สพฉ.แนะวิธีปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บในสถานการณ์ชุมนุม หากถูกยิงหรือถูกสะเก็ดระเบิดและมีบาดแผลที่บริเวณหน้าอก...
สถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณหน้าห้างบิ๊กซีราชดำริ รวมทั้งเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีเหตุรุนแรงจากการขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกผ่านฟ้าฯและเกิดความรุนแรงในพื้นที่ต่างจังหวัด อาทิ จ.ตราด จ.ระยอง จ.ปทุมธานี
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในสถานการณ์การชุมนุมจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนควรศึกษา และเรียนรู้ไว้และหากเราพบเห็นผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ การชุมนุมเราจะได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บให้รอดชีวิตได้อย่างทันท่วงที

นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยช่วยเหลือประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในทุกจุด โดยเจ้าหน้าที่ได้เตรียมพร้อมอุปกรณ์และการทำงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ของการชุมนุมเมื่อมีเหตุปะทะเกิดขึ้นนั้น ทำให้การเข้าให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บของเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินมีอุปสรรค ดังนั้น หากผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นในสถานการณ์การชุมนุมก็จะสามารถช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้บาดเจ็บในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่เข้าให้การช่วยเหลือเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและลดความรุนแรงของการบาดเจ็บได้
...
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมนั้นผู้ที่จะเข้าให้การช่วยเหลือหรือผู้ปฐมพยาบาลเองจะต้องมีสติและไหวพริบในการช่วยเหลือ โดยประยุกต์เอาอุปกรณ์ที่มีอยู่รอบตัวอาทิ ผ้าโพกหัว ช้อนส้อม ปากกาดินสอ ผ้าพันคอ เสื้อผ้า มาใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บให้ได้มากที่สุดโดยส่วนใหญ่ในสถานการณ์การชุมนุมนั้นจะเกิดการบาดเจ็บจากการปะทะ โดนยิง หรือโดนสะเก็ดระเบิดซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้บาดเจ็บเสียเลือดมากโดยเฉพาะในบริเวณแขนขาหรือทรวงอก ดังนั้น การเรียนรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับผู้ที่จะเข้าไปให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

นายแพทย์อนุชา แนะนำว่า สิ่งสำคัญก่อนที่จะทำความเข้าให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้บาดเจ็บนั้น เราจะต้องเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกมาจากจุดปะทะอย่างถูกวิธี เพราะหากเราเคลื่อนย้ายอย่างผิดวิธีก็จะยิ่งทำให้ความรุนแรงของการบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งที่ผู้เข้าให้การช่วยเหลือจะต้องเน้นเป็นอันดับแรกในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บคือความปลอดภัยของตัวเราเองที่เข้าไปให้การช่วยเหลือ เมื่อเราเห็นแล้วว่าการเข้าไปให้การช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นมีความปลอดภัยเรา ถึงจะดำเนินการเข้าให้การช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดเพื่อหาที่ปลอดภัยและทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้ออกข้อแนะนำสำหรับรายละเอียดของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉินมีดังนี้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้บาดเจ็บที่ถูกยิงหรือถูกสะเก็ดระเบิดและมีบาดแผลที่บริเวณหน้าอก
1. สังเกตดูว่าผู้ป่วยมีบาดแผลตรงบริเวณไหน ถ้าสงสัยว่ามีลมรั่วในปอดซึ่งเราจะได้ยินเสียงของลมเข้าออกให้รีบทำการปฐมพยาบาลทันที ซึ่งหากผู้ปฐมพยาบาลยังหาอุปกรณ์อะไรไม่ได้ก็ให้ใช้ฝ่ามือปิด ไปบนบาดแผลก่อนได้เลย และขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อจะหาอุปกรณ์มาปิดบาดแผล
2. ผู้ปฐมพยาบาลใช้ถุงก๊อบแก๊บถุงขนมหรืออะไรก็ได้ที่เป็นพลาสติกปิดทับไปตรง บริเวณบาดแผลและหาผ้าที่อยู่ใกล้ๆ ตัวอาทิ หมวกผ้า ผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้ามาพับให้หนาๆ เพื่อใช้กดบริเวณบาดแผลเพื่อทำการห้ามเลือดและให้หาผ้ายาวๆ มาอีกหนึ่งผืนเพื่อใช้ในการพันปิดทับไปบนบาดแผลและใช้พันบริเวณรอบลำตัว หรือถ้าไม่มีผ้าเลยก็สามารถใช้เสื้อแจ็กเกตหรือเสื้อกันหนาวที่ไม่หนามากนำมาใช้ในการผูกปิดทับบริเวณบาดแผลหรือบริเวณลำตัวก็ได้
3. ก่อนที่จะมัดเราจะต้องจับตัวของผู้บาดเจ็บตะแคงและทำการสอดผ้าผืนยาวเข้าไปซึ่งในระหว่างที่จับตัวผู้บาดเจ็บตะแคงก็ต้องเช็กดูด้วยว่าบริเวณด้านหลังมีอาการบาดเจ็บด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้ามีก็จะต้องปฐมพยาบาลในลักษณะเดียวกัน โดยผู้ปฐมพยาบาลต้องมัดผ้าให้แน่นๆ เพื่อป้องกันเลือดและลมออกจากบาดแผลที่บริเวณที่ทรวงอก

