"สี่แยกปทุมวัน" หรือ ที่หลายคนอาจเรียกว่า แยกมาบุญครอง เป็นจุดตัดระหว่าง ถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไท...
สี่แยกแห่งนี้ ถูกจับตามองทันที เมื่อ กปปส. ประกาศปิดกรุงเทพมหานคร และใช้เป็นเวทีหลักในการชุมนุม รวมทั้งการถ่ายทอดสดผ่านสถานีที่เป็นเครือข่ายของ กปปส. หากเปรียบเทียบก็เหมือนว่า ยกเวทีราชดำเนิน มาอยู่ที่แยกแห่งนี้
"แยกปทุมวัน" ประกอบด้วยสถานที่สำคัญหลายจุด สนามกีฬาแห่งชาติ รถไฟฟ้าสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ด้านหน้าหอศิลป ก็คือ ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางขวา สยามสแควร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ รถไฟฟ้าสถานีสยามสแควร์
จะเห็นว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นย่านธุรกิจ ไม่ต่างจากแยกราชประสงค์ ซึ่งห่างจากจุดนี้ทางขวามือไปประมาณ 1 กิโลเมตร ที่เคยถูกใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมใหญ่ ของกลุ่มนปช. มาก่อน ซึ่งครั้งนี้ กปปส. ก็กำหนดเป็นที่ชุมนุมเช่นกัน
โดยอีกเหตุผลหนึ่งที่แกนนำ เลือกมาปักหลักที่แยกปทุมวัน ก็เพื่อกดดัน ศอ.รส.ที่มีศูนย์บัญชาการอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ห่างเพียง 800 เมตร ซึ่งคาดว่าวันที่ 13 ม.ค. ก็จะถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมทุกทิศทาง
เรามาดูด้านถนนพญาไท ด้านนี้มุ่งหน้าตรงไป จะเป็นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ กปปส. ตั้งเวทีชุมนุมครับ
ดังนั้น หากมองแบบยุทธศาสตร์ แยกปทุมวัน จะอยู่ตรงกลางระหว่างเวที กปปส. อื่นๆ จึงง่ายต่อการบริหาร และพื้นที่ก็สามารถรองรับจำนวนผู้ชุมนุมได้จำนวนมาก
...
นอกจากนี้ ด้านความปลอดภัยจะเห็นว่า บริเวณนี้ไม่มีทางยกระดับ ที่เป็นจุดสุ่มเสี่ยงจะมีก็เพียงสกายวอล์ก แต่ก็สามารถควบคุมได้ง่าย ต่อมา ดูตึกสูงโดยรอบก็เป็นตึกที่ยากต่อการก่อเหตุ จากปัจจัยทั้งหมดจึงไม่แปลก ที่กปปส.เลือก แยกปทุมวัน โดยใช้หอศิลป์เป็นศูนย์บัญชาการ เพราะสถานที่แห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ที่มีม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดูแลอยู่นั่นเอง
ดังนั้น ในเรื่องของการบริหารจัดการ หรือ สิ่งอำนวยความสะดวกที่จะใช้เป็นสถานที่พักผ่อนรวมถึงห้องน้ำห้องท่า เรียกว่า ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด เมื่อเทียบกับอีก 6 จุด ที่เหลือ