โรเจอร์ ฮิวจ์ส ไม่เคยเห็น เพนกวินจักรพรรดิ ในธรรมชาติมาก่อน แต่พอเห็นพวกมันในสารคดีเรื่องหนึ่งของ บีบีซี ขณะพุ่งทะยานไปในท้องทะเล โดยมีฟองน้ำผุดพรายเป็นทางยาวตามหลัง เขาก็เกิดความคิดว่า นั่นต้องนำไปสู่การค้นพบ ที่สร้างความประหลาดใจได้แน่ๆ ก่อนหน้านั้น นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยแบงเกอร์ ทางตอนเหนือของเวลส์ ผู้นี้ เคยสงสัยว่า พรายฟองเหล่านั้นอาจช่วยให้เพนกวินว่ายน้ำเร็วขึ้นก็เป็นได้

ฮิวจ์ส ยกสมมติฐานนี้ขึ้นมาพูดคุยกับ จอห์น ดาเวนพอร์ต เพื่อนนักชีววิทยาทางทะเลที่มหาวิทยาลัยคอลเลจคอร์ก ในไอร์แลนด์ ดาเวนพอร์ต ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสรีระของสัตว์กับการเคลื่อนไหวของพวกมัน บอกว่า “โรเจอร์คิดว่าผมจะให้คำตอบได้ในทันที” แต่เขาเองก็ไม่รู้ว่าพรายฟองเหล่านั้นมีประโยชน์อย่างไรต่อเพนกวิน และเอาเข้าใจริงก็ยังไม่เคยมีใครศึกษาปรากฏการณ์นี้มาก่อน พวกเขาจึงตัดสินใจลงมือศึกษาเรื่องนี้เสียเอง

...

ด้วยความช่วยเหลือจาก พอล ลาร์เซน วิศวกรเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยเทคนิคเดนมาร์ก ทั้งสองวิเคราะห์เทปบันทึกภาพใต้น้ำ ความยาวหลายชั่วโมง และพบว่า เพนกวินทำในสิ่งที่วิศวกรเคยพยายามนำไปใช้กับเรือและตอร์ปิโดมาก่อน นั่นคือ การใช้อากาศเป็นตัวหล่อลื่นเพื่อลดแรงต้านและเพิ่มความเร็ว

เมื่อเพนกวินจักรพรรดิว่ายน้ำ แรงเสียดทานระหว่างร่างกายกับน้ำ ทำให้พวกมันว่ายช้าลง ส่งผลให้ความเร็ว สูงสุดอยู่ระหว่าง 1.2 ถึง 2.7 เมตรต่อวินาที แต่พวกมันสามารถเร่งความเร็วขึ้นได้สอง หรือแม้แต่สามเท่าในเวลาสั้นๆ โดยปล่อยอากาศออกจากเรือนขน เป็นพรายฟองเล็กๆ ซึ่งช่วยลดความหนาแน่น และความหนืดของน้ำรอบๆ ตัวเพนกวิน ซึ่งเท่ากับเป็นการลดแรงต้านและช่วยให้มันเร่งความเร็ว ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยการเคลื่อนไหวปกติ (ความเร็วที่เพิ่มขึ้นช่วยให้เพนกวินหลบหนีสัตว์นักล่า เช่น แมวน้ำเสือดาวได้)

กุญแจของความสามารถพิเศษนี้อยู่ที่ขนของพวกมัน เพนกวินจักรพรรดิสามารถสยาย หรือพองขนให้อากาศเข้าไปแทรกอยู่ตามเส้นขน เพื่อเป็นฉนวนรักษาความอบอุ่นให้ร่างกาย เช่นเดียวกับนกชนิดอื่นๆ แต่ขณะที่นกส่วนใหญ่มีเส้นขนเรียงเป็นแถวๆ คั่นด้วยผิวหนังเปลือยเปล่า เพนกวินจักรพรรดิกลับมีแผงขนหนาแน่นกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ และเนื่องจากโคนขนมีเส้นใยเล็กจิ๋วขนาดเล็กกว่าครึ่งหนึ่งของความกว้างของเส้นผมมนุษย์ อากาศจึงถูกกักเก็บไว้ในตาข่ายขนที่เล็กละเอียดอ่อนนุ่ม และปล่อยออกมาเป็นฟองอากาศเล็กจิ๋ว จนกลายเป็นชั้นเคลือบลื่นๆ บนพื้นผิวขน

แม้เราจะไม่สามารถนำหลักการเดียวกันนี้ไปใช้กับเรือได้โดยตรง แต่เทคโนโลยีอาจตามทันชีววิทยาได้ในที่สุด เมื่อปี 2010 บริษัทสัญชาติดัตช์เริ่มขายระบบหล่อลื่นตัวเรือบรรทุกสินค้าด้วยฟองอากาศ และปีถัดมาบริษัท มิตซูบิชิ ก็ประกาศว่าได้ออกแบบระบบหล่อลื่นด้วยอากาศสำหรับเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถออกแบบสิ่ง ที่สามารถพุ่งผ่านแมวน้ำเสือดาวและกระโดดข้ามกำแพงน้ำแข็งได้อย่างเพนกวินจักรพรรดิ สิ่งนี้ดูจะยังคงเป็นเทคโนโลยีลับเฉพาะของเพนกวินต่อไป

...

เรื่อง เกลนน์ ฮอดจ์ส
ภาพถ่าย พอล นิกเคลน