดทะเบียนสมรส” สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งกำหนดการจดทะเบียนสมรสนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะคนมีสัญชาติเท่านั้น คนไร้สัญชาติที่มีชื่ออยู่ในระบบการทะเบียนราษฎรมีเลขประจำตัว 13 หลักของรัฐนั้น...
ก็สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้
ปัญหาการจดทะเบียนสมรส พบว่าบางพื้นที่ สำนักทะเบียนอำเภอ ปฏิเสธไม่รับคำร้องการจดทะเบียนสมรสให้ โดยอ้างว่าผู้สมรสไม่มีสัญชาติไทย หรือในบางพื้นที่ตั้งเงื่อนไขในการจดทะเบียนสมรสโดยการเรียกพยาน หรือจะจดได้ต้องได้รับการอนุญาตเป็นรายๆไปจากทางปลัดหัวหน้าฝ่ายทะเบียนอำเภอนั้น ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ขอ เป็นเหตุให้ผู้ทรงสิทธิการก่อตั้งครอบครัวไม่อาจใช้สิทธินี้ได้ลำดับที่สี่...“การแจ้งการตาย” เมื่อมีคนตาย ญาติต้องไปจดแจ้งการตาย เพื่อให้สำนักทะเบียนออกเอกสารสำคัญการตาย หรือที่เรียกว่า
“ใบมรณบัตร” และจำหน่ายรายชื่อของคนคนนั้นออกจากระบบการทะเบียนราษฎร ป้องกันการนำรายชื่อบุคคลนั้นไปใช้ในทางทุจริต และเป็นการปรับปรุงระบบทะเบียนราษฎรให้ถูกต้อง
ปัญหาการแจ้งการตาย มาจากการที่ชาวบ้านขาดความรู้ ไม่ดำเนินการแจ้งการตาย อันเป็นเหตุให้เกิดช่องทางในการทุจริตนำรายชื่อบุคคลที่เสียชีวิตไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อาทิ ขายรายชื่อเพื่อไปจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน หรือการยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติตามกฎหมายต่อไป
ปัญหาการจดทะเบียนคนเกิด จดทะเบียนคนอยู่ และจดทะเบียนสมรสเป็นสาเหตุสำคัญทำให้คนไร้รัฐไม่มีตัวตนทางกฎหมาย ถูกละเมิดสิทธิ ถูกกดขี่ข่มเหง ขาดสิทธิอาศัย สิทธิการเดินทาง สิทธิในสุขภาพ สิทธิการทำงานอาชีพ สิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิทางการเมืองในประเทศไทยและประเทศในอาเซียน
ดังกรณี...ผู้เฒ่าที่อาศัยอยู่ในไทย 30–50 ปี แต่ยังเป็น “ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ”
เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” นักพัฒนาซึ่งทำงานด้านชาติพันธุ์ และร่วมต่อสู้ในกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา มองว่า พลเมืองในภูมิภาคแห่งนี้อยู่ร่วมกันเป็นเครือญาติมายาวนาน มีการอพยพเคลื่อนย้ายกันไป...มาตามความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ รวมทั้งการหนีภัยพิบัติต่างๆ ก่อนที่จะมีการแบ่งแยกตามเส้นเขตแดนของรัฐสมัยใหม่
ดังนั้น เราจึงควรคำนึงถึงอดีตการอยู่ร่วมกันด้วย มิใช่คิดแต่ความ มั่นคงโดยใช้เขตแดนเป็นตัวตัดสินปัญหาความไร้รัฐของเด็ก...เยาวชน ที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษา แม้ว่าจะมีระเบียบกระทรวงศึกษาฯว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 ที่กำหนดรับเด็กนักเรียนเข้าศึกษาไม่ว่าเด็กจะไร้รัฐหรือไร้สัญชาติ ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ.2548 โดยรัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับโรงเรียน ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน
แต่ก็มีปัญหาว่า ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ.2548 ถูกยกเลิกไปโดยยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีให้สำรวจกลุ่มเด็กนักเรียนที่ไร้รัฐในสถานศึกษา แต่สถานศึกษาต้องรับเด็กไร้รัฐเข้ามาเรียนตามระเบียบฯของกระทรวงศึกษาธิการและดำเนินการสำรวจนักเรียนเอง...จึงไม่ได้รับงบอุดหนุนรายหัวของนักเรียน ทำให้เกิดปัญหาด้านงบประมาณของโรงเรียน
แนวทางแก้ไขคือการใช้มาตรา 38 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ในการให้เด็กนักเรียนได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ และมีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0...เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวให้กับโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติ
นอกจากนี้แม้ว่าบุคคลจะมีสัญชาติไทยแล้วก็ตาม แต่ยังมีปัญหากระบวนการแก้ไขรายการทางทะเบียนราษฎรให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ตัวอย่าง...เยาวชนในเชียงรายที่ได้รับโอกาสเดินทางไปทำงานประเทศเกาหลีใต้ ไม่สามารถทำวีซ่าเพื่อเดินทางได้ เพราะบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านระบุเพียง พ.ศ.ที่เกิด มิได้ระบุวัน เดือนที่เกิด ซึ่งตามกฎหมายของเขาระบุว่า “หากข้อมูลไม่ครบถ้วนคือไม่มี วัน เดือน ปีเกิด ไม่สามารถออกวีซ่าให้ได้”
“เยาวชนกลุ่มนี้ได้เดินทางไปที่สำนักทะเบียนอำเภอเพื่อขอแก้ไขเอกสารทางทะเบียนราษฎร โดยใช้วุฒิการศึกษาที่ระบุวันเดือนปีเกิดเป็นพยานหลักฐานและพยานบุคคลผู้รู้เห็นการเกิด แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนกลับไม่รับคำร้อง อ้างพยานหลักฐานไม่เพียงพอ”
ขณะที่ปัญหาเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ทะเบียนอีกอำเภอหนึ่ง สามารถดำเนินการแก้ไขข้อมูลวันและเดือนที่เกิดให้ได้ โดยใช้ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 ข้อ 115 กำหนดให้ใช้พยานหลักฐานใหม่ที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง ในการใช้เป็นเอกสารยื่นคำร้องขอแก้ไข
สิ่งที่เกิดขึ้น ครูแดง มองว่า หากทางเจ้าหน้าที่อำเภอปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องและไม่ใช้ดุลพินิจไปในทางสร้างภาระให้กับผู้ประสบปัญหาแล้วนั้น ก็จะทำให้ปัญหาชาวบ้านได้รับการแก้ไขรวดเร็วที่สุดแล้ว ปัญหา “คนไร้รัฐ”...“คนไร้สัญชาติ” ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนทั้งในระดับชาติ อาเซียน และระดับโลก เพื่อให้ “มนุษย์” ทุกคนได้รับการคุ้มครองให้มีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็น “มนุษย์” อย่างเท่าเทียมกัน.
...