เมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยสถิติข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น
เป็นสถิติที่ชี้ให้เห็นว่าอาชีพตำรวจ เป็นอาชีพที่มีอัตราเสี่ยงสูงกว่าอาชีพอื่นหลายเท่า ด้วยเพราะตัวเลขตั้งแต่ปี 2551-2556 มีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายเฉลี่ย 29.17 นายต่อปี
เฉพาะปี 2556 มีตำรวจฆ่าตัวตายถึง 31 นาย เลยทีเดียว
ตามสถิติรวบรวมไว้ว่า ช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด อยู่ระหว่าง อายุ 41-50 ปี ชั้นยศที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ นายดาบตำรวจ สายงานที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ สายปราบปราม กองบัญชาการที่มีการฆ่าตัวตายมากสุด 3 อันดับ คือ บช.ภ. 5 บช.ภ. 3 และ บช.น.
...
จากปี 56 มาถึงช่วงปี 57 ที่เพิ่งเปิดศักราชใหม่ไปไม่นาน ก็มีตำรวจฆ่าตัวตายอีกจนได้ เหตุเกิดตอนเช้ามืด วันที่ 11 ก.พ. 57 ที่ผ่านมา เมื่อเหตุสลดเกิดขึ้นเมื่อ พ.ต.ท.สมจันทร์ ปุริมศักดิ์ อายุ 53 ปี หัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สภ.ขุนตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ซึ่งตัดสินใจใช้อาวุธปืนขนาด .357 ระเบิดสมองตัวเองตาย กลายเป็นศพในบ้านเลขที่ 44 หมู่ 9 ต.แม่ปืม อ.เมือง จ.พะเยา
พยานให้การว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายเดินทางมาบ้านพ่อตาซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ และนอนค้างคืน ก่อนจะก่อเหตุสยองขึ้น อากัปกิริยาของ พ.ต.ท.สมจันทร์ ก่อนลาโลก ลักษณะคล้ายคนจิตตก และมีอาการเครียดอย่างเห็นได้ชัดเจน ก่อนจะระเบิดหัวตัวเอง ชักปืนออกมายิงขึ้นฟ้าระบายอารมณ์ก่อน 1 นัด แล้วจึงหันปากกระบอกปืนมาระเบิดขมับตัวเองในภายหลัง
หลังเกิดเหตุ พล.ต.ต.ภาณุ บุรณศิริ ผบก.ภ.จว.พะเยา นำพนักงานสอบสวน สภ.ขุนตาล รุดไปดูเหตุการณ์ พร้อมเก็บรวบรวมหลักฐาน พบจดหมายลาตายระบุไว้ชัดเจนว่า เครียดเรื่องงาน ซึ่งเดิมทีผู้ตายปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ (สบ. 3) ประจำ สภ.เวียงชัย จ.เชียงราย และมีคำสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่ สภ.ขุนตาล จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้คิดสั้น
เป็นอีกเหตุสลดที่เกิดจากความเครียดในงานตำรวจ !?!
ย้อนกลับไปดูสถิติตำตรวจฆ่าตัวตาย เมื่อปลายปี 56 ที่ผ่านมา พล.ต.ต.ปิยะ วิเคราะห์ไว้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย อาทิ ปัญหาครอบครัว, ปัญหาสุขภาพ, ปัญหาส่วนตัว, ปัญหาหนี้สิน และปัญหาที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน ซึ่งมีหลายปัจจัยประกอบกัน รวมทั้งสภาพจิตใจของข้าราชการตำรวจเองด้วย นอกจากนี้ จากสภาพการปฏิบัติหน้าที่ที่ทำให้เกิดความตึงเครียดและกดดัน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย เช่นกัน
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. จึงมีความห่วงใยในสวัสดิภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ของข้าราชการตำรวจ จึงกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย โดยให้ผู้บังคับบัญชาสำรวจข้อมูลผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อจะได้ทราบว่าใครมีความเสี่ยง โดยมีพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง อาทิ มีปัญหาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ปัญหาส่วนตัวและครอบครัว ปัญหาทางบุคลิกลักษณะ หรือสุขภาพจิต ปัญหาสุขภาพ หรือมีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตาย
...
แต่สุดท้ายก็มาเกิดเหตุซ้ำซากขึ้นอีกจนได้ !??