...
ข้อห้ามในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน
1. ห้ามลากแขนผู้ป่วยเพราะถ้าผู้ป่วยน้ำหนักเยอะจะทำให้หัวไหล่หลุดได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วย
2. ห้ามลากขาผู้ป่วยเพราะถ้าเป็นพื้นลูกรังหรือพื้นขรุขระจะทำให้ผู้ป่วยมีบาดแผลเพิ่มขึ้นมาอีกได้
3. ห้ามยกแขนยกขาผู้ป่วยขึ้นพร้อมกัน เพราะจะทำให้แขนและขาผู้ป่วยเกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นมาอีกได้
วิธีเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน
1. ถ้าเราประเมินว่าผู้ป่วยรูปร่างไม่ใหญ่กว่าตัวเราและเราสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้คนเดียว และหากผู้ป่วยใส่เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อแจ็กเกตที่หนาๆ เราก็เข้าไปจับเสื้อบริเวณหัวไหล่ทั้งสองข้างของผู้บาดเจ็บและล็อกมือบน เสื้อบริเวณไหล่ทั้งสองข้างของผู้ป่วยให้แน่นแล้วยกส่วนหัวและช่วงลำตัวของผู้ป่วยให้สูงขึ้นและลากผู้ป่วยเข้าที่กำบัง โดยในระหว่างที่ลากผู้ป่วยนั้น ผู้เข้าให้การช่วยเหลือจะต้องทำตัวให้ต่ำๆ เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้เข้าให้การช่วยเหลือเองด้วย
2. ในกรณีที่เราไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยคนเดียวได้ให้เรียกผู้ช่วยมาหนึ่งคน และเมื่อเราเข้าไปหาผู้ป่วยแล้วให้จับตัวผู้ป่วยลุกขึ้นในลักษณะนั่งแล้วคนแรกก็เข้าไปล็อกที่ตัวผู้ป่วยโดยสอดมือเข้าไปใต้รักแร้ของผู้ป่วยและล็อกมือทั้งสองข้างบริเวณหน้าอกของผู้ป่วยและผู้ช่วยคนที่สองก็เข้าไปที่หว่างขาทั้งสองข้างของผู้ป่วยและจับขาผู้ป่วย และยกผู้ป่วยขึ้นพร้อมกันเพื่อทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าไปสู่ที่ปลอดภัยเพื่อรอการปฐมพยาบาล ซึ่งท่านี้จะทำให้เราเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ไกลและผู้ป่วยก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นต่างๆ เหล่านี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทุกฝ่าย และประชาชนทั่วไปที่พบเห็นผู้บาดเจ็บสามารถนำไปปฏิบัติได้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องส่งต่อผู้ป่วยให้ถึงมือของเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อนำผู้บาดเจ็บไปรักษาอย่างทันท่วงทีด้วย.
...