จี้โรงเรียนสร้างจิตสำนึกเด็กคืนเงินกู้ โอดนักเรียนเมินเข้าเอกชน
นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีเด็กกู้ยืมเงินกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้วไม่จ่ายคืน ซึ่งตัวเลขเด็กนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่จ่ายเงินคืนสูงถึง 60% ว่า ยอมรับว่าเด็กสังกัด สพฐ.กู้ยืมจำนวนมาก เพราะต้องกู้เรียนตั้งแต่ชั้น ม.4 และกู้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยจนจบและเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้น หากจะติดตามทวงหนี้ต้องตามที่มหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษา ส่วนเด็กที่จบ ม.6 สังกัด สพฐ.แล้วเข้าสู่ตลาดแรงงานมีจำนวนน้อย ซึ่งต้องตามที่โรงเรียนและเขตพื้นที่โดยตรง
ต่อข้อถามถึงเป็นไปได้หรือไม่ที่เด็กเมื่อเรียนจบแล้วไม่จ่ายเงินคืนทั้งติดตามตัวไม่ได้ นายอภิชาติกล่าวว่า กรณีตามตัวผู้กู้ไม่ได้ มีทั้งผู้กู้ตายปีละเกือบ 1 พันคน หรือย้ายที่อยู่ แต่เมื่อถึงกำหนดครบชำระ และ กยศ.ติดตาม 3-5 ครั้งแล้วหากไม่ได้รับการติดต่อก็จะยื่นฟ้อง และเมื่อผู้กู้ถูกฟ้องจะขอประนอมหนี้ ซึ่งภายหลังก็จะชำระหนี้คืนทุกคน
“กฎหมาย กยศ.คุ้มครองผู้กู้มาก ทำให้การติดตามหนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะบางคนแม้จะทำงานแล้วแต่เงินไม่พอใช้จึงไม่จ่าย และไม่รู้ด้วยว่าทุก 2 ปีต้องไปติดต่อธนาคาร ซึ่งหากไปติดต่อสามารถผัดผ่อนการชำระออกไปได้อีก ที่เป็นเช่นนี้เพราะการประชาสัมพันธ์แย่มากทั้ง กยศ.และธนาคารกรุงไทย ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน ประชาสัมพันธ์โดยเฉพาะโรงเรียนต้องสร้างจิตสำนึกให้เด็กว่ากู้ยืมเรียนแล้วต้องใช้หนี้ หากไม่ทำจะเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด ที่คิดว่าคนเลว คนโกงแล้วจะได้ดี” นายอภิชาติกล่าว
ด้าน ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อาจมีตัวเลขเด็กที่กู้ยืมมาก แต่ยอดจะน้อย อย่างไรก็ตาม สช.ยังยึดหลักที่จะรณรงค์ให้เด็กเห็นความสำคัญในการจ่ายเงินคืนว่าต้องนำไปช่วยเหลือเด็กรุ่นน้อง ทั้งนี้ในส่วนของเงิน กยศ.ที่ขาดอยู่จำนวนมากนั้นกระทบต่อโรงเรียนเอกชนในการเพิ่มยอดผู้เรียนที่ตั้งไว้ 4 หมื่นคนอย่างมาก เพราะเมื่อเด็กรู้ว่าไม่มีเงินให้กู้ก็จะหันไปเรียนทางอื่นแทน ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนหนักใจเรื่องนี้มาก และขอให้รัฐบาลหาวิธีการช่วย.
...