ตำราพรหมชาติ ร.ศ.120 เป็นตำราหมอดูของครูเก่าโบราณ มี 3 เล่มครับ คนรุ่นใหม่ไม่สนใจกันแล้ว แต่สำหรับคนรุ่นเก่า ไม่ว่าจะคิดจะทำอะไร ต้องใช้เป็นตัวช่วย

ตัวอย่าง จากพรหมชาติเล่ม 1 ตำราทำนา (เขียนตามอักขระเดิม เช่นข้าว สมัยก่อนเขียนเข้า) บางคำเป็นคำสมัยเก่า อ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็ลองอ่านกันดู

สิทธิการิย วันอาทิตย์ห้ามอย่าขายเข้าเปลือก จะเกิดอุบาทว์แก่คนฯ วันจันทร์อย่าขายผ้า จะไข้เจ็บถึงตน

วันอังคารอย่าขายเหล็ก ไฟจะไหม้เรือนฯ วันพุฒอย่าแรกนา แลสร้างสวน จะเกิดอุบาทว์แก่ตน มิดีฯ วันพฤหัศบดี อย่าขายสำฤทธิ์ แลหัวแหวนฯ วันสุกร์อย่าขายนา แล ขายทองฯ

วันเสาร์ อย่าขายสัตว์สองเท้า สี่เท้า มิดีแล

ผู้คนในสมัย ร.ศ.120 ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ตำราทำนาท่านเขียนว่า

สิทธิการิย วันอาทิตย์ไถนาดีฯ วันจันทร์แรกนาหว่านเข้าดี วันอังคารทำขวัญเข้าดี วันเสาร์ วันพุฒ ถากลานดีฯ วันพฤหัศบดี เอาเข้าขึ้นลานดีฯ วันเสาร์ วันจันทร์ ตัดไม้เสาเกียดดีฯ

วันพุฒ วันจันทร์ แรกนวดเข้าดีนักแลฯ

ถ้าจะแรกไถนา ได้แต่สามวัน คือ วันสุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์

เมื่อจะแรกนั้น ให้ทำกะทง 9 ใบ เมื่อจะไถให้เวียนตามเกล็ดนาคแต่สามรอด ก็ปลดเสียก่อน ถ้าปลดแล้ว อย่าให้ปักไถไว้ ให้นอนไถเสีย

ถ้าบุคคลผู้ใด จะทำ ก็ให้ทำดังกล่าวมานี้ จึงจะดีแล วันจันทร์ให้เอาเข้าขึ้นยุ้งดีนักแล

ผมว่านะ ชาวนาสมัยนี้ ไม่เชื่อคำโบราณ จะทำอะไรก็ตามใจสะดวก จึงเกิดเรื่องอย่างไม่น่าจะเกิดได้ เช่น อุตส่าห์จำนำข้าวกับเถ้าแก่ใหญ่ คือรัฐบาลทั้งที ครึ่งปีก็ยังไม่ได้เงินค่าข้าว

พรหมชาติเล่ม 2 มีสองหัวข้อใหญ่ ตำราดูเลข 7 ตัว สมัยวัยรุ่น ผมเปิดตำราของแม่ ทดลองใช้บ่อยๆ จนคุ้น

ส่วนหัวข้อที่ ไม่คุ้น ตำรา เถรสามทอง

...

ตำราเถรสามทอง ทำนายอยู่แค่สามเรื่อง ข่าวตาย ข่าวไข้และ ของหาย ทำนายดีร้าย เปลี่ยนแปลงไปตามวัน ทางจันทรคติตั้งแต่วัน 1 ค่ำ ถึงวัน 15 ค่ำ ไม่ว่าขึ้นแรม ทาย

เหมือนกัน...ผูกเป็นคำคล้องจอง

ทุ่มนา กะทาโยง โพรงนกกะสา กะต่ายเล่นเท้า กระเป๋าตกผลุง มะรุงตุงตัง ฯลฯ

เอาตัวอย่าง คำทำนายจริงๆ กันเลยดีกว่า

ค่ำ 1 ทุ่มนา ถ้าบอกข่าวตาย ไม่เป็นไร ข่าวไข้ว่าไม่เป็นไร ถ้าของหาย หามิได้เลย

2 ค่ำกะทาโยง ถ้าบอกข่าวไข้แลตาย อย่าฟัง ถ้า และ ของหาย หามิได้เลย

3 ค่ำโพรงนกกะสา ถ้าบอกข่าวตาย ไข้ว่าจริง ถ้าไข้ว่าหนัก ถ้าของหายว่าได้ ของอยู่ในโพรง

4 กะต่ายเล่นเท้า ถ้าบอกข่าวตาย ไข้ ไม่เปนไร ถ้าของหาย ได้มิได้ เท่ากัน

ตำราเถรสามทอง ไปจบลงที่บท 15 ค่ำ ยักษคะมำปัมหัวไป...บทสุดท้าย ทำนายว่า ถ้าบอกข่าวตายตายจริง ถ้าไข้ไข้หนัก ถ้าของหายทายว่ามิได้แล

ข้อสังเกตส่วนตัวผม วันพระ 15 ค่ำ คนโบราณเรียกว่าวันพระใหญ่ โดยธรรมเนียมชาวพุทธ ก็เข้าวัดฟังธรรมถือศีล 8 คนที่เคร่งมาก ไม่กลับไปวุ่นวายกับเรื่องในบ้าน นอนวัดกันเลย

เพราะฉะนั้น เรื่องวุ่นวายที่เกิดในบ้าน...ทุกเรื่อง จึงทายว่าไม่ดี

สมัยนี้ พูดกันว่า เรื่องอะไรที่ไม่เชื่อ ก็อย่าลบหลู่ ไม่ว่าม็อบเล็กม็อบใหญ่ ไม่เลือกฝ่ายไหน เวลาคิดจะทำการใหญ่...ลองเปิดตำราพรหมชาติ ใช้บ้าง

วันไหน อย่างวันที่พรหมชาติ ทายว่า ข่าวตาย ตายจริง ข่าวไข้ไข้หนัก ของหายไม่ได้คืน...ก็อย่าได้คิดทำอะไร...ที่ชนะก็จะแพ้ ที่ไม่ควรฉิบหาย ก็จะฉิบหายไปด้วยประการทั้งปวง.


กิเลน ประลองเชิง