"การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. จะต้องเป็นโมฆะ ผมได้รับจดหมายจาก นางยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ส่งเอกสารด้วยลายมือมาหา เนื้อความเป็นความเห็นทางกฎหมาย เขียนไว้ว่า อำนาจที่รัฐบาลมี มาจากอำนาจประชาชน รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม จะตีความการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อล่วงล้ำอำนาจรัฐธรรมนูญไม่ได้ และจะตีความอำนาจบริหารเกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไม่ได้...

"เมื่อรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา และกำหนดให้มีเลือกตั้งทั่วไป ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วราชอาณาจักร การที่จะจัดเลือกตั้งวันอื่น เป็นการกระทำนอกเหนือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งทันทีที่ยุบสภา ครม.พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ที่ต้องอยู่ต่อไปให้อยู่จนกว่า ครม.ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่แทน แต่จากการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ไม่สามารถให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ได้ เพราะได้ ส.ส. ไม่ครบ และเปิดประชุมสภาฯ ครั้งแรกเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วันไม่ได้"


คือ คำพูดของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่ประกาศลั่นบนเวทีปทุมวัน เมื่อช่วงค่ำวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา วันนั้นนายสุเทพ พูดถึง "นางยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ" พร้อมกล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจ ว่า นี่คือคำแนะนำของนักกฎหมายระดับ "อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา" ที่มีน้ำหนักและต้องรับฟัง

เพื่อนำมาสนับสนุนเหตุผลการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ว่าต้องเป็นโมฆะ!??


โมฆะเพราะมวลมหาประชาชน ถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ขาดความชอบธรรม เนื่องจากรัฐบาลดื้อดึงให้มีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ กกต.เคยออกมาประกาศเตือนแล้วว่าจะมีปัญหา แต่ก็ยังดันทุรังเดินหน้าเลือกตั้ง จนหลายเขตหลายพื้นที่เปิดคูหาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปต้องเลือกพร้อมกันทุกจังหวัดในราชอาณาจักรทุกเขต แต่ที่ผ่านมาจัดเลือกตั้งไม่ครบ ทำให้ต้องกำหนดการเลือกตั้งใหม่อีกกว่า 30 เขต

...


ทำให้เชื่อว่าในที่สุดแล้ว การเลือกตั้ง 2 ก.พ. จะเดินหน้าไม่ได้

ยิ่งนายสุเทพอ่านจดหมายของ นางยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ ที่วิเคราะห์รัฐบาลชุดนี้ ก็ยิ่งทำให้กลุ่มมวลมหาประชาชน เทน้ำหนักไปที่การขาดความชอบธรรมของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเชื่อว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ไม่อาจอยู่ในตำแหน่งได้อีกต่อไป ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าการดำเนินการใดๆ ของ ครม.ที่พ้นตำแหน่ง จะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญาเป็นการส่วนตัว

ปลุกขวัญและกำลังใจมวลมหาประชาชนได้มากพอตัว!??

วันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" จะพาไปรู้จักตัวตนของ "ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ" นักกฎหมายหญิงที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "อธิบดีผู้พิพากษาหญิงคนแรก" ในแวดวงกระบวนการยุติธรรม

นางยินดี ปัจจุบันอายุ 74 ปี เป็นภรรยาของ นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 2 คน และ หญิง 1 คน ชื่อ จันทร์กระพ้อ พรรษิษฐ์ และตามโพธ


การศึกษา จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จาก โรงเรียนผดุงดรุณี มัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสตรีวิทยา ปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อด้วยปริญญาโท ด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

ด้านการทำงานและตำแหน่งหน้าที่ของนางยินดี เริ่มต้นจาก เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ในปี 2514 ผู้พิพากษาศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา และผู้พิพากษาศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาปี 2519 เป็นผู้พิพากษาศาลแขวงธนบุรี ปี 2520 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ปี 2523 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำจังหวัดสตูล ปี 2524 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนครสวรรค์ ปี 2526 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชัยนาท ปี 2529 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลภาษีอากรกลาง และรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9

และเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2532 ได้รับตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2534 เป็นรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 วันที่ 1 ตุลาคม 2535 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ วันที่ 2 ตุลาคม 2539 ผู้พิพากษาศาลฎีกา วันที่ 1 ตุลาคม 2541 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา วันที่ 1 ตุลาคม 2543 ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

...


กระทั่งปี 2548  เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลภาษีอากรกลาง


ด้วยเพราะ นางยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ เป็นภรรยาของ นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ จึงทำให้อดนึกถึงคดีลอบสังหาร นายประมาณ ชันซื่อ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตประธานศาลฎีกา คดีดังเมื่อปี 2536 มิได้ คดีนั้นพนักงานสอบสวนภายใต้การนำของ พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ ผบก.ป. (ยศในขณะนั้น) ขออนุมัติออกหมายจับกุมผู้ต้องหาหลายราย หนึ่งในนั้นมี นายรังสรรค์ ตกเป็นจำเลยในฐานะผู้จ้างวานด้วย

คดีนี้ต่างฝ่ายต่างเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้วยกันทั้งคู่ นายประมาณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ขณะที่นายรังสรรค์ เป็นสถาปนิกชื่อดัง การต่อสู้คดีทั้งสองฝ่ายต่างนำพยานเข้าสืบฝ่ายละหลายสิบปาก โดยฝ่ายโจทก์มีนายตำรวจหลายนาย ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ท.โสภณ สะวิคามิน, พล.ต.ท.ธนู หอมหวน, พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย (ขณะนั้น) พ.ต.ต.ทวี สอดส่อง (ขณะนั้น) ใช้เวลาพิจารณาคดี และสืบพยานนานกว่า 15 ปี ในที่สุดศาลชั้นต้นสั่งจำคุกจำเลย 25 ปี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 แต่ต่อมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 ทำให้นายรังสรรค์พ้นจากวิบากกรรมในคดีนี้

โดยก่อนหน้านั้น วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 นายประมาณ ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ด้วยโรคปอดติดเชื้อด้วยวัย 70 ปี หลังเข้ารับการรักษาตัวที่ห้องไอซียู 8 ชั้น 9 โรงพยาบาลรามาธิบดี

...


ในการต่อสู้ทางคดีที่ผ่านมา นางยินดี ในฐานะภรรยา อยู่เคียงข้างและให้กำลังสามีมาโดยตลอด ขณะที่งานอีกด้านของนางยินดี คือผู้คร่ำหวอดทางกฎหมาย เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงกระบวนการยุติธรรม และมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย โดยภายหลังพ้นภาระหน้าที่ผู้พิพากษาแล้ว นางยินดีได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นในมุมมองของนักกฎหมายต่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นระยะๆ

จนกระทั่งบทความเรื่อง "คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะการยุบสภาและอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ หมดหน้าที่แล้วโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" ได้รับการพูดถึงบนเวที กปปส. โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤติการเมืองไทย!?!