นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชุน (ประเทศไทย) ย้ำกฎกระทรวงใหม่ เริ่มคุมเข้มร้านขายยาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ชี้ให้เวลาช่วงเปลี่ยนผ่านบังคับใช้ เน้นตรวจเยี่ยมเพื่อดูแลผลประโยชน์สุขภาพประชาชนเป็นหลัก...

จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ.2556 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2556 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2557 เพื่อส่งเสริมให้ร้านขายยามีการพัฒนาภายใต้วิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม (Good Pharmacy Practice: GPP) และยกระดับให้พร้อมต่อการเปิดประชาคมอาเซียน มีบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตอบสนองสิทธิของผู้ใช้ยามากขึ้น และทำให้ผู้ใช้ยามีความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น

เภสัชกรช้องมาศ นิติศฤงคาริน นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชุน (ประเทศไทย) และผู้อำนวยสำนักงานรับรองคุณภาพร้านยา เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า จากกฎกระทรวงที่ออกมาล่าสุดนี้ ถือเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของร้านยา ที่ถูกละเลยผ่อนผันมาเป็นเวลานาน จากปัญหาเรื่องของผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำร้านยาตามร้านยาประเภทต่างๆ ที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นประเด็นแง่ความปลอดภัยของประชาชน ในฐานะผู้บริโภคที่รับบริการ

จากสถิิติพบว่า ประชาชนเขตเมืองส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ใช้บริการร้านยาเป็นหลัก สำหรับการผลักดันกฎกระทรวง จะเน้นการควบคุมร้านยาและผู้ปฏิบัติการประจำให้บริการร้านยาในประเภทต่างๆ ได้แก่ ประเภท ข.ย.1 ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องเป็นเภสัชกรเท่านั้น ข.ย.2 ผู้ปฏิบัติการต้องได้รับการอบรมหรือพยาบาล ข.ย.3 ควบคุมการขายโดยเภสัชกร หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้น 1 หรือชั้น 2 และประเภทสุดท้ายคือ การร้านขายยาแผนโบราณที่จำหน่ายในร้านขายแผนปัจจุบันได้

"การควบคุมผู้ปฏิบัติการร้านยาทุกประเภทนั้น ตามกฎกระทรวงที่ออกมาใหม่นี้ ต้องมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำการตลอดเวลาที่มีการเปิดทำการ ซึ่งในช่วงนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เข้าสู่การบังคับใช้กฎกระทรวง จึงมีมาตรการรองรับร้านยาเก่า ที่จำเป็นต้องปรับปรุงใหม่และปรับตัว โดยให้เวลาถึง 8 ปี ในการเข้าสู่กฎกระทรวงนี้อย่างสมบูรณ์ แต่ยังอยู่ระหว่างการลงมติ หารือ ขอความคิดเห็นเพื่อสร้างแนวทางร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านสำหรับร้านยาเก่าอยู่

...

ส่วนร้านยาใหม่ที่จะเปิดตัวในช่วงที่กฎกระทรวงนี้บังคับใช้แล้วนั้น ต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งการติดตามการปฏิบัติตามกฎฯ นี้ จะเป็นลักษณะของ "การเยี่ยมสำรวจ" โดยมีข้อกำหนดเบื้องต้นปีละ 3 ครั้ง ซึ่งหากไม่เป็นไปตามที่กำหนดย่อมถือว่าผิดตามกฎหมาย ส่งผลทางปฎิบัติคือ อย.หรือ สจจ. สามารถพิจารณายึดใบอนุญาตประกอบกิจการได้ต่อไป" เภสัชกรช้องมาศ กล่าว

พร้อมกันนี้ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชุนยังฝากข้อแนะนำไปยังร้านยาและผู้รับผิดชอบดำเนินการร้านยาว่า จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ โดยการจัดหาผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำร้านตลอดเวลาที่เปิดทำการ เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้รับบริการในฐานะผู้บริโภค รวมถึงการให้คำแนะนำประชาชนเพิ่มเติมตามหลักจรรยาบรรณในวิชาชีพ และตระหนักถึงการดูแลสุขภาพประชาชนร่วมกันด้วย.