กล่าวถึงเหตุสลดที่ผ่านมา มีมากมายหลายลักษณะ อาทิ เหตุที่เกิดกับ ด.ต.ชาตรี ชูทอง ผบ.หมู่งานป้องกันและปราบปราม สน.โคกคราม วัย 45 ปี ที่ตัดสินใจใช้ปืน 11 มม. ระเบิดสมองตัวเองตายคาแมนชั่น เมื่อวันที่ 22 ม.ค. คนใกล้ชิดให้การว่า ก่อนหน้านี้ ดาบชาตรีบ่นเครียดเรื่องงานมาพักใหญ่แล้ว นอกจากงานเสมียนที่ต้องทำแล้ว ยังต้องไปเป็นพยานในคดีเกี่ยวกับยักยอกทรัพย์อีก จึงทำให้เครียดยิ่งขึ้น บ่นกับคนใกล้ชิดว่าเหนื่อยงาน จนกระทั่งมาพบกับความตายจนได้
อีกราย เกิดวันที่ 7 ม.ค. ส.ต.อ.สุพศ จ่าเคน อายุ 33 ปี ตำแหน่ง ผบ.หมู่ (ป) สภ.น้ำโสม จ.อุดรธานี และเป็นตำรวจชุดควบคุมฝูงชนในสังกัด ภ.จว.อุดรธานี ตัดสินใจใช้ปืน .22 ยิงตัวตาย เข้าที่ใต้ขากรรไกรด้านขวาทะลุใต้หูซ้าย นอนตายกลายเป็นศพคาบ้านพักกลางเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นภูมิลำเนา
พนักงานสอบสวนขยายผลได้ความว่า ส.ต.อ.สุพศ ปฏิบัติหน้าที่ในสายปราบปรามและงานจราจร สภ.น้ำโสม และยังทำหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชนสังกัด ภ.จว.อุดรธานี อีกด้วย ที่ผ่านมาไปปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของการชุมนุมใน กทม. หลายครั้ง ไปๆ กลับๆ สลับกัน กระทั่งมาได้รับคำสั่งเตรียมพร้อมเดินทางเข้า กทม. อีก ในการชุมนุมใหญ่วันที่ 13 ม.ค. ทำให้ ส.ต.อ.สุพศ เกิดความเครียด ลาผู้บังคับบัญชากลับมาบ้านที่ จ.ขอนแก่น เพื่อขอพักผ่อน
ก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตายในภายหลัง
...
ส่วนคดีนี้ เกิดกับ พ.ต.ท.คณิศร บุญเหลือง พนักงานสอบสวนชำนาญการ สน.บางยี่เรือ ที่ก่อนหน้านี้ เคยถูกแม่ยายจ้างมือปืนพยายามฆ่า แต่รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด หลังกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้พักใหญ่ ในที่สุด พ.ต.ท.คณิศร ก็ตัดสินใจใช้ปืน 9 มม. ยิงตัวตายคาบ้านพักเขตภาษีเจริญจนได้ สาเหตุของการลาโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ พ.ต.ท.คณิศร ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส แขนขวาไม่มีเรี่ยวแรง ต้องทำกายภาพบำบัดอยู่เสมอ ทำให้เกิดอาการเครียดจากอาการเจ็บแผล และทะเลาะกับภรรยาเป็นประจำ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหารุมเร้า ทั้งปัญหาครอบครัวและเรื่องสุขภาพที่แขนขวา ยังไม่กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
ในที่สุดจึงตัดสินใจลาโลก
เกี่ยวกับปัญหาเครียดเรื่องงาน นพ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ออกมาให้คำแนะนำว่า เป็นธรรมชาติที่คนเราจะเครียดกับงาน เพราะการทำงานย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และถ้าแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์ ไม่มีเหตุผล จะทำให้เครียดมาก อาจสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น จึงควรแก้ที่สาเหตุ ถ้าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก็ต้องแก้ที่ตัวเราด้วย
"ดังนั้น หากรู้สึกว่าตัวเองมีความเครียดสะสมสูง จึงควรหาวิธีพักผ่อนร่างกายและจิตใจ เช่น ไปออกกำลังกายเรียกเหงื่อ ดูหนังหรือฟังเพลงที่ชื่นชอบ หรือหากรู้สึกว่าหนักหนามาก อาจจำเป็นต้องลาพักผ่อนชั่วคราว เพื่อให้เวลาสมองได้หยุดพัก ทำให้พร้อมที่จะกลับไปทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง" นพ.ประภาส กล่าว
...
ทั้งนี้ หมอประภาส แนะอีกว่า บางอาชีพอาจสร้างความเครียดมากกว่าอาชีพอื่น อาทิ ทหารหรือตำรวจ ที่มีความกดดันในสายงาน เพราะมีการโยกย้ายหรือได้รับภารกิจที่ยากและต้องใช้เวลานาน เมื่อหาทางออกไม่ได้ จึงอาจทำร้ายตัวเองเพื่อหนีปัญหา
ดังนั้น ต้องสร้างความเข้มแข็งให้จิตใจ เชื่อมั่นในตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง ต้องเข้าใจชีวิตให้ถ่องแท้ ว่าไม่มีอะไรยั่งยืน จะได้ไม่ยึดติดกับลาภ ยศ ไม่ติดอยู่กับอดีต หรือกังวลกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคตมากเกินไป.
ไม่ยึดติดและปล่อยวาง ทุกอย่างก็จะผ่านไป !?!