วันเสาร์สบายๆวันนี้มาคุยเรื่อง “ความกตัญญู” กันดีกว่านะครับ เมื่อวานนี้ผมเขียนถึง “วันมาฆบูชา”  ว่าเป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ” ก็ต้องขอบคุณ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ  ผู้ก่อการ “ปฏิวัติดอกไม้” เมื่อปี 2549 ที่ประกาศให้ “วันมาฆบูชา” เป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยยึดถือค่านิยมความกตัญญูต่อพ่อแม่

ใน “วันกตัญญูแห่งชาติ” ลูกควรจะกลับบ้านไปหาพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด เพื่อมอบปัจจัย 4 แก่ท่าน เช่น เสื้อผ้าใหม่ อาหารที่ท่านชอบ ที่หลับที่นอน หยูกยา ดูแลท่านยามตัวเป็นๆ บอกรักท่านยามมีชีวิต ไม่ใช่ไปขอขมาท่านตอนตาย บอกรักท่านหน้าโลงศพ

“วันกตัญญูแห่งชาติ” นี้ ลูกๆควรจะกราบเท้าพ่อแม่ 3 ครั้ง ซึ่งหมายถึง พระคุณของพ่อแม่ 3 อย่าง คือ 1.ปิยคุณ บุญคุณของท่านที่ให้ความรักตั้งแต่รู้ว่าอยู่ในครรภ์จนท่านตาย 2.อุปัตติคุณ บุญคุณที่ท่านให้เลือดเนื้อ รักษาครรภ์ จนได้คลอดออกมามีชีวิต 3.อุปัมภคุณ บุญคุณที่ท่านได้เลี้ยงดูมาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ยังแบเบาะ ให้อาหาร  ให้การศึกษา ปกป้องภยันตราย จนลูกๆเติบใหญ่ไปมีอาชีพและครอบครัวของตัวเอง

แต่โลกยุคใหม่ในวันนี้ ความกตัญญูของลูกๆกำลังลดลงไปอย่างรวดเร็ว จนมีหลายประเทศต้องมีการ “ออกกฎหมายลูกกตัญญู” เพื่อบังคับให้ลูกๆต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามชรา ปีที่แล้ว ประเทศจีน ก็เพิ่งออก “กฎหมายกตัญญู”  มาบังคับให้ลูกๆต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ต้องหมั่นไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ และดูแลเรื่องการเงินของพ่อแม่ หากไม่ปฏิบัติถือว่าผิดกฎหมาย พ่อแม่สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้

ก่อนหน้านี้ก็มีหลายประเทศในโลกตะวันออกและตะวันตก ที่ได้ออก “กฎหมายกตัญญู” เพื่อบังคับให้ลูกๆต้องดูแลพ่อแม่ เช่น อินเดีย และ สิงคโปร์ ซึ่ง มีโทษถึงจำคุก ถ้าลูกทิ้งๆขว้างๆพ่อแม่ให้เกิดความรันทดใน สหรัฐอเมริกา ก็มีกฎหมายในทำนองนี้กว่า 30 รัฐ โดยมีบทลงโทษรุนแรงถึงขั้น ยึดทรัพย์ลูกๆ ได้เลยทีเดียว ฝรั่งเศส  ก็มีกฎหมายบังคับให้ลูกบุญธรรมต้องกตัญญูกับพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็ก ประเทศแคนาดา ยูเครน รัสเซีย ก็มี “กฎหมายค่าน้ำนม” เพื่อบังคับลูกๆให้ดูแลพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า

เห็นไหมครับ ประเทศเจริญแล้วอย่าง สิงคโปร์ สหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส ล้วนมี “กฎหมายกตัญญู” เพื่อบังคับลูกๆให้รู้จักกตัญญูพ่อแม่ และลงโทษหนักถึงขั้นยึดทรัพย์ลูกอกตัญญู แต่เมืองไทยเรามีแค่ “วันกตัญญูแห่งชาติ” ที่เป็นแค่สัญลักษณ์ ยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับโดยตรง

ในวารสาร “การเงินธนาคาร”  ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก ได้รายงานถึง พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้  ที่ถูกลูกๆทอดทิ้งให้อยู่อย่างเปลี่ยวเหงาเดียวดาย จนต้องฆ่าตัวตายสูงถึงปีละกว่า 4,000 คนในปี 2011 ร้อนถึงรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องเริ่มหันมาดูแลผู้สูงวัยในประเทศกันอย่างจริงจัง  เพราะเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเข้าสู่ “ประเทศประชากรสูงวัย” อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ ประเทศไทย ซึ่งวันนี้มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 4 ของประชากร 70 ล้านคนแล้ว

พ่อแม่ผู้สูงวัยของไทยก็เริ่มถูกลูกๆทอดทิ้งกันบ้างแล้ว พ่อแม่ผู้ชราในชนบทเกาหลีใต้ที่มีโอกาสอยู่กับลูกหลาน มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ลูกๆหลานๆมักจะไปเรียนหนังสือในเขตเมือง เรียนจบแล้วก็หางานทำในตัวเมือง ปล่อยให้พ่อแม่ที่แก่ชราอยู่กันเอง

จากการสำรวจของ OECD พบว่า คนแก่ครึ่งหนึ่งในเกาหลีใต้มีฐานะค่อนข้างยากจน  เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกโออีซีดี และที่น่าเก็กซิมกว่านั้น คนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ในปัจจุบันมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ยังมีความคิดที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่  นอกนั้นทิ้งพ่อทิ้งแม่หมด ตัวเลขเมื่อปีที่แล้ว มีคนแก่ในเกาหลีใต้เพียง 30% เท่านั้นที่ได้รับเงินบำนาญจากรัฐ  ที่เหลือต้องนั่งๆนอนๆรอความเมตตาจากลูกๆหลานๆที่มาเยี่ยมบ้าง บางคนที่ยังพอมีแรงก็ไปหางานเล็กๆน้อยๆทำ เพื่อหารายได้มาประทังชีวิต คนแก่เกาหลีใต้จึงฆ่าตัวตายกันมาก

ปีที่แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ เลยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการ ปรับค่าจ้างทำงานใหม่ตามประสิทธิภาพ ถ้าสูงวัยทำงานสู้คนหนุ่มสาวไม่ได้ ก็ต้องยอมเปลี่ยนตำแหน่ง ลดเงินเดือน เพื่อให้คนหนุ่มสาวก้าวข้ามขึ้นไป เพื่อให้ผู้สูงวัยมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตัว

การเตรียมตัวเพื่อ “บริหารชีวิตในช่วงสูงวัย”   เพื่อให้มีคุณค่า จึงเป็นเรื่อง สำคัญอย่างยิ่ง จะต้องทำอย่างไร วันหลังมีโอกาสผมจะนำมาเล่าสู่กันฟัง.

...

“ลม เปลี่ยนทิศ”