1 ใน 20 กบฏ ที่สารานุกรมประวัติ-ศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1 อักษร ก. รวบรวมไว้ คือกบฏเสนาธิการ ที่ถูกเรียกอีกชื่อว่า กบฏนายพล

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนว่า การกบฏครั้งนี้ มีนัดหมายเวลา 20.00 น.วันที่ 1 ตุลาคม 2491 หลังจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ (ครั้งที่ 2) ได้ 6 เดือน เป้าหมายก่อการอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล

วันนั้น เป็นวันมงคลสมรส ระหว่างพลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับนางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ คนสำคัญในคณะรัฐประหาร พ.ศ.2490 จะมา เป็นแขกร่วมงาน นับแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม พลโทผิน ชุณหวัณ พลโทกาจ กาจสงคราม

นอกจากมีแผนการจับแกนนำรัฐบาล กลุ่มนายพลทหารที่ก่อการ...มีแผนจะจับกุม นายทหารที่คุมกำลังในพระนคร เช่น พลตรี หลวงสถิตยุทธการ เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 พันเอกบัญญัติ เทพหัสดิน และกำลังอีกส่วน จะบุกยึดกระทรวงกลาโหม

แต่ข่าวรั่ว ฝ่ายรัฐบาลชิงส่งกำลังจับกุม แกนนำผู้ก่อการตัดหน้า พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ ผู้ถูกวางตัวให้ยึดกระทรวงกลาโหม ถูกจับเป็นคนแรก ในคืนวันที่ 30 กันยายน

เช้าวันต่อมา ก็จับกุม พลตรีหลวงวรรณกรรมโกวิท พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต พันเอกหลวงศรีสิงหสงคราม อดีตเจ้ากรมพาหนะทหารบก

แต่พลตรีเนตร เขมะโยธิน พันโทพโยม จุลานนท์ หนีรอดไปได้ ต่อมา พลตรีเนตร ได้เข้ามอบตัว

วันที่ 4 ตุลาคม 2491 กระทรวงกลาโหม ออกคำสั่งปลดประจำการ นายทหาร 37 นาย นอกจากกลุ่มนายทหารในคณะกบฏเสนาธิการแล้ว ยังถือโอกาสปลดทหารที่ไม่ไว้วางใจ เช่น พันโท รวย สนิทวงศ์ อดีตนายทหารติดตามนายควง อภัยวงศ์ พลโทเรือง เรืองวีรยุทธ จเรทหารบก พลตรีวิวัฒน์ วีรวัฒน์โยธิน รองเสนาธิการทหารบก พลตรีสุรจิตร จารุเศรณี รองจเรทหารบก

กบฏเหล่านี้ถูกฟ้องศาล 20 ราย ศาลตัดสินลงโทษจำคุก 3 ปี 8 ราย คือ พลตรีเนตร เขมะโยธิน พันเอกกิตติ ทัตตานนท์ พันเอกหลวงวิจิตรโยธี พันเอกหลวงศรีสิงหสงคราม พันตรีชิน หงษ์รัตน์ ร้อยเอกหิรัญ สมัครเสวี ร้อยเอกสุรพันธ์ อิงคุ–ลานนท์ ร้อยโทบุญช่วย ศรีทองเกิด

ส่วนนายทหารที่เหลือ ศาลสั่งปล่อยตัวไป

สาเหตุของกบฏเสนาธิการครั้งนี้ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บอกว่า มาจากความไม่พอใจของกลุ่มทหารที่รักประชาธิปไตย และทหารที่ ไม่พอใจการโยกย้ายแต่งตั้งหลังการรัฐประหาร ปี 2490

พลโทผิน ชุณหวัณ ผู้นำรัฐประหาร เลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก พลโทกาจ กาจสงคราม เลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกและแม่ทัพภาคที่ 1 พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เลื่อนเป็นผู้บัญชาการมณฑล
ทหารบกที่ 1 ฯลฯ

แกนนำคณะเสนาธิการที่เริ่มคิดยึดอำนาจโค่นคณะรัฐประหาร มี พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต รองเสนาธิการกลาโหม พลตรีเนตร เขมะโยธิน รองเสนาธิการทหารบก พลตรีหลวงวรรณกรรม– โกวิท ฯลฯ และพันโทพโยม จุลานนท์

นายทหารกลุ่มนี้ เห็นตรงกันว่า ทหารควรเป็นทหารอาชีพ ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่อาศัยช่องทางการเมืองแสวงหาประโยชน์

และข้อสำคัญนายทหารกลุ่มนี้เห็นว่า การรัฐประหารปี 2490 ขัดต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

นายทหารที่โดดเด่น น่าสนใจ พลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน ทั้งสองจบจากโรงเรียนเสนาธิการทหารประเทศอังกฤษ พลตรีเนตร เป็นอดีตเสรีไทยในประเทศ ถือว่าเป็นดาวรุ่งในวงการทหาร ได้เป็นพลตรีเมื่อปี 2489 อายุเพียง 37 ปี

นับเป็นนายพลที่อายุน้อยที่สุดในเวลานั้น

มีความสามารถถึงระดับ ได้รับมอบ หมายให้เป็นผู้วางแผนปฏิรูปกองทัพบก ในระยะเวลาก่อนการรัฐประหาร 2490

ส่วนพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อปี 2486 ขณะอายุเพียง 42 ปี และได้เป็นรองเสนา– ธิการทหารบก เมื่อปี 2489

ในกลุ่มกบฏเสนาธิการ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนว่า มีทหารบางคนที่เคยอยู่ในกลุ่มคณะรัฐประหาร เช่น พันเอกหลวงวิจิตรโยธี หัวหน้าแผนกกลาง กองทัพบก พันโทพโยม จุลานนท์ โฆษกกองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย เมื่อครั้งรัฐประหาร

พันโทพโยมศรัทธาระบอบประชา-ธิปไตย เคยลาออกจากราชการไปสมัคร ส.ส.ที่เพชรบุรี เคยเป็นเลขานุการพลโท หลวงชาตินักรบ รัฐมนตรีกลาโหม รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์

แม้หลังการรัฐประหาร พลโทหลวงชาติ–นักรบยังเป็นรัฐมนตรีกลาโหมต่อไป แต่พันโท พโยมไม่ยอมรับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีกลาโหมต่อไปอีก

ตามแผนของกลุ่มทหารเสนาธิการ หลังการยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.ได้ แล้ว มีการทาบทามนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี.

...

บาราย