การแสดงออกของผู้เรียนในห้องเรียนดู เหมือนจะไม่เป็นปัญหาทางด้านเสรีภาพในการแสดงออกเนื่องจากผู้เรียนส่วนมากไม่ค่อยแสดงออกมากนัก ในทางตรงข้ามการไม่แสดงออกของผู้เรียนกลับกลายเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ตัดสินคุณค่าด้วยมาตรฐานของประเทศตะวันตก และถูกมองอย่างดูแคลนว่า ผู้เรียนของไทยส่วนมากขาดความกล้าในการแสดงออก

บรรยากาศของการเรียนการสอนในห้องเรียน จึงไม่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วม เพื่อ เสริมสร้างการแก้ปัญหาด้วยวิธีการร่วมกันคิดร่วมกันทำ รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากยึดติดอยู่กับค่านิยมแบบอำนาจนิยม ชอบเผด็จการ ชอบการใช้อำนาจ และแก้ปัญหาด้วยอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงออกในชั้นเรียน จึงถูกมองว่าเป็นเสรีภาพทางการสอน หรือเสรีภาพในการเลือกใช้วิธีการสอนของผู้สอน ซึ่งเหมารวมเป็นเสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom) ของผู้สอนมากกว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออกของผู้เรียน เสรีภาพในการแสดงออกของผู้สอนมีความสัมพันธ์กับเจตคติทางการสอนของผู้สอนโดยตรง

เจคติทางการสอน (Pedagogical Attitude)

เมื่อมีข้อพิพาททางด้านการสอนที่ไม่อาจเห็นพ้องต้องกันว่ามีความเหมาะสมหรือตกลง กันได้ในระดับชั้นเรียนและรุนแรงมากไปถึงระดับสถาบันการศึกษาแล้วยังหาข้อยุติไม่ได้ ข้อพิพาทจะนำไปสู่ศาล ในสหรัฐอเมริกากรณีข้อพิพาทที่มีคำตัดสินโดยศาลและศาลมีเจตคติที่จะไม่แตะต้อง (Judicial Hand-Off Attitudes) กับสถาบันอุดมศึกษา เพราะให้เกียรติอาจเป็นเพราะศาลหรือผู้พิพากษาส่วนมากจบการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา และตระหนักว่า สิทธิและเสรีภาพของสถาบันอุดมศึกษามีความสำคัญในการสร้างภูมิปัญญาให้กับพลเมือง และสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศชาติมาโดยตลอด

แต่ข้อพิพาทก็ยังมีการนำขึ้นสู่ศาล เช่น กรณีของ Hetric v. Martin, 480 F.2d 705 (6th Cir. 1973) ซึ่งเป็นกรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง เนื่องจากมหาวิทยาลัยไม่เห็นชอบกับเจตคติทางการสอน หรือที่เรียกว่า “Pedagogical Attitude” โดยมีสาเหตุมาจากการที่อาจารย์ผู้นั้น (เพศหญิง) ไม่แสดงความจริงเกี่ยวกับสถานภาพการสมรสของเธอ และใช้ภาษาที่เรียกว่า “irony” และ “connotative qualities” ซึ่งหมายถึงการใช้คำที่มีความหมายแดกดัน เย้ยหยัน เหน็บแนม ถากถาง หรือมีความหมายที่สองซ่อนเร้นอยู่ในภาษาอังกฤษที่ใช้ในการสอน และก่อนหน้านั้น เธอยังแสดงความเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารไปรบในสงครามเวียดนามกับนักศึกษาชั้นปีหนึ่งด้วย

ท่าทีของมหาวิทยาลัยที่มีต่อการสอนและพฤติกรรมการสอนของอาจารย์ผู้นั้น เพื่อต้องการให้อาจารย์สอนตามหนังสือ หรือตำรา (go by the book) และโดยมีการโต้แย้งเรื่อง Pedagogical Attitude ซึ่งศาลมีความเห็นว่า การตัดสิทธิ์การต่อสัญญาจ้างด้วยเหตุผลด้านปรัชญาการสอน (Teaching Philosophy) ของผู้สอนที่ไม่สอดคล้องกับหลักและวิธีการสอน (Pedagogical Aims) ของมหาวิทยาลัยนั้นกระทบสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานที่กว้างขวางของเสรีภาพทาง วิชาการ (The ultimate scope of the amorphous “academic freedom”) ของนักศึกษาและอาจารย์ทั้งชาติ การสอนของอาจารย์ที่ไม่ได้รับการเห็นชอบด้วยการประเมินจากผู้บังคับบัญชา เพียงด้วยแบบแผนการสอน (Teaching Style) ไม่อาจเป็นแนวทางที่ถูกต้องสำหรับการตีกรอบปรัชญาการสอนและวิธีการสอนใน วิชาชีพการสอนที่ยังมีสถาบันการศึกษาที่อื่นๆ ยอมรับได้ การไม่ต่อสัญญาด้วยเหตุผลเพียงมีเจตคติทางการสอนที่แตกต่างจึงเป็นการไม่ชอบ

...


สำหรับประเทศไทย การสอนที่สร้างปัญหาและมีการโต้แย้งในสิทธิและเสรีภาพ ล่วงละเมิดต่อความเชื่อและความศรัทธา ยังไม่นิยมนำขึ้นสู่ศาลยุติธรรม จึงยังไม่มีคำพิพากษาของศาลที่เป็นแนวทางในการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินข้อพิพาท ให้เป็นตัวอย่างได้ ส่วนมากจะแก้ปัญหาด้วยการใช้อำนาจบริหารจัดการ เช่น ถ้าเป็นในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรืออาชีวศึกษา จะใช้วิธีการสั่งย้ายครูหรืออาจารย์ ที่มีเจตคติทางการสอนที่อาจกระทบกระทั่งสิทธิ เสรีภาพ ความเชื่อ หรือการปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ สำหรับในสถาบันอุดมศึกษาจะใช้การเปลี่ยนอาจารย์ผู้สอนหรือพักการสอน

แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการสอนของผู้สอนในสังคมไทยในปัจจุบันมีประเด็นที่เป็น ข้อเท็จจริงหรือเป็นปัญหาในชั้นเรียนอยู่จำนวนมากทั้งที่เปิดเผยหรือไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น การฟ้องร้องถึงการไม่รับผิดชอบทางการสอน การลงโทษผู้เรียนที่ผิดระเบียบการเข้าสอนตรงตามเวลา การส่งเกรดและผลการเรียนไม่ตรงตามเวลา การไม่ทำแผนการสอนหรือการไม่จัดทำมคอ.3 การไม่ใส่ใจกับการปฏิบัติตามหน้าที่ให้คำปรึกษา และแก้ปัญหาให้กับผู้เรียนในระดับบัณฑิตศึกษา เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่เป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการที่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณของครูผู้สอนอีกเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าบทลงโทษของการผิดจรรยาบรรณวิชาชีพถือเป็นการผิดวินัยด้วยก็ตาม แต่การดำเนินการเพื่อบังคับใช้จรรยาบรรณวิชาชีพยังมีปัญหาอีกมาก การใช้เสรีภาพที่หลากหลายของผู้สอนนั้น เป็นภาวะที่ต้องได้รับการควบคุม เช่น การใช้ภาษาสองแง่สองง่าม การใช้อารมณ์ขันที่ไร้รสนิยมในการสอน การใส่ร้าย ดูถูกอาจารย์ท่านอื่น ยกตนข่มท่าน รวมทั้งการดูถูกดูหมิ่นความเชื่อความศรัทธาของผู้อื่นซึ่งเป็น Teaching Style ของอาจารย์บางท่าน ถือเป็นเจตคติทางการสอนเฉพาะตนของผู้สอนแต่ละคน ซึ่งอาจเป็นการละเมิดต่อผู้อื่น หรือสร้างความเสียหายได้

สรุป

เจตคติการสอน หรือ Pedagogical Atttitude นั้น มีความหลากหลายในตัวเอง ผู้สอนแต่ละท่านมีแนวทางการสอน ซึ่งเป็น Teaching Style ของแต่ละท่าน การสอนภายใต้กรอบแห่งตำรา หรือให้สอนเพียงที่อยู่ในหนังสือ หรือ go by the book ไม่เป็นสิ่งที่ดีงามนัก การสอนที่สอดแทรกสิ่งที่อยู่นอกตำราเป็นเสรีภาพทางวิชาการที่กระทำได้ และยังได้รับการส่งเสริมอยู่โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษา ศาลไม่ถือว่าเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาด้วย ดังนั้น เส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพที่ควรนำมาใช้ภายใต้ข้อบังคับของสถาบันการศึกษาจะเป็นอย่างไร ในตอนต่อไปจะนำเสนอแนวทางการตัดสินของศาลในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการในชั้นเรียน

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